สารพัดปัญหารุมเร้า! ‘นารายา’ ประกาศปิดโรงงาน ยันยังทำธุรกิจต่อ!

นารายาปิดโรงงาน หลังพนักงานโรงงานบุรีรัมย์ รวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่าถูกบีบให้รับค่าจ้างแค่ 62% ของค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากไม่มีออเดอร์นั้น
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก NaRaYa แบรนด์กระเป๋าชื่อดัง ออกมาชี้แจงว่า
‘คำชี้แจงข้อเท็จจริงจากบริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด อ้างถึงประเด็นข่าว “โควิดพ่นพิษแรงงานกว่า 300 ฮือประท้วงถูกนายจ้าง บีบลดค่าแรง อ้างไม่มีออเดอร์ วอนรัฐช่วย” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
เนื่องด้วยมีข้อมูลบางประการคลาดเคลื่อน ทางบริษัทฯจึงขอส่งจดหมายชี้แจงในกรณีดังกล่าวมาตามจดหมายที่แนบมานี้
ทั้งนี้บริษัทฯขอยืนยันให้ทราบว่าบริษัทฯยังคงเปิดดำเนินการต่อไป และจะมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเดิม ด้วยคุณภาพและหัวใจ
อย่างไรก็ตามบริษัทฯยังคงมีโรงงานและกำลังการผลิตที่เพียงพอกับคำสั่งซื้อของลูกค้าภายในประเทศและต่างประเทศโดยได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น บริษัทฯคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นในเร็ววันเพื่อให้ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติตามเดิม เราจะฝ่าวิกฤตไวรัสโควิดนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด’
ทั้งนี้ เนื้อความในจดหมายล่าสุด ระบุว่า
“ข้อเท็จจริง กรณีข่าวแรงงานประท้วง ที่จังหวัดบุรีรัมย์
ตามที่ปรากฏเป็นข่าว บนหน้าหนังสือพิมพ์ ระบุว่า พนักงานของบริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตกระเป๋าส่งออก ยี่ห้อ นารายา ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กว่า 300 คน ชุมนุมประท้วง เรียกร้องขอความเป็นธรรม เพราะถูกนายจ้างเอาเปรียบ โดยการบีบให้เซ็นรับค่าจ้างวันละ 198 บาท หรือ 62% ของค่าจ้างที่สมควรได้รับตามกฏหมาย วันละ 320 บาท และเรียกร้องให้นายจ้าง / บริษัท จ่ายค่าจ้าง ตามพ.ร.บ.แรงงาน คือวันละ 240 บาท หรือ 75% นั้น
กรณีดังกล่าว บริษัทได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงอธิบายเป็นประเด็น ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ไม่มีออร์เดอร์กระเป๋าเข้ามา จึงได้มีการส่งตัวแทน ไปเจรจากับพนักงานของบริษัท ทั้งสองโรงงานให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยบริษัทได้มีการพูดคุย ชี้แจง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดว่า มีผลกระทบอย่างไร และมีข้อสรุปกับพนักงาน ในการยื่นปิดกิจการชั่วคราว เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 กรกฏาคม 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้าสู่กระบวนการเยียวยา รัฐบาล และได้รับงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม 62% ของรายได้ ซึ่งเป็นค่าจ้างที่พนักงานได้รับจากโครงการเยียวยาของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะยังคงไม่มียอดออร์เดอร์กระเป๋าเข้ามา แต่บริษัทก็ได้คิดโปรเจ็คพิเศษ ในช่วงสถานการณ์โควิด ในการผลิตผ้าปิดจมูก เพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง เพราะบริษัทเห็นว่า พนักงานทุกคนเป็นเสมือนครอบครัว นารายา ที่ร่วมทำงานกันมาเป็นเวลานาน หลายคน เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจในฝีมือ จึงพยายามขยายโปรเจ็คการผลิตผ้าปิดจมูก จนมีการจำหน่ายทางออนไลน์ และมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
ประการที่สอง กรณีที่พนักงานบางส่วน เรียกร้องขอให้บริษัท จ่ายค่าจ้าง 100% หากไม่มีออร์เดอร์จริง ขอให้จ่ายตาม พ.ร.บ.แรงงาน เป็นจำนวนเงิน 240 บาท หรือ 75% นั้น ตัวแทนบริษัทได้มีการพูดคุยกับพนักงานเกี่ยวกับทิศทางการทำงานต่อไป และพนักงานบางส่วน ได้มีข้อเสนอด้วยความสมัครใจ แจ้งกลับมาว่า จะขอรับค่าจ้าง 62% ของค่าจ้าง
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ในวันเปิดทำงานของบริษัท ได้มีพนักงานบางส่วน ออกมาเรียกร้องข้างต้น บริษัทได้พิจารณาเบื้องต้นแล้ว เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด ยังไม่คลี่คลาย และยังคงส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัท ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของพนักงาน ที่ให้จ่ายค่าจ้าง 100% และหากไมีมีออร์เดอร์จริง ขอให้จ่าย 75% ตาม พ.ร.บ.แรงงานนั้น ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีโปรเจ็คผลิตผ้าปิดจมูก แล้ว ขยายช่องทางในการผลิตสินค้าอื่นๆ แล้วก็ตาม แต่ยังคงไม่มีออร์เดอร์กระเป๋าผ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของนารายา การเพิ่มค่าแรงตามข้อเรียกร้องของพนักงาน กลุ่มดังกล่าว จะส่งผลกระทบทางธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างมาก
ประการสุดท้าย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว บริษัทได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโควิดมาโดยตลอด และบริษัท มีความเสียใจอย่างมาก ต่อผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เรียกประชุมผู้บริหารเป็นการด่วนเพื่อหาทางออก แต่ท้ายที่สุด เนื่องจากการแพร่ระบาดยังไม่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้บริการน้อยลงเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา รวมถึงการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนมีนาคม มีการล็อกดาวน์ ร้านค้าปิด ไม่มีนักท่องเที่ยว ขายของไม่ได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันบริษัทยังไม่มีออร์เดอร์กระเป๋าผ้า เข้ามาแต่อย่างใด ผู้บริหารจึงมีมติในที่ประชุมที่จะปิดโรงงาน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่า ยังคงเปิดดำเนินการต่อไป และจะมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักด้วยคุณภาพและหัวใจ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีโรงงาน และกำลังการผลิตที่เพียงพอกับคำสั่งซื้อของลูกค้าภายในประเทศและต่างประเทศ โดยได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น บริษัทคาดหวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจ จะกลับมาดีขึ้นในเร็ววัน เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติตามเดิม
เราจะฝ่าวิกฤติไวรัสโควิดนี้ไปด้วยกัน อย่างดีที่สุด
เปิดที่มา นารายา
บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 6 ตุลาคม 2532 โดยคุณวาสิลิโอส และภรรยาคือคุณวาสนา รุ่งแสนทอง ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จากพื้นฐานความรู้ของคุณวาสิลิโอส จึงเริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์อิเลคโทรนิค และชิ้นส่วนเครื่องยนต์กลไก กิจการไปได้ดีระยะหนึ่งแต่ต้องประสบปัญหาเพราะไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง จึงหันมาริเริ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ
พ.ศ.2536 เริ่มจากก่อตั้งโรงงานด้วยจักร 15 ตัว พนักงาน 15 คน และจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้านารายณ์ภัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อที่เพียง 2 ตารางเมตรเท่านั้น ธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
นับตั้งแต่ปีพ.ศ 2539 เป็นต้นมา นารายา ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว มีพนักงานมากกว่า 3,000 คน และยังว่าจ้างฝีมือแรงงานจากชนบทอีกว่า 4,000 คนเพื่อผลิตสินค้าคุณภาพ
พ.ศ.2539 บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ทำการจดทะเบียน ตราสัญลักษณ์ NaRaYa โดยอิงจากชื่อบริษัทฯ นารายา เป็นภาษาฮินดู แปลว่า พระนารายณ์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อของพระวิษณุเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวฮินดู ชื่อนี้ถูกเลือกเพราะมีความหมายที่เป็นมงคล และง่ายต่อการออกเสียงในหลายๆภาษา พ.ศ.2549 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 90 ล้านบาท และดำเนินการสร้างสำนักงานใหญ่ ถ.แจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี
พ.ศ.2551 เปิดโรงงาน 2 แห่งที่ อ.ละลวด และอ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
พ.ศ.2554 เปิดโรงงาน 1 แห่ง ที่ตำบลพระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2559 เปิดศูนย์กระจายสินค้า 1 แห่ง ที่ตำบลบางกระดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี ปัจจุบัน นารายา ส่งออกไปขายในหลายประเทศทั่วโลก มีสาขาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 23 สาขา ในประเทศไทย และอีก 13 สาขาในต่างประเทศ นารายาได้พิสูจน์แล้วว่าธุรกิจขนาดเล็ก ก็สามารถประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดไม่เกี่ยว! ‘พานาโซนิค’ แจงปิดโรงงานในไทย เป็นนโยบายลดต้นทุนบ.แม่ปี 62