ธุรกิจค้าปลีก เร่งปรับตัวรับ New Normal

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินธุรกิจค้าปลีกภายใต้สภาวะ New Normal แม้ว่าส่วนหนึ่งจะกระตุ้นให้ตลาดออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่ถึงกระนั้น ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละรายทั้งที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online) และอยู่บนช่องทางหน้าร้าน (Physical store) ต่างก็เผชิญความท้าทายทางธุรกิจที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
ผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีหน้าร้าน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ภายหลังปลดล็อคมาตรการ Lockdown การเร่งสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าในช่วงแรก โอกาสที่การสร้างรายได้กลับเข้ามาอาจจะไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป (ทั้งต้นทุนในการดูแลเรื่องมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย การจัดพื้นที่วางสินค้าและการให้บริการตามจุดต่างๆ ต้นทุนค่าแรง/ค่าจ้างพนักงาน ค่าไฟฟ้า) เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังกังวลการกลับมาระบาดของโรค จึงยังไม่กล้าออกมาใช้จ่ายนอกบ้านมากนัก แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างความเชื่อใจให้กับผู้บริโภค และรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายผ่านช่องทางหน้าร้านอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
ขณะเดียวกันมาตรการดูแลช่วยเหลือหรือเยียวยาในฝั่งของผู้เช่ารายย่อย (พ่อค้า-แม่ค้าที่เช่าพื้นที่ขาย) ก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องทำต่อไปอีกสักระยะ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะการปรับลด หรืองดการขึ้นค่าเช่า เป็นต้น
ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์อย่าง E-Market place ที่โดดเด่นในกลุ่มสินค้า Non-food จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากประเด็นกำลังซื้อของผู้บริโภคและการแข่งขันกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลีกเฉพาะที่อาศัยความมีชื่อเสียงด้านแบรนด์ควบคู่กับการรุกทำโปรโมชั่นบนตลาดออนไลน์เช่นกัน จึงทำให้ผู้ประกอบการ E-Market place ยังต้องอัดโปรโมชั่นและคงจะยังขาดทุนต่อเนื่อง
สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย ด้วยจำนวนผู้เล่นที่มากรายทั้งรายเล็กรายใหญ่ รวมถึงผู้เล่นที่เดิมไม่ได้ทำธุรกิจค้าปลีก ที่ต่างก็เข้ามาในแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อหาทางสร้างรายได้นั้น หากสินค้าและบริการไม่แตกต่างหรือปรับตัวไม่ทันตามความต้องการของผู้บริโภค ก็จะเผชิญการแข่งขันที่ยากลำบาก โดยผู้เล่นที่สร้างรายได้สุทธิไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอ สุดท้ายอาจต้องออกจากธุรกิจไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ภายใต้สภาวะ New Normal ผู้ประกอบการค้าปลีกทุกรายจะเผชิญความท้าทายในการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบากขึ้น และอาจจะต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าที่คาดในการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ และแม้คาดว่าตลาดจะฟื้นในปี 2564 หลังจากที่หดตัวในปี 2563 แต่มูลค่าตลาดจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 หรือในปี 2562