difference-thinking

ตอนที่ 30 : ครอบครัวของผม และแนวทางการสืบทอดