ยุคบุกเบิกของศูนย์การค้า
นอกเหนือจากการเกิดของห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ศูนย์การค้าก็ได้มีการพัฒนาตามกันมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ศูนย์การค้าที่สามารถกล่าวขานกันว่าเป็นต้นแบบของศูนย์การค้าทุกวันนี้ ก็คงหนีไม่พ้น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว (ปี 2526) ซึ่งเป็นการนำร้านค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกย่อยๆ มารวมกันเป็นศูนย์กลาง ถัดมาก็มี เดอะ มอลล์ ซึ่งพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งเป็น Shopping Entertainment Complex โดยนอกเหนือจากห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านค้าย่อยแล้ว ยังมีโรงภาพยนต์, โบลลิ่ง, สเก็ต และสวนน้ำ มาประกอบให้เกิดแรงดึงดูดมากขึ้น
โดยทั่วไปศูนย์การค้าหนึ่งๆ จะต้องประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า 1 หรือ 2 แห่ง เป็น anchor หรือแม่เหล็กในการดึงความสนใจของผู้บริโภคอย่าง ซีคอนสแควร์, ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต แต่ยังมีศูนย์การค้าอีกประเภทหนึ่ง ที่อาจจะไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เป็น anchor แต่มีห้างขนาดเล็กที่มีความเป็นพิเศษ และแตกต่างจากศูนย์อื่นๆ เช่น ร้านค้าที่เป็น Brand International มารวมกันอย่าง สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัพเวอรี่ รวมทั้งมาบุญครอง ซึ่งแม้จะมีภาพลักษณ์สินค้ายี่ห้อดังจากต่างประเทศไม่มาก แต่ก็เป็นศูนย์การค้าที่รวบรวมร้านค้าขนาดย่อมมารวมกันอย่างมากมาย ก็สามารถดึงลูกค้าผู้บริโภคได้ไม้พอๆกับศูนย์การค้าที่มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ
นอกจากนี้ยังมี ศูนย์การค้าอีกประเภทหนึ่งที่อาจจะนับเป็นศูนย์การค้าด้วย ก็คือ สยามสแควร์ ซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์การค้า อีกรูปแบบหนึ่งที่เปิดโล่งไม่อยู่ในอาคารเหมือนกับศูนย์การค้าทั่วไป
ศูนย์การค้าหรือช้อปปิ้งมอลล์ ศูนย์การค้าในทฤษฎีของผู้เขียน ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจค้าปลีก แต่จัดอยู่ในหมวดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเรียกว่า Retail Estate ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกกับการบริหารศูนย์การค้าก็แตกต่างกัน ทั้งนี้รายได้จากศูนย์การค้าก็เป็นค่าเช่า ค่าบริการ และการขายพื้นที่ภายในศูนย์การค้า ส่วนร้านค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต รายได้หลักมาจากการขายสินค้าที่สั่งซื้อเข้ามา และขายออกไป ต้องไม่เหมาเอาว่า ห้างสรรพสินค้ากับศูนย์การค้าเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็แยกกันบริหารอยู่แล้ว อย่างที่ศูนย์การค้าพลาซ่า ลาดพร้าว ก็บริหารโดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เป็นเพียง anchor หนึ่งในศูนย์การค้า บริหารโดยห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล จำกัด ศูนย์การค้าหรือ Shopping Mall อาจเรียกกันในหลากหลายชื่อ เช่น Shopping Plaza, Shopping Center, Community Mall, Town Center, Neighborhood Mall
วิวัฒนาการการค้าแบบใหม่
จากรายละเอียดการค้าแบบดั้งเดิมข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าการค้าแบบดั้งเดิมมีมาตั้งแต่ครั้งที่ชาวจีนอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยและสำเพ็งซึ่งเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ของชาวจีน มีส่วนแบ่งการตลาดของมูลค่าตลาดค้าส่งรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคถึงกว่า 80% อย่างไรก็ดี หลังจากยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปี 2500 การค้าแบบใหม่ก็เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนแบ่งตลาดที่สำเพ็งเคยมาจาก 80% ก็ลดลงเหลือ 45% และหลังจากปี 2537 ยุคค้าปลีกสมัยใหม่เติบโต ส่วนแบ่งการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำเพ็งมีลดเหลือเพียง 5% ของมูลค่าตลาดรวม และเหลือยี่ปั้วค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ถึง 10 ราย
ลักษณะเฉพาะการดำเนินงานร้านค้าปลีก
1. ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก การจัดการไม่ซับซ้อนมากนัก ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เจ้าของกิจการดำเนินทุกอย่างด้วยตนเองและรับผิดชอบเรื่องการให้สินเชื่อการค้าแก่ลูกค้า ติดตามทวงหนี้จากลูกค้าพนักงานในร้านส่วนใหญ่จะทำงานเสมียนและงานขาย ส่วนใหญ่พนักงานไม่กี่คนจะทำทุกอย่างในร้าน
