มัดรวมมาให้แล้ว!เปิดขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ 2566 ที่ไหน -ใช้เอกสารอะไรบ้าง?

รถยนต์ทุกคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนน จะมีอายุทะเบียนที่อนุญาตเพียง 1 ปี เท่านั้น ซึ่งเมื่อครบรอบจะต้องไปยื่นชำระค่าภาษีเป็นประจำปีทุก ๆ ปี หรือที่เรียกว่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ซึ่งถือเป็นระเบียบของกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายรถยนต์ ระบุไว้ว่า “รถทุกคันที่จดทะเบียนแล้ว ต้องเสียภาษีรถประจำปี เว้นแต่รถที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีประจำปี” ทีนี้เราจะมาดูกันว่า เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องไปยื่นเสียภาษีรถยนต์ประจำปีนั้น จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนยังไง อีกทั้งมีกี่วิธีที่จะสามารถทำได้ ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในการต่อภาษีรถยนต์ 2566 มาไว้ให้คุณแล้ว !
สำหรับรถยนต์ที่จะไปต่อภาษีประจำปีนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือ พ.ร.บ.รถยนต์ โดยถ้าเป็นรถใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี สามารถนำเอกสาร สำเนาทะเบียนรถ หรือเล่มจริง และสำเนาบัตรประชาชน ไปซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ ได้ที่ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ทั่วประเทศ, ตัวแทนประกันภัย, เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา แต่หากรถมีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จะต้องทำการตรวจสภาพรถก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทุกแห่ง ที่ได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางบก รวมถึงที่กรมขนส่งทางบกทุกแห่ง ส่วนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ ขึ้นอยู่กับประเภทรถ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน 600 บาท/ปี
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,100 บาท/ปี
รถยนต์โดยสารเกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 บาท/ปี
รถยนต์โดยสารเกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 บาท/ปี
รถยนต์โดยสารเกิน 40 ที่นั่ง 3,740 บาท/ปี
รถยนต์ไฟฟ้า 600 บาท/ปี
หมายเหตุ : ราคาทั้งหมดยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ค่าตรวจสภาพรถ
รถยนต์ที่ต้องการต่อทะเบียน 2566 แล้วมีอายุในการจดทะเบียนเกิน 7 ปี ต้องมีการตรวจสภาพรถก่อนทุกครั้ง โดยสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ ตรอ. ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเจ้าของสามารถนำรถไปตรวจสภาพล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี โดยมีอัตราค่าตรวจสภาพ ดังนี้
รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 200 บาท
รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท
นอกจากนี้จะมีรถบางประเภทที่ไม่สามารถตรวจสภาพได้ที่ ตรอ. ของเอกชน ต้องนำไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น ได้แก่
รถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้
รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ (เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนลักษณะรถ เปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น)
รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ (เช่น ไม่ปรากฏตัวเลข ตัวเลขชำรุด หรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูด ลบ หรือลบเลือน จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นต้น)
รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้
รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า (เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น) ซึ่งรถดังกล่าวต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปี
รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน
รถที่ได้สิ้นอายุภาษีประจำปี (ขาดต่อทะเบียน) เกิน 1 ปี
ต่อภาษีรถยนต์ 2566 ใช้เอกสารอะไรบ้าง
สมุดคู่มือจดทะเบียนรถตัวจริงหรือสำเนา
เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ
ใบรับรองการตรวจสภาพรถ (สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนมาแล้วตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป )
เงินสำหรับอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522
หลังจากที่นำรถไปตรวจสภาพ (รถที่มีอายุเกิน 7 ปี) และมี พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นเสียภาษีประจำปีได้ที่กรมการขนส่งทางบก หรือจะเป็นช่องทางอื่น ๆ ที่เปิดให้เข้าไปยื่นเสียภาษีได้ ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลากหลายช่องทาง
ต่อภาษีรถยนต์ 2566 ต้องเตรียมเงินไปเท่าไหร่ ?
สำหรับการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี ทุก ๆ ปีเจ้าของรถจะต้องดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ หรือต่อทะเบียนรถ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2562 ซึ่งในหมวด 3 ข้อที่ 17 ระบุไว้ว่า รถทุกคันที่จดทะเบียนแล้ว ต้องเสียภาษีรถประจำปี เว้นแต่รถที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีประจำปี
ซึ่งอัตราค่าเสียภาษีรถยนต์นั้นจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยได้กำหนดอัตราค่าภาษี วิธีจัดเก็บ และวิธีคำนวณภาษีแตกต่างกันไป โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ : ค่าต่อภาษีรถยนต์ 2566
ต่อภาษีรถยนต์ช้า ค่าปรับเท่าไหร่
การต่อทะเบียนรถ หรือต่อภาษีรถยนต์ ที่หลายคนอาจเรียก ถ้าเราไม่เสียภาษีประจำปี แน่นอนว่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของเราจะผิดกฎหมายทันที ซึ่งหากนำรถคันดังกล่าวมาวิ่งใช้งานบนท้องถนนแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบ จะต้องเสียค่าปรับ
ซึ่งในการชำระภาษีรถประจำปีล่าช้าจะมีค่าปรับ แต่หากขาดการติดต่อกันเกิน 3 ปี จะส่งผลให้ทะเบียนรถถูกระงับทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียน เช่น การโอนเปลี่ยนชื่อ แจ้งเปลี่ยนสี แก้ไขรายการคู่มือรถได้ เป็นต้น สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ : ทะเบียนรถขาดได้ไม่เกินกี่วัน ลืมเสียภาษี ไม่ต่อทะเบียนรถ เสียค่าปรับเท่าไร
จะเห็นได้ว่า “การยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปี” ใช้เวลาไม่นาน และมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เตรียมเอกสารให้ครบถ้วนเท่านั้น รวมถึงในปัจจุบันนี้มีช่องทางในการยื่นเสียภาษีมากมายหลายรูปแบบ ทั้งยื่นภาษีออนไลน์ หรือยื่นผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สะดวกสบายมากขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ การต่อภาษีรถยนต์ หรือต่อทะเบียนรถถือเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบในการชำระภาษีเป็นประจำทุก ๆ ปี ซึ่งปัจจุบันการต่อภาษีรถยนต์นั้นเป็นเรื่องง่ายกว่าในอดีต สามารถดำเนินการได้หลากหลายวิธีและสะดวกมากขึ้น แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามีช่องทางใดหรือชำระที่ไหนได้บ้าง
1. สำนักงานขนส่งทั่วไทย
การต่อภาษีรถยนต์สามารถเข้าไปชำระเสียภาษีได้ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ไม่ว่ารถของเราจะจดป้ายทะเบียนที่จังหวัดไหนก็สามารถต่อภาษีได้ทุกที่ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีให้บริการถึง 5 พื้นที่ ได้แก่
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1
– ตั้งอยู่เลขที่ 1005 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
– โทร. 0-2415-7337 รับผิดชอบในเขตพื้นที่ เขตบางขุนเทียน บางคอแหลม จอมทอง ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ คลองสาน สาทร ทุ่งครุ บางบอน และยานนาวา
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2
– ตั้งอยู่เลขที่ 51 ถนนสวนผัก แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
– โทร. 0-2882-1620-35 รับผิดชอบในเขตพื้นที่ เขตตลิ่งชัน บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ภาษีเจริญ หนองแขม พระนคร บางแค และทวีวัฒนา
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3
– ตั้งอยู่ตรงข้ามซอยสุขุมวิท 62/1 เลขที่ 2479 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260
– โทร. 0-2332-9688-91 รับผิดชอบในเขตพื้นที่เขตพระโขนง ประเวศ สวนหลวง คลองเตย บางนา วัฒนา และบางจาก
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4
