นักรีวิวสินค้า คืออาชญากร ?
นักรีวิวสินค้า คืออาชญากร ?
โดย ธนก บังผล
เพราะยังมีความเชื่อที่ว่า “ดารา นักแสดง” ใช้ผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง ยี่ห้อไหน ชนิดไหน ถ้าเราไปซื้อมาใช้ก็จะทำให้สวยเหมือนดาราคนนั้น จนกระทั่งมีการเปิดโปง บริษัท เมจิก สกิน จำกัด ซึ่งทางตำรวจได้ทำการทะลายแหล่งผลิต ตรวจค้นจับกุม กลายเป็นข่าวใหญ่และขยายความเสียหายกระทบไปถึง “แม่ค้าออนไลน์” จำนวนมาก
การรีวิวสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือผิดกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเน็ตไอดอล และเหล่าบรรดาศิลปิน นักแสดง ได้ทำการ “ส่งเสริมการขาย” กรณีนี้เข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิด สมรู้ร่วมคิดด้วยหรือไม่
ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จริงๆ มีมานานมากแล้ว จับกันคนร้ายพ้นโทษออกจากคุกมาแล้วไม่รู้เท่าไร กรณีมีผู้สงสัยว่าคนผิดจริงๆ นั้นเป็น ผู้ผลิตอาหารปลอม , คนรีวิว หรือ อย. กันแน่
หลังจาก พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 3 บุกค้าเครือข่ายของ บริษัท เมจิก สกิน จำกัด แหล่งผลิตอยู่ที่ย่านรามอินทรา กทม. , โรงงานใน จ.ปทุมธานี และบริษัทที่ จ.นครราชสีมา ได้ของกลาง อุปกรณ์ผลิตเครื่องสำอางปลอม ส่วนผสมของครีมต่างๆ ฉลากปลอม ผลิตภัณฑ์ปลอม ฯลฯ
ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทสกินแคร์และอาหารเสริม ยี่ห้อดังหลายประเภท พร้อมป้ายโฆษณาชวนเชื่อ
เมื่อขยายผลการจับกุม พล.ต.ต.อังกูร เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่พบเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้รับใบอนุญาตจาก อย. กระบวนการผลิตยังเป็นการใช้มือทำ โดยไม่มีมาตรฐาน สูตรที่นำสารเคมีมาผสมในผลิตภัณฑ์ก็คิดขึ้นมาเอง รวมไปถึงสลากสินค้าต่างๆ ก็ทำปลอมขึ้นมาหลอกลวงผู้บริโภค
ถ้าตามข่าวกันมาก็จะพอทราบว่า มีผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีนี้ทั้งหมด 8 คน โดยบ. เมจิก สกิน ผลิตสินค้าหลายยี่ห้อ อาทิ apple slim, slim milk, snow milk, Fern, เมจิก สกิน, ชิโนบิ, ตรีชฎา และ Mezzo
เครื่องสำอาง 227 รายการ จึงเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตไม่ตรงตามที่ได้จดแจ้งไว้ อีกทั้งตำรวจยังพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้ผู้จดแจ้งชื่อ บริษัท เมจิก สกิน จำกัด อีกมากถึง41 ราย ซึ่งเบื้องต้น กรรมการบริษัทแห่งนี้ ได้ยอมรับว่าไม่ได้ทำการผลิตเครื่องสำอางจริง ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
เมื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ก็พบว่ามีศิลปิน ดารา นักแสดง เน็ตไอดอล อยู่หลายคน เป็นใครบ้างนั้นก็คงพอทราบจากข่าวกันบ้างแล้ว ทางตำรวจจึงจำเป็นอาจต้องขอความร่วมมือผู้ที่รับเงินค่ารีวิวสินค้าผิดกฎหมายมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
