นายกฯค้าปลีกฟันธง”บริการและกิจกรรม” ทางรอดค้าปลีกไทย
ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งบุคลากรในวงการค้าปลีกเมืองไทยที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง สำหรับผู้ชายที่ชื่อ” วรวุฒิ อุ่นใจ “ด้วยความที่เป็นคนค่อนข้างตรงไปตรงมา กล้าวิพากษ์วิจารย์ในสิ่งไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะประเด็นที่หลายคนจับตาในช่วงที่ผ่านมาคือการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีที่เรียบร้อยโรงเรียนคิงเพาเวอร์แบบคาใจใครหลายคน ซึ่ง วรวุฒิ อุ่นใจ ในฐานะตัวตั้งตัวตีในการรณงค์เรียกร้องให้การประมูลมีความโปร่งใสและไม่ตกอยู่ในภาวะผูกขาดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
วรวุฒิ ฉายภาพค้าปลีกไทยในงาน TRA RETAIL FORUM 2019 ที่ระดมผู้เขี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกทั้งด้านออฟไลน์ โมเดิร์นเทรด เทรดดิชั่นนอลเทรด และออนไลน์ ร่วม “ถอดบทเรียนค้าปลีกออนไลน์โลก สู่ ค้าปลีกออนไลน์ไทย” ว่า ตกต่ำมายาวนาน 4-5 ปีมาแล้วและถือเป็นความตกต่ำที่ผิดปรกติ จากเดิมที่ภาพรวมค้าปลีกจะเติบโตสูงกว่าจีดีพี 1-1.5% แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะปีนี้ ค้าปลีกไทยคาดว่าจะเติบโตเพียง 2-3% เท่านั้น จากการคาดการณ์ว่าจีดีพีของประเทศจะเติบโตประมาณ 4% และถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในอาเซียน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่โตเฉลี่ย 10% อาทิ ประเทศเวียดนามโตสูงสุดที่ 10% รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์โต 7-8% ทั้งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยได้รับการยอมรับว่ามีความแข็งแกร่งและมีคุณภาพดีที่สุดในอาเซียน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ค้าปลีกไทยเติบโตตกต่ำอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยั้น วรวุฒิ มองว่า เนื่องมาจากปัจจัยหลักๆ 3 ประการด้วยกันคือ 1.โครงสร้างภาษีสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่บ้านเราสูงกว่าประเทศอื่นๆ ปัจจุบันเฉลี่ยจัดเก็บที่ 30-40% ขณะที่ประเทศอื่นๆ จัดเก็บเพียง 5-10% เท่านั้น ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการเป็นช้อปปิ้ง เดสติเนชั่น ทั้งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาปีละกว่า 40 ล้านคน
ประการที่ 2. ธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งปรกติต้องทำตลาดกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่บ้านเราดิวตี้ฟรีเน้นทำตลาดกับคนในประเทศ และดิวตี้ฟรีต่างประเทศมีหลายราย แต่ประเทศไทยผูกขาดเพียงรายเดียวมาอย่างยาวนาน ทั้งที่ควรมีถึง 4-5 รายเพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและสรา้งรายได้ให้เกิดกับประเทศชาติเพิ่มขึ้น
ประการสุดท้ายที่ทำให้ค้าปลีกประเทศไทยเติบโตตกต่ำ ในสายตาของวรวุฒิคือ การไม่เน้นช้อปปิ้งเชิงท่องเที่ยว ซึ่งในต่างประเทศมีการจัดทำช้อปปิ้งสตรีทซึ่งบ้านเราไม่มีทำให้ขาดโอกาสในการเติบโต ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการเข้ามาของออนไลน์ช้อปปิ้งที่เข้ามาแย่งตลาดค้าปลีก รวมทั้งสินค้าเกรย์มาร์เก็ต หรือสินค้าหนีภาษีที่กำลังระบาดมากขึ้น และน่ากลัวกว่าการเข้ามาของสินค้าออนไลน์ เนื่องจากเป็นตลาดที่ตรวจสอบไม่ได้ แต่เติบโตทุกปี โดยคาดการณ์ว่า ตลาดเกรย์มาร์เก็ตทั้งระบบ สูงถึง 20% ของจีดีพีประเทศ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมา สมาคมค้าปลีกไทยได้เรียกร้องไปยังภาครัฐหลายครั้ง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักช้อปไทยให้หันมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมในประเทศไทย ซึ่งล่าสุด เวียดนามเตรียมลดภาษีสินค้านำเข้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เหลือ 0% ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวและนักช้อปไปซื้อสินค้าในเวียดนามมากขึ้น แต่หากไทยทำได้ จะเป็นการกระตุ้นทั้งการซื้อสินค้าและการท่องเที่ยวได้ด้วย
ด้านการปรับตัวของผู้ประกอบการเอง ยังต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยใช้ออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ก่อนตกเวที ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ด้วยการก้าวสู่ “นิวรีเทล” นั่นคือ การผสานออฟไลน์ และออนไลน์เข้าด้วยกันเพื่อสร้างการเข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง ทุกที่ ทุกเวลา และค้าปลีกจะอยู่ได้ในระยะยาวด้วยคำสองคำ คือ “บริการและกิจกรรม” นั่นคือ ต้องเน้นการให้บริการที่ออนไลน์ยังไม่สามารถแข่งขันได้ และการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงในปีหน้า ประธานสมาคมค้าปลีกไทยมองว่า กำลังซื้อจะยังฝืดเคืองต่อเนื่อง จาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1.สงครามการค้าโลก(เทรด วอร์) ระหว่างผู้นำเศรษฐกิจโลกหมายเลขหนึ่งและสอง สหรัฐอเมริกา และ จีน ที่ยังไม่มีท่าทีผ่อนคลาย 2.เงินบาทแข็งค่า และ การลดค่าเงินหยวนของจีน ที่ส่งผลกระทบตรงกับภาคการส่งออกของไทย มีรายได้กลับเข้าประเทศลดลง โดยเฉพาะหากนำสินค้าไทยเปรียบเทียบกับจีนแล้ว จะมีอัตราแพงขึ้น 20% จากปัจจุบันเงินหยวนจีนลดค่าลง 13-14% ส่วนเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 6-7%
วรวุฒิทิ้งท้ายว่า ค้าปลีกจะอยู่ได้ในระยะยาวด้วยคำสองคำ คือ “บริการและกิจกรรม” นั่นคือ ต้องเน้นการให้บริการ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าแบบชนิดที่ออนไลน์ทำไม่ได้จึงจะอยู่รอดได้ ……