– ตั้งอยู่เลขที่ 34 หมู่ 6 ถนนร่วมพัฒนา แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ 10530 โทร. 0-2543-5500-2 รับผิดชอบในเขตพื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง บึงกุ่ม สะพานสูง คันนายาว และคลองสามวา
สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 (กรมการขนส่งทางบก)
– ตั้งอยู่เลขที่ 1032 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
– โทร. 0-2272-3100 รับผิดชอบในเขตพื้นที่ป้อมปราบศัตรูพ่าย ปทุมวัน ดุสิต บางซื่อ บางเขน ดินแดง จตุจักร ลาดพร้าว สายไหม สัมพันธวงศ์ บางรัก พญาไท ห้วยขวาง บางกะปิ ดอนเมือง ราชเทวี หลักสี่ และวังทองหลวง
นอกจากนี้ที่สำนักงานขนส่งยังมีบริการชำระภาษีรถให้เลือกใช้บริการเพิ่มอีก 2 ช่องทาง ได้แก่
เลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax) เป็นบริการการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องลงจากรถให้เสียเวลา ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30-18.00 น. โดยจะต้องเตรียมสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสำเนา, พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ และใบรับรองการตรวจสภาพรถ (สำหรับรถที่มีอายุเกิน 7 ปี)
ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ผู้จ่ายภาษีรถสามารถเลือกรับเครื่องหมายการเสียภาษีทางไปรษณีย์ หรือพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษีได้ที่ ตู้คีออส (Kiosk) ซึ่งสามารถดำเนินการเองทุกขั้นตอน ไม่ต้องติดต่อเจ้าหน้ากรมการขนส่งทางบก
2. ที่ทำการไปรษณีย์
ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งสามารถเสียภาษีรถยนต์ได้ โดยจะต้องเตรียมเอกสารมาให้ครบถ้วน ทั้ง สมุดคู่มือจดทะเบียนรถเล่มจริง (รถที่ยังผ่อนไม่หมดไม่สามารถมาต่อที่ไปรษณีย์ได้), พ.ร.บ.รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ รวมถึงใบรับรองการตรวจสภาพรถสำหรับรถเก่าที่จดทะเบียนมาแล้วตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป แต่จะเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ 40 บาท สำหรับป้ายเสียภาษีใหม่จะถูกส่งไปยังที่อยู่ที่ผู้ต่อภาษีระบุไว้ภายหลัง
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สำหรับรถที่จะมายื่นต่อภาษีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องเป็นรถที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี หรือมีภาษีค้างชำระเกิน 1 ปี ที่นายทะเบียนได้ประกาศยกเว้นการตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปี รวมถึงรถที่ยื่นขอเสียภาษีประจำปีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนวันครบกำหนดเสียภาษี เว้นแต่รถที่มีภาษีค้างชำระให้ยื่นได้ทันที
4. ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)”
สำหรับการยื่นต่อภาษีที่ห้างสรรพสินค้าในโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)” จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งประกอบไปด้วย
Big-C สาขาลาดพร้าว, รามอินทรา, รัชดาภิเษก, บางปะกอก, เพชรเกษม, สุขาภิบาล3, อ่อนนุช, แจ้งวัฒนะ, สำโรง, บางบอน, สุวินทวงศ์, สมุทรปราการ, บางใหญ่และบางนา เวลา 09.00 – 17.00 น.
ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค, เซ็นทรัล ศาลายา, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัล เวสต์เกต และเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เปิดให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น.
ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขารามอินทรา เวลา 10.00 – 17.00 น.
ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค เวลา 10.00 – 17.00 น.
ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 11.00 – 18.00 น.
ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เปิดวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 15.00 น.
5. เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ
อีกหนึ่งช่องทางที่สะดวกสำหรับการยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปี โดยรถที่จะสามารถยื่นจ่ายช่องทางนี้ได้จะต้องเป็นรถใหม่เท่านั้น โดยเป็นรถยนต์ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 5 ปี ส่วนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ทางไปรษณีย์จะส่งตามชื่อที่อยู่ ที่ถูกระบุไว้ภายในเวลา 10 วัน นับจากวันที่ชำระเงิน โดยจะมีค่าธรรมเนียมการให้บริการ 20 บาท ต่อ 1 รายการ พร้อมค่าจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์อีก 40 บาท ต่อรถ 1 คัน
6. ต่อภาษีรถออนไลน์
การยื่นต่อภาษีรถออนไลน์จะทำได้เฉพาะรถมีอายุไม่เกิน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก กรณีรถยนต์อายุเกิน 7 ปี ต้องได้รับการตรวจสภาพรถที่ ตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน ให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยการต่อภาษีรถออนไลน์ จะมี 2 วิธี ได้แก่ เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก eservice.dlt.go.th หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax (สำหรับช่องทางแอปพลิเคชันรถเก่าอายุเกิน 7 ปี ไม่สามารถทำได้) โดยการยื่นต่อภาษีรถออนไลน์สามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าก่อนสิ้นอายุภาษีได้ไม่เกิน 90 วัน
7. ผ่านแอปพลิเคชัน mPay และ TrueMoney Wallet
สำหรับผู้ที่ยื่นต่อภาษีผ่าน mPay และ TrueMoney Wallet ขั้นแรกให้เลือกเมนู Pay Bill เลือกจ่ายบิลกรมขนส่งทางบก กรอกรายละเอียดข้อมูลของตัวรถยนต์พร้อมข้อมูล พ.ร.บ. รวมทั้งข้อมูลผู้เสียภาษี ให้ครบถ้วน และตรวจสอบยอดชำระค่าภาษีรถยนต์ กรอกชื่อ ที่อยู่ สำหรับส่งเอกสาร แล้วทำการชำระเงิน ซึ่งเอกสารและงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีหรือป้ายวงกลม จะถูกส่งภายใน 5 – 7 วัน โดยรถที่จะสามารถยื่นต่อภาษีผ่านแอปพลิเคชัน mPay และ TrueMoney Wallet จะต้องเป็นรถที่ไม่มีภาษีค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ไม่ถูกอายัดทะเบียน ไม่ใช่รถที่ใช้ก๊าซ และไม่ได้ดัดแปลงหรือแต่งรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้
ต่อภาษีรถยนต์ ราคาเท่าไหร่ ?
สำหรับรถยนต์แต่ละประเภทนั้น มีกำหนดอัตราค่าภาษี และวิธีจัดเก็บ คำนวณภาษีแตกต่างกันไป ดังนี้
1. จัดเก็บภาษีตามจำนวน ซี.ซี.
ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยมีอัตรา ดังนี้
600 ซี.ซี. แรก คิด ซี.ซี. ละ 0.50 บาท
601-1,800 ซี.ซี. คิดเพิ่ม ซี.ซี. ละ 1.50 บาท
เกิน 1,800 ซี.ซี. คิดเพิ่ม ซี.ซี. ละ 4.00 บาท
ทั้งนี้ หากเป็นรถของนิติบุคคลที่มิได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อ ให้จัดเก็บในอัตราสองเท่า นอกจากนี้ หากเป็นรถที่จดทะเบียนมาแล้ว 5 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อ ๆ ไป ดังนี้
ปีที่ 6 ร้อยละ 10
ปีที่ 7 ร้อยละ 20
ปีที่ 8 ร้อยละ 30
ปีที่ 9 ร้อยละ 40
ปีที่ 10 และปีต่อ ๆ ไป ร้อยละ 50
2. จัดเก็บเป็นรายคัน
2.1. รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
2.2. รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
2.3. รถพ่วงของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
2.4. รถพ่วงนอกจากข้อ 2.3 คันละ 100 บาท
2.5. รถบดถนน คันละ 200 บาท
2.6. รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท
หมายเหตุ ปัจจุบันรถจักรยานยนต์สาธารณะกรมการขนส่งทางบกได้ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีลง 90% เพื่อเป็นช่วยเหลือค่าครองชีพ ทำให้เหลือจ่ายภาษีเพียงคันละ 10 บาท ไปจนจึงวันที่ 30 กันยายน 2566
3. จัดเก็บตามน้ำหนัก
4. รถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า
4.1. สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ให้เก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
4.2. รถอื่นนอกจาก 4.1 ให้เก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่งของรถตามข้อ 2 และ 3 โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ต่อภาษีรถไฟฟ้าต้องจ่ายปีละเท่าไร
ทั้งหมดนี้คือช่องทางการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี 2566 ที่ต่อได้ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งต่อภาษีในวันเสาร์-อาทิตย์ ได้อีกด้วย แต่ก่อนที่จะไปยื่นเสียภาษีรถยนต์ประจำปี อย่าลืมเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนเสียก่อน ไม่งั้นเสียเที่ยวเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ควรหลีกเลี่ยงการเสียภาษีรถยนต์ เพราะถ้านำรถยนต์ที่ป้ายทะเบียนขาดไปขับบนท้องถนน ถือว่ามีความผิดใช้รถที่ยังไม่จดทะเบียนเสียภาษี มีค่าปรับ 1,000 บาท ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก