ยุคออนไลน์ครองเมือง ศูนย์การค้าต้องเป็น “Destination For All”
ยุคออนไลน์ครองเมือง ที่คนเจนเอ็ม เจนแซดใช้ชีวิตผูกติดกับโทรศัพท์มือถือ แถมคนเจนวาย ไปจนถึงเบบี้บูมที่แม้ไม่ได้โตมากับโทรศัพท์มือถือก็ยังต้องยอมพ่ายแพ้ให้โทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที การเปลี่ยนแปลงโลกครั้งนี้ส่งผลกระทบไปยังธุรกิจทุกภาคส่วนที่ต้องปรับตัวตาม โดยยึดผู้บริโภคหรือ Customer Centric เป็นสำคัญ
เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ที่แต่เดิมจะเน้นการเป็นวันสต็อปช็อปปิ้ง เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนและใช้เวลาร่วมกันได้สำหรับทุกคนในครอบครัว แต่ ณ วันนี้ เมื่ออีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่อย่างศูนย์การค้าต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน เพราะการใช้กลยุทธ์แบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอสำหรับลูกค้ายุคนี้และยุคหน้าอีกต่อไป
เห็นได้จากแนวคิด ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงของคนยุคเจน M และ เจน Z มีผลกระทบต่อธุรกิจรีเทลเป็นอย่างมาก ศูนย์การค้าเซ็นทรัลจึงปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์เจเนอเรชั่น มาร์เก็ตติ้ง (Generation Marketing) เจาะกลุ่มคนที่หลากหลายทุกเพศทุกวัย สอดคล้องกับความหลากหลายของสินค้าและบริการ
ภาพของศูนย์การค้าในสายตาของดร.ณัฐกิตติ์ จะต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ไม่ใช่มาเพื่อซื้อขายหรือช้อปปิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ศูนย์การค้าต้องเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง (Destination For All) ตอบสนองได้ทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย การมาช้อปปิ้งเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่าน้ัน รวมท้ังรีเทลต้องมีความเป็นเรียลไทม์ เป็นสิ่งที่ทุกรีเทลต้องปฎิบัติในอนาคตนั่นคือ เรียลไทม์ ออฟเฟอร์ การนำเสนอได้ทันทีชนิดเมื่อลูกค้าเดินเข้ามาจะสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้าได้ทันที และที่สำคัญต้องเป็นการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงหรืออาจต้องถึงขนาดวัน บาย วัน มาร์เก็ตติ้งเลยทีเดียว เพื่อความพึงพอใจสูงสูดให้ลูกค้า
ดังนั้น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลจึงต้องให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลลูกค้า (Big Data) ที่ปัจจุบันมีกว่า 12 ล้านคนผ่านบัตรวันการ์ดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มช่องทางการเข้ามาของร้านค้าให้มากขึ้น โดยในอนาคตจะนำฐานลูกค้าระดับ A และ B มาสมัครบัตรวันการ์ดเพื่อเก็บข้อมูลและนำเสนอสิทธิพิเศษ อาทิ การบริการรับจองที่จอดรถ เป็นต้น ทั้งนี้ บัตรวันการ์ดจะมีการแบ่งแยกเซกเมนท์มากขึ้น คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงสิงหานี้เป็นต้นไป
ดร.ณัฐกิตติ์ ยังมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังธุรกิจรีเทลต้องพึ่งพากับภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นด้วยการดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายภายในศูนย์ฯ ให้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าคนไทยยังต้องใช้การจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นตัวหลัก ซึ่งปกติมีการจัดอีเว้นท์ 200 -300 ครั้งต่อเดือนทั้ง 30 ศูนย์การค้า ในไตรมาสที่ 3 ต้องเพิ่มขึ้น 20% เพราะเป็นช่วงโลว์ ซีซัน โดยในครึ่งปีหลังซีพีเอ็นเตรียมงบไว้ 400 ล้านบาทในการจัดกิจกรรมทางการตลาด
ทั้งนี้ บิ๊กบอส ซีพีเอ็น ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ว่า น่าจะเติบโตได้ดีจากสัญญาณการฟื้นตัวของการจับจ่ายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีความแข็งแกร่งจากแคมเปญของ ททท. ที่มุ่งหวังโปรโมทประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้งของเอเชีย ประเทศไทยได้เปรียบเพราะเป็นดินแดนแห่งศิลปะวัฒนธรรม อาหารและผลไม้ ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีสตรีทฟู้ดดีที่สุดในโลก คุ้มค่าแก่การช้อปปิ้งของกลุ่มนักท่องเที่ยวเพราะมีทั้งแบรนด์ไทย และแบรนด์อินเตอร์จากทั่วทุกมุมโลก คาดว่าเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงแห่งการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีน จะช่วยให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะทะยานสูงขึ้น และยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียที่น่าจับตามอง ส่งผลให้ธุรกิจรีเทลและภาคท่องเที่ยวของประเทศส่อแววสดใส
กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีก จึงได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ ร้านคู่ค้า ทั้งห้าง ทั้งศูนย์ฯ 66สาขาทั่วประเทศ กว่า 10,000 แบรนด์ ตอกย้ำการซิงเนอยี่ ทุบราคาสูงสุดลง 80% ลดราคาทั้งสินค้าแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องเขียน และสำนักงาน ฯลฯ ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางแห่งการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ และเป็น เดสติเนชั่น ฟอร์ ออล (Destination for All)
นั่นเป็นเพราะเวทีการแข่งขันของศูนย์การค้าไม่ได้แข่งแค่ธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านด้วยกันแล้วเท่าน้ัน แต่มีคู่แข่งใหม่มาแรงอย่างออนไลน์ที่จะเข้ามาแย่งชิงผู้บริโภคได้ทุกที่ทุกเวลานั่นเอง