ส่วนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์สโตร์ จะมีการแบ่งสัดส่วนงานเป็นหน่วยงานชัดเจน ฝ่ายจัดซื้อจะทำหน้าที่จัดหาและสั่งซื้อสินค้า ขณะที่ฝ่ายขายจะทำหน้าที่ขายเพียงอย่างเดียว
2. ลักษณะเฉพาะของร้านค้าปลีก ประเภทของสินค้าหรือบริการจะเป็นปัจจัยที่แสดงลักษณะของร้านค้าปลีก เช่น ร้านขายยา ร้ายขายกระเป๋า ร้านขายรองเท้า ซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ร้านค้าปลีกจะแตกต่างกันด้วยการให้บริการ สถานที่ตั้ง กลุ่มลูกค้าที่ให้บริการ ดังนั้นร้านค้าปลีกจะต้องทราบถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายและพัฒนาร้านค้าไปในแนวทางที่กำหนดไว้ ถ้าร้านค้าปลีกไม่เข้าใจแนวทางของธุรกิจที่จะดำเนินการชัดเจน อาจจะทำให้การพัฒนาร้านค้าไปตามแนวทางที่ผิดเพี้ยน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถสร้างลักษณะเฉพาะของร้านค้าของตนเองได้
3. ความสัมพันธ์กับลูกค้า เนื่องจากการค้าปลีกเป็นการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายโดยตรง การบริการจึงถือเป็นหัวใจในการจัดการของร้านค้าปลีก พนักงานขายในร้านค้าปลีกจะต้องเอาใจลูกค้า ทราบความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันที การทักทายลูกค้าด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมทั้งการให้บริการให้ลูกค้าด้วยความกระตือรือร้นจะเป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า แล้วช่วยให้การขายสินค้าและส่วนครองตลาดของร้านค้านั้นเพิ่มขึ้น
ธุรกิจการค้าปลีกส่วนใหญ่จะเป็นกิจการที่ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแล้วนำมาจำหน่ายต่อหรือที่เรียกกันว่า กิจกรรมการซื้อมาขายไป ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นขั้นสุดท้ายของการตลาด ในระบบเศรษฐกิจมีกิจการธุรกิจประเภทร้านค้าปลีกอยู่มากกว่ากิจการอื่นๆ ซึ่งอาจนับได้ว่าประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนกิจการทั้งหมดทุกชนิดเป็นกิจการร้านค้าปลีก กิจการค้าปลีกส่วนใหญ่จัดอยู่ในจำพวกธุรกิจขนาดย่อม แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ปรากฏว่ามีร้านค้าปลีกที่มีขนาดคูหาเดียวกว่า 1.5 ล้านแห่ง และอีกกว่าแสนเป็นร้านค้าปลีกขนาด 2 คูหาขึ้นไป และยังประมาณได้ว่า 7 ใน 10 ของกิจการร้านค้าปลีกมีพนักงานน้อยกว่า 5 คน หรือไม่มีลูกจ้างเลยแม้แต่คนเดียว และประมาณร้อยละ 90 ของร้านค้าปลีกมีพนักงานน้อยกว่า 20 คน
ธุรกิจค้าปลีกมีความสำคัญต่อเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าจะต้องซื้อวัตถุดิบ หรือผลิตผลจากเกษตรกรรม และเมื่อสินค้าผลิตออกจากโรงงานแล้วก็จะขนส่งไปยังร้านค้าส่ง ร้านค้าส่งก็จะจำหน่ายต่อไปยังร้านค้าปลีก แต่ถ้าร้านค้าปลีกไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้อาจจะเนื่องจากไม่มีความรู้ในการจัดการ หรือไม่มีความรู้ในการขาย สินค้าเมื่อขายไม่ได้ก็คงค้างอยู่ในสต๊อกจนเป็นสินค้าเก่าเก็บจำหน่ายไม่ออกเมื่อสินค้าขายไม่ได้โรงงานก็ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ และเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการผลิตต่อไปไม่ได้ก็ต้องปิดตัวเอง คนงานก็จะไม่มีงานทำ ต้องให้ออกจากงานกลายเป็นคนว่างงานขาดรายได้ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ไม่สามารถดำรงชีพได้เพราะไม่รู้จะส่งวัตถุดิบพืชผลไปขายที่โรงงานไหน ประชากรไม่มีรายได้ก็ย่อมหมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำซึ่งย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนาทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง
ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ค้าปลีกให้ความช่วยเหลือโดยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่จะขายให้ดี ให้บริการลูกค้าจนเกิดความพอใจ ลูกค้าก็จะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น สินค้าก็ไม่เหลือค้างอยู่ใน สต๊อกนาน โรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ ประชากรก็มีงานทำมีรายได้ เศรษฐกิจของประเทศก็เจริญยิ่งขึ้นทุกที จึงพอสรุปได้ว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นงานที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหาภาคและจุลภาค มีความสำคัญต่อธุรกิจเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม