ปิดตำนาน “ลิโด้” ลมหายใจแห่ง “สยามสแควร์”
ปิดตำนาน “ลิโด้”
ลมหายใจในอดีตแห่ง “สยามสแควร์”
ธนก บังผล
กว่า 52 ปี ที่โรงภาพยนตร์ 3 แห่ง คือ สยาม ลิโด้และสกาลา เครือเอเพ็กซ์ ได้ถูกสร้างขึ้นบนถนนพระราม 1 โดยนายพิสิฐ ตันสัจจา นักธุรกิจเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์ ที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าปรับปรุง โรงละคร “ศาลาเฉลิมไทย” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง ใกล้แยกป้อมมหากาฬ
โรงภาพยนตร์สยาม เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในย่านนี้ ความจุ 800 ที่นั่ง เดิมจะใช้ชื่อว่า โรงภาพยนตร์จุฬา แต่มีผู้คัดค้าน เนื่องจากไปพ้องกับ พระนามรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการมิบังควร เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2509 เสนอภาพยนตร์เรื่อง รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge) ราคาตั๋วเริ่มแรกนั้นราคา 10 บาท15 บาท และ 20 บาท
หากยังจำกันได้ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ระหว่างที่กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็มีกลุ่มบุคคลเข้าวางเพลิงอาคารโรงภาพยนตร์สยาม จนทำให้อาคารพังถล่มลงมา โดยได้ฉายภาพยนตร์เรื่อง มหาประลัย คนเกราะเหล็ก 2 (Iron Man 2) เป็นเรื่องสุดท้าย
หลังจากที่โรงภาพยนตร์สยามถูกไฟไหม้ สำนักทรัพย์สินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Property) ก็ได้ขอให้คืนพื้นที่ เนื่องจากคาบเกี่ยวกับช่วงที่สัญญาเช่าที่ดินได้สิ้นสุดลงพอดี จนกลายมาเป็นศูนย์การค้าสยามแควร์วัน งบลงทุน 1,800 ล้านบาทในปัจจุบัน
ส่วนโรงภาพยนตร์ลิโด้ มีความจุ 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2511โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Games For San Sebastian) เอาฤกษ์เอาชัยเป็นเรื่องแรก ที่ผ่านมาโรงภาพยนตร์ลิโด้ เคยถูกไฟไหม้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จึงต้องปรับปรุงใหม่ ให้เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก (มัลติเพล็กซ์) จำนวนสามโรง และเปิดทำการอีกครั้ง ในช่วงปลายปี 2537
ในขณะที่โรงภาพยนตร์สกาลา ออกแบบโดย พันเอก จิระ ศิลป์กนก สถาปนิกชื่อดังของเมืองไทย ในรูปแบบสมัยใหม่ช่วงหลัง (Late Modernist) ผสมกับ การประดับลวดลายแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ด้านหน้าอาคารยกพื้นขึ้นสูงเปิดเป็นทางเข้า โดยใช้ลักษณะของซุ้มโค้ง ภายในชั้นบนที่เป็นทางเข้าชมภาพยนตร์มีลักษณะเป็นโครงสร้างทรงโค้งมีเสารองรับตามจุดต่างๆ เพดานระหว่างเสาประดับเป็นรูปคล้ายเฟือง ขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะของโรงภาพยนตร์นี้ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่สวยที่สุด มีสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก ที่สวยงามโดดเด่น ผสมผสานระหว่าง รูปแบบตะวันตก และตะวันออก ได้รับรางวัล อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์ ความจุ 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง สองสิงห์ตะลุยศึก (The Undefeated)
แม้จะก่อสร้างมานาน แต่ประมาณปี 2544 โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่ง ก็ได้ติดตั้ง ระบบเสียง เซอร์ราวด์ ดอลบี ดิจิตอล เอสอาร์ดี ดีทีเอส เอสดีดีเอส รวมทั้งทยอยติดตั้ง ระบบปรับอากาศโอโซน ฟอกอากาศให้บริสุทธิ์สดชื่น อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ใต้ถุนแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ให้ผู้ประกอบการรายย่อย เช่าเปิดเป็นร้านค้าต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร เสื้อผ้า และเครื่องประดับตามแฟชั่น
และเนื่องจากโรงภาพยนตร์ที่เหลืออยู่ 2 แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ของ CU Property และจะต้องส่งคืนเนื่องจากสัญญาที่เอเพ็กซ์ทำไว้กับ CU Property ได้หมดลงแล้ว โดยสัญญาของลิโด้หมดในปี 2559 แต่เครือเอเพ็กซ์ได้ขอต่อรองกับ CU Property และได้รับการผ่อนผันให้กับโรงภาพยนตร์ลิโด้ดำเนินธุรกิจมาตลอดปี 2560
กระทั่งสิ้นปี 2560 เครือเอเพ็กซ์ได้ขอขยายเวลาส่งมอบพื้นที่โรงภาพยนตร์ลิโด้กับทาง CU Property เป็นกรกฎาคม 2561 จากการยื่นเรื่องกับ CU Property ว่าเอเพ็กซ์จะขอฉาย 2 เทศกาลภาพยนตร์เพื่อเป็นการอำลาโรงภาพยนตร์ลิโด้ก่อน
10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ทางโรงภาพยนตร์ลิโด้ยังได้เปิดให้ผู้ค้าได้เข้ามาเช่าพื้นที่ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่พยุงให้โรงภาพยนตร์ลิโด้สามารถประคองตัวต่อไปได้ โดยคิดค่าเช่าจากผู้ค้า เดือนละ 6 หมื่นบาท ต่อพื้นที่ 4 คูณ 4 ตารางเมตร ในขณะที่พื้นที่นอกโรงภาพยนตร์ กล่าวกันว่าเคยมีคนเสนอราคาให้เช่า พื้นที่ 3 คูณ 3 ตารางเมตร สูงถึงเดือนละ 1.3 แสนบาท
ยังมีการคาดกันอีกว่าเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ทาง CU Property จะรีโนเวททั้ง 3 ชั้นเป็นแบรนด์เสื้อรายใหญ่คัดเอาแต่ยี่ห้อดังมาจากต่างประเทศ
ซึ่งหลังจากมีกระแสข่าวสะพัดบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะทุบโรงภาพยนตร์ทั้ง 2 แห่งทิ้ง ทำให้ทาง CU Property ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายบริหารสำนักงานฯ ยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่า เราไม่มีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาแต่อย่างใด เรายังคงอยากให้ผู้เช่าประกอบการในส่วนอาคารสกาลาทั้งหมดต่อไปจนกว่าเวลาเหมาะสม
แต่หากผู้เช่ายังยืนยันในเจตนาที่จะเลิกประกอบการสกาลาพร้อมๆ ไปกับลิโด เนื่องจากแบกรับการขาดทุนไม่ไหว ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้มีการเจรจาขอให้สกาลาอยู่ต่อไป แต่ขอให้คืนเฉพาะลิโด เนื่องจากปัจจุบันสภาพพื้นที่โดยรวมของร้านค้าใต้ลิโดที่แบ่งล็อคให้เช่าเป็นร้านค้ารายย่อยมีสภาพเก่าทรุดโทรมมาก ขาดการปรับปรุงและบำรุงรักษาที่ดี ทำให้มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จึงจะขอกลับมาพัฒนาพื้นที่เองเมื่อสัญญาสิ้นสุด
ทางสำนักงานฯกำลังหารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมกับสกาลา ที่ผ่านมาทางนายกสมาคมสถาปนิกสยามได้แสดงความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่สกาลาเป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของสมาคม และยังมีองค์กรอื่นที่สนใจ ตลอดจนอีกหลายฝ่ายที่ให้ความเห็นอยากให้อนุรักษ์อาคารสกาลาไว้เพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนโรงภาพยนตร์ในการจัดกิจกรรมต่างๆในเชิงสร้างสรรค์และสอดคล้องกับอาคารที่เป็นอยู่
ตามข้อเท็จจริงแล้ว สัญญาเช่าของลิโดเป็นสัญญายอมความที่ผ่อนผันให้ดำเนินธุรกิจถึง 31 ธ.ค. 2559 เท่านั้น แต่สำนักงานได้ผ่อนปรนให้อยู่ต่อเนื่องมาตลอดปี 2560 ผู้เช่ามีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่ลิโด สิ้นเดือนพฤษภาคม และขอเวลาขนย้ายถึงสิ้นเดือน กรกฎาคม 2561 ซึ่งจะขอยุติการเช่าของสกาลาไปพร้อมกันด้วย
ทั้งนี้ ผู้เช่าจะขอฉายภาพยนตร์แบบฟิล์มที่รวบรวมจากนานาประเทศ (International Film Festival ) ในเดือนเมษายน 2561 และ ภาพยนตร์เงียบ (Silent film festival in Thailand) ในเดือน พฤษภาคม 2561 ซึ่งผู้เช่าได้รับสิทธิในการเป็นผู้ฉายภาพยนตร์ดังกล่าว อันเป็นความภาคภูมิใจที่สำนักงานรู้สึกยินดีและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้
ข้อมูลที่ทางศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยออกมาเมื่อปี 2559 ระบุว่าสิ้นปี 2558 แปลงที่ดินที่มีราคาตลาดสูงสุด คือ บริเวณสยามพารากอน บริเวณสยามสแควร์ บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าชิดลม และบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ราคาที่ดินที่ประเมินได้เป็นเงิน 1.9 ล้านบาทต่อตารางวา หรือ ไร่ละ 760 ล้านบาท
นันทา ตันสัจจา ยอมรับว่ารายได้ไม่พอ จึงทำให้โรงหนังสกาลา ต้องทำการให้เช่าพื้นที่จัดงานต่างๆ เพื่อหารายได้เข้ามาอีกทางหนึ่ง โดยวันธรรมดา ราคา 250,000 บาทต่อวัน หากเป็นวันหยุดราคา 280,000 บาทต่อวัน และหากต้องการเครื่องฉายด้วย จะเพิ่มอีก 20,000 บาท ส่วนนรายได้จากค่าตั๋วนั้น ขึ้นอยู่กับหนังในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์ลิโด้ ถือว่าเป็นโรงภาพยนตร์นอกกระแส นำภาพยนตร์ทางเลือกใหม่มาให้ผู้ชมได้รู้จัก บางเรื่องก็สนับสสนุนผู้สร้างทุนน้อยให้นำภาพยนตร์มาฉาย ในขณะที่สกาลาก็เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรม ทั้ง 2 แห่งคือโรงภาพยนตร์ที่มีบรรยากาศคลาสสิค ละมุนไปด้วยกลิ่นอายแห่งอดีตที่ไม่มีที่ไหนอีกแล้วในประเทศไทย
วันนี้ (31พฤษภาคม 2561) ถือเป็นวันสุดท้ายสำหรับโรงหนังลิโด้ ซึ่งจะฉายหนังเรื่อง Tonight at Romance Theater รอบ 18.45 น . รักเราจะพบกัน ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดถึงเรื่องรักโรแมนติกของคู่รักที่สัมผัสตัวกันไม่ได้ เพราะนางเอกเป็นตัวละครที่หลุดออกมาจากภาพยนตร์ขาวดำ อีกทั้งตัวหนังยังสะท้อนถึงเรื่องราวยุคล่มสลายของภาพยนตร์และโรงหนังเก่าเมื่อคนส่วนใหญ่ หันมาดูโทรทัศน์แทนภาพยนตร์ และภาพยนตร์เรื่อง Kids on the slope เวลา 20.45 น.เป็นภาพยนตร์จากประเทศญี่ปุ่น ครั้งสุดท้ายที่เราจะได้ดูหนังที่โรงภาพยนตร์ ลิโด
ใครที่อยากร่วมอำลาลิโด้เป็นครั้งสุดท้ายก็อย่าลืมไปดูกัน เห็นว่า เรื่องนี้จองตั๋วไม่ได้แล้ว เต็มอย่างเร็ว แต่เรื่องอื่นเห็นว่ายังจองได้อยู่ ส่วนแฟนหนังที่กังวลเรื่องการให้บริการของโรงภาพยนตร์สกาล่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพูดคุยต่อสัญญาการขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์ออกไปก่อน
ปิดตำนานโรงภาพยนตร์ที่เป็นดั่งลมหายใจแห่งสยามสแควร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยบุกเบิกและตระหง่านท่ามกลางศูนย์การค้าย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร แต่ดูเหมือนโรงภาพยนตร์ในตำนานแห่งนี้จะยังโลดแล่นในความทรงจำคนรักภาพยนตร์ตลอดไป