“ปัญญา ปุลิเวคินทร์” คนเปลี่ยนโลก
จะมีสักกี่คนบนโลกใบนี้ที่ละทิ้งเงินเดือนกว่าครึ่งแสน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเฉกเช่นวิถีคนเมืองอย่างรถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมเสริฟถึง 3 คันเพื่อมาใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ทุรกันดารแถมยังไม่คุ้นเคยเพราะไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแถมยังต้องไกลห่าจากครอบครัวอันเป็นที่รัก เสียสละความสุขส่วนตัวทุกสิ่งอย่างเพื่อมาดำเนินรอยตามด้วยการสานต่อหนึ่งโครงการในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ผู้เป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งแผ่นดิน
“ปัญญา ปุลิเวคินทร์” ชื่อนี้หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตาเขาเป็นอย่างดีจากสื่อช่องทางต่างๆ ในฐานะบุคคลผู้ลงแรง ลงใจบุกเบิกศูนย์ “ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” หนึ่งในโครงการในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่พื้นที่นี้ยังเป็นท้องทุ่งนาที่ว่างเปล่า เนื่องจากไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้เลย แต่ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้กลับเขียวขจีไปด้วยต้นไม้นานาพรรณเกือบ 400 ชนิดกว่า 4,000 ต้น
อาจารย์ปัญญา ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของสถานที่ดังกล่าว บอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตในการเข้ามาทำงานที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ว่า แต่ก่อนทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง พร้อมกับเป็นอาจารย์ไปในตัว ตอนนั้นช่วงประมาณปี 2539 เกิดความรู้สึกว่าการทำงานประจำไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่การเดินตามรอยพ่อหลวงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า ต้องการทำตามใจตัวเองมากกว่าทำตามที่คนอื่นสั่ง จึงเริ่มวางแผนที่จะลาออกจากงานประจำ พร้อมกับศึกษาโครงการในพiะราชดำริของในหลวงมาโดยตลอดและให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่า เมื่อพร้อมเผชิญก็จะยื่นใบลาออกทันที
หลังจากศึกษาแนวคิดของในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างจริงจัง และตั้งใจแล้วว่าจะทำตามแบบอย่างจากพ่อหลวงเป็นหนทางนำตัวเองไปสู่การเกิดใหม่อีกครั้ง นับแต่นั้นเป็นต้นมาเขาเฝ้าเพียรศึกษาแนวพระราชดำริของในหลวงจนลึกซึ้ง ทั้งเนื้อหากระทั่งซึมลึกลงในหัวใจ จึงตัดสินใจลาออกจากธนาคารทั้งที่งานกำลังก้าวหน้า ปลดภาระความอึดอัดในใจ ในปี 2548 เมื่อได้ทราบว่าสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ กำลังดำเนินการศูนย์ภูมิรักษ์ฯ ซึ่งเป็นศูนย์แสดงแนวคิดพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทางสมาคมฯ จัดสร้างขึ้นเพื่อถวายให้กับพระองค์ท่าน และเข้าทำงานตั้งบัดนั้นด้วยอายุ 51 จนปัจจุบันอาจารย์ปัญญาอายุ 62 ปีแล้ว
อาจารย์ปัญญา ทำงานทุกอย่างในศูนย์ฯ ทั้งลงแรงขุดดินถางหญ้า ปลูกต้นไม้ และเป็นวิทยากรกระพือแนวพระราชดำริให้แก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ฯ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ความรู้สึกหนึ่ง คือ “ศรัทธา” ของตนเองที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนอีกความรู้สึกหนึ่งที่ผลักดันให้มีกำลังใจทำงานอย่างเหลือเฟือ คือ “ศรัทธาของแม่” ที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9
ก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ แห่งนี้ อาจารย์ปัญญาเคยใช้ชีวิตในศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติแห่งนี้เพียงคนเดียว ทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่การเป็นหัวหน้าศูนย์ วิทยากร กระทั้งภารโรงเก็บกวาดขยะ ทำความสะอาดห้องน้ำ ทุกวันนี้เขายังทำหน้าที่ภารโรงเช่นเดิม ถ้าไม่มีธุระต้องออกไปข้างนอกหรือเป็นวิทยากร เราก็จะเห็นอาจารย์ปัญญาขลุกอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า
หลายคนอาจมีฝันมากมาย แต่ในช่วงท้ายของชีวิตจะมีสักกี่ฝันทำให้เราสุขได้จริงๆ และจะมีสักกี่คนที่ได้มีความสุขกับความฝันของตัวเอง ได้ปลูกต้นไม้อย่างที่ชอบ อบรมให้ความรู้คนอย่างที่อยาก ทำในสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ดำริไว้อย่างที่ฝัน และสร้างความศรัทธาต่อพระองค์ท่านอย่างที่ชีวิตเรียกร้อง เปรียบดังความสุขของเด็กชายคนหนึ่งที่เดินทางผ่านกาลเวลาจากการเรียนรู้อยู่กับต้นไม้จากพ่อผู้ให้กำเนิด สู่อาจารย์คนหนึ่งที่ได้เรียนรู้การอยู่อย่างพอเพียงจากพ่อของแผ่นดิน
ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติเป็นที่ดินของในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพื้นที่ 14 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 98/1 หมู่ 2 บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปริมนทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนาซื้อที่เมื่อปี 2532 ซึ่งเดิมเป็นที่นาสภาพแห้งแล้ง
ปี 2542 พ่อหลวงทรงให้ดำเนินการสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และน้ำเค็มขึ้นถึงทำลายต้นไม้ ใช้เวลาสร้าง 6 ปี จึงแล้วเสร็จในปี 2548
ปี 2545 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขออนุญาตจากมูลนิธิชัยพัฒนา เข้ามาพัฒนาที่ดิน ปี 2546 – 2547 ปรับพื้นที่ โดยนำเอาดินและหินที่ได้จากการระเบิดสร้างเขื่อนมาถมปรับที่เป็นภูเขา เพื่อแสดงแนวคิดในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า คน ด้วยแนวคิด “จากภูผา สู่มหานที” แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ภาคคือ เหนือ กลาง อีสานและใต้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545
ในปี 2547-2548 มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิศิษย์เก่าวชิราวุธ ได้สร้างอาคารนิทรรศการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงเปิดศูนย์ภูมิรักษ์ฯ อย่างเป็นทางการ
อาจารย์ปัญญา ยึดหลักการทำงาน 2 หลัก ที่ว่า“ความขาดแคลนไม่มีปัญหา ถ้ามีปัญญากับความอดทน” และ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” และที่ขาดไม่ได้ คือกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “…เศรษฐกิจพอเพียง ต้องทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศได้ดี ไปได้ดี…”เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่เขาเทิดทูนบูชาเหนือสิ่งอื่นใดตลอดมาและตลอดไป