และดารานักแสดงบางคนก็รีบออกมาให้ข่าวทันที ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต รับเงิน “ส่งเสริมค่าส่งเสริมการขาย” เหมือนค่าจ้างทั่วไป แค่โพสต์ลงโซเชียล 15 วันแล้วลบออกได้ บางคนยืนยันเองเลยว่าใช้จริง และผลิตภัณฑ์เป็นของคุณภาพเยี่ยม ไม่มีผลกระทบกับผิวพรรณร่างกาย
การนำผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน มารีวิว เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้มีผู้ซื้อไปใช้ มีการจ่ายเงินค่ารีวิว ถ้าจะทำให้ผิดจริงๆ รับรองว่าไม่มีทางรอดแน่นอน และกรณีนี้ยังรวมถึงแม่ค้าออนไลน์ที่นำสินค้าทาผิวขาว หรือผลิตภัณฑ์มาจำหน่าย เป็นลูกข่าย แม่ขายกันกว้างขวาง หากสินค้าตัวนั้นไม่มีเลข อย. หรือ มีการปลอมเลขขึ้นมาเพื่อหลอกให้เอามาโพสต์นั้น อ่วมอรทัยหลายกระทง ยิ่งถ้ามีใครสักคนอยู่ดีๆก็ผื่นแพ้บวมพองขึ้นมา ลุกลามจนเสียชีวิต ก็อาจติดคุกหัวโต
ถ้ามีใครสักคนโผล่หน้ามาทางหน้าจอโทรศัพท์ พร้อมคำพูดว่า “ใช้จริง ดีจริง” แม้บางคนจะไม่ได้ใช้จริง แต่สิ่งที่ขายเป็นของผิดกฎหมาย ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าประเทศ หรือเป็นของเถื่อนหนีภาษี เป็นของที่สกปรก ทำให้สารเคมีตกค้างในร่างกาย แม้จะโผล่มาไม่กี่วัน แต่ก็ถือว่าร้ายแรงกว่าถ่ายรูปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แต่ปัญหาน่าสนใจคือ การปลอมแปลง เลข 13 หลักของ อย. มีมานานแล้ว กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) จับกุมเป็นคดีใหญ่หลายครั้ง เพียงแต่ไม่ดังเท่ากับคดีที่มีดาราเข้าไปพัวพัน เมื่อมิจฉาชีพรู้ช่องโหว่ ว่าคนไทยไม่ดูเลข อย. และถึงแม้ว่าจะมีการเอาไปตรวจสอบในระบบ แต่สุดท้ายก็ยังปลอมกันอยู่ หากให้ตามจับกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อีกไม่นานเราคงพบการปลอม การแอบอ้าง อย. อยู่ในอาหารทุกประเภท
อย.ต้องหาทางแก้ปัญหานี้ บางทีคนอยู่เต็มสำนักงานแต่เข้าไปถามหาข้อมูล กลับเงียบเฉย ไร้คำตอบ ข่าวดังทีก็ออกมาที เป็นองค์กรที่ห่างเหินกับประชาชนทั้งๆที่คนใกล้ชิดกับอาหารและยาทุกวัน
น่าจะพอเห็นภาพกว้างๆ ของปัญหาสินค้าปลอม นี่ยังไม่นับรวมกับปัญหา ไปขอ เลข อย.มาแล้ว เข้ากระบวนการพิจารณาแล้ว แต่ผู้ผลิตรีบเอาสินค้าออกมาจำหน่าย อ้างอิงเลข อย. มาใช้ก่อน ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับอนุญาต กรณีนี้ก็โดนจับมาไม่น้อย
ต้นเหตุที่สำคัญอยู่ที่ อย. ต้องหาวิธีป้องกัน ปิดช่องโหว่ และให้ความรู้กับประชาชนมากกว่านี้ ผู้บริโภคต้องตรวจสอบสินค้าที่จะนำมาใช้ด้วยความมั่นใจมากกว่านี้
ห่วงโซ่จากช่องโหว่กฎหมาย อย. เรื้อรัง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆบนโลกไซเบอร์ที่มิจฉาชีพพยายามหาทางสร้างหลักฐานมาหลอกลวง พร้อมทั้งใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมาย ด้วยการจ้างให้คนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของประชาชนออกหน้ามาขายสินค้าให้เอง
อาจจะยังมีผลิตภัณฑ์ สินค้าความงาม น้ำปลา อีกมากมายตามท้องตลาด ที่ประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่าผิดกฎหมายก็เป็นได้