Columnist

มองกระแสจาก ”จตุคาม” ถึง “ไอ้ไข่” วังวนการตลาดขายอภินิหาร!

              อาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนไทยที่ “ไอ้ไข่” จะกลายเป็นสัญลักษณ์ด้านโชคลาภ ใช้เวลาเปิดตัวเพียงไม่นานก็มีคนหลั่งไหลศรัทธายอมรับกันอย่างรวดเร็ว จนวงการพุทธพาณิชย์กลับมาคึกคักอีกครั้ง

     

 

         ไอ้ไข่กลายเป็นศูนย์รวมใจให้คนจำนวนไม่น้อยแห่ไปขอเลขเพื่อหวังจะถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ก้าวสู่ตำแหน่งเศรษฐีคนใหม่ชั่วข้ามคืน

              ความร้อนแรงของไอ้ไข่ ทำให้ต้นตะเคียนโบราณทั่วประเทศเงียบเหงา ศาลเจ้าแม่ชื่อดังหลายสิบแห่งที่เคยคึกคักไร้คนไปบนบาน  ต้นไม้ประหลาด หลุม รู สัตว์พิการ ทะเบียนรถนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่บึงพญานาคที่ว่าแน่ นาทีนี้ยังต้องยอมหลบ

              ตำนานเป็นมาอย่างไรนั้นผมคงไม่ต้องสาธยายให้เสียเวลา ราคาเหรียญไอ้ไข่ต่างหากที่น่าสนใจ จากที่บนแผงบูชาพระเครื่องไม่เคยมีใครเอามาวางให้เสียพื้นที่เบียดกับหลวงพ่อเกจิชื่อดัง แต่หลังจากกระแสศรัทธาจุดติดราคาบนแผงจาก 99 บาท ก็เริ่มขยับสู่ 299 บาท บางรุ่นก็ 799 บาท

              ซึ่งถือว่าราคานี้ยังเพิ่งคลอด เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนไม่มีใครไม่รู้จัก “จตุคามรามเทพ” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากการที่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ ราชเดช และ พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ได้ร่วมกันบูรณะหลักเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยการจัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2530 ที่วัดนางพระยา วัดเก่าแก่ดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

              กระแสมาพีคสุดๆ ช่วงปี 2550 ข่าวการพระราชทานเพลิงศพของขุนพันธรักษ์ราชเดช โดย พล.ต.ท. สรรเพชร เป็นประธานในการจัดสร้างจตุคามรามเทพ ขึ้นในวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีหลายรุ่น พระเกจิหลายองค์ปลุกเสก หลายคนพากันแย่งชิงจนกลายเป็นเหตุขัดแย้งหนักถึงขั้นเกิดคดีฆาตกรรม ส่งผลให้วัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรก ที่ผลิตออกมาในปี 2530 เคยจำหน่ายในราคา 49 บาท กล่าวกันว่ามีคนรับซื้อในราคาสูงถึง 40 ล้านบาทด้วยซ้ำ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยประเมินมูลค่าเงินหมุนเวียนของจตุคามรามเทพ ช่วงนั้นพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ผลักดันจีดีพีของประเทศ โตขึ้น 0.1-0.2 % ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และทำให้ต่อมากรมสรรพากร ได้พิจารณาจัดเก็บภาษีจากการสร้างและเช่าบูชาจตุคามรามเทพ

ผมเคยไปพักที่โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช เมื่อก่อนนั้นตรงล็อบบี้เต็มไปด้วยแผงจำหน่ายจตุคามรามเทพแบบเป็นเรื่องเป็นราว หลากรุ่นหลายราคาให้เลือกสรร

              แต่สิ่งใดมีเกิด สิ่งนั้นมีดับ ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีผู้ไปพูดคุยกับเซียนพระและเจ้าของแผง ที่เคยจำหน่ายจตุคาม โดยยอมมรับว่าถ้าหากเป็นจตุคามเนื้อไม้ ปี 30 เมื่อก่อนราคาอยู่ที่หลักล้านต้นๆ ราคาที่วางขายขณะนี้แม้จะเป็นของแท้ผ่านการปลุกเสกลงคาถาอาคม อย่างเก่งก็ขายได้ที่ราคาหลักแสนกลางๆ เท่านั้น

               แม้ว่าจตุคามรุ่นปี 30 จะยังมีคนเช่าหากันอยู่ แต่ราคาตกจากช่วงพีค ปี 2550 แบบถล่มทลาย เช่น จตุคามเนื้อขาวธรรมดา เคยเช่ากันในราคาหลักแสนกลางๆ ปัจจุบันอยู่ที่หลักแสนต้นๆ ส่วนรุ่นอื่นๆ ราคาตกแบบกราวรูดยกแผง แบบทุกเนื้อพิมพ์-ทุกปีผลิต-ทุกรุ่นปลุกเสก-ทุกวัดผลิต

               แว่วว่ารุ่นที่ราคาเคยเหยียบหลักล้านนั้น ปัจจุบันหากปล่อยได้ประมาณ 1.5 หมื่นบาทก็ต้องถือว่าคุ้มแล้ว

              นี่คือวัตถุมงคลที่เคยมีมูลค่าระดับพรีเมียมเลยนะครับ ส่วนรุ่นอื่นๆที่เอาใจชาวบ้านราคา 299-599 บาทนั้น ถ้ายังฝืนเก็บต่อไปก็อาจลงเอยที่โคนต้นไม้เหมือนที่มีข่าวว่าเจ้าของแผงพระต้องขนไปทิ้งเพราะสมัยนี้ไม่มีใครต้องการจะเช่าบูชาอีกแล้ว

              ซึ่งสาเหตุหลักๆที่ทำความนิยมในจตุคามรามเทพเสื่อมลงแบบหาทางกลับมาเหมือนเดินไม่ได้อีกแล้วนั้น เป็นเพราะวงการพุทธพาณิชย์ในไทย โดยเฉพาะเครื่องรางของขลังที่หากมีสินค้าแบบใดได้รับความสนใจจากตลาดแล้วก็การผลิตซ้ำๆจากผู้ประกอบการ (วัด) เพียงไม่กี่รายที่มีทรัพยากรพร้อม เพื่อนำออกมาจำหน่ายในราคาสูง จนกระทั่งมาถึงจุดที่ความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อ หรือที่เรียกว่าสินค้าล้นตลาด

 

              ตัวอย่างความนิยมของจตุคามจึงแตกต่างจากวัตถุมงคลประเภทเหรียญหลวงพ่อบางรุ่น บางปี ที่เป็น Limited Edition ราคาที่ซื้อขายในตลาดนอกจากจะอยู่เหนือกาลเวลาแล้ว ยิ่งนานกลับยิ่งมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

              อีกสาเหตุหนึ่งคือ สังคมไทยเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย อยู่ๆเห็นอะไรแปลกหน่อยก็สามารถเอาธูปเทียนมาจุดหาผ้าสีมาพันแล้วกราบไหว้ได้ทันที

              นั่นจึงเป็นโอกาสที่จะเกิดตำนานขึ้นที่ไหนก็ได้ในประเทศไทยโดยที่ใครก็ไม่รู้แต่งขึ้นมา เพื่อรองรับความศักดิ์สิทธิ์นั้นๆให้น่าเชื่อถือ

 

               การเกิดขึ้นมาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกได้ว่าไม่เคยขาดแคลนนี้ ผลักให้วัตถุมงคลจำนวนไม่น้อยต้องไหลตกรุ่นไปตามกระแสเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น เหรียญหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ รุ่นที่ผลิตครั้งล่าสุด ก็อาจถูกเหรียญพญานาคของสักวัดหนึ่ง โผล่มาแย่งซีนไป

                ความนิยมของ “ไอ้ไข่” ในวันนี้จึงเดินตามรอยเท้าความดังของจตุคามไม่ต่างกัน คนที่ศรัทธาอาจจะบูชาไอ้ไข่มาแล้วขอเงิน ขอโชคลาภ แต่ตัวไอ้ไข่เองก็อาจจะต้องภาวนาให้กระแสฟีเวอร์นี้ยืนระยะให้ผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายได้พอหายใจคล่องบ้าง เป็นวังวงการตลาดที่ขายอภินิหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

                สิ่งที่เดียวที่บ้านเราซึ่งเป็นเมืองพุทธ คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่กลับขาดแคลนไม่มีใครสนใจจะบูชา คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

               บางคนบอกว่า ยินดีที่กราบไหว้ไอ้ไข่วันละหลายรอบเพื่อหวังจะได้ร่ำรวย เพราะพระธรรมนำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟไม่ได้

 

(บทความ โดย ธนก บังผล)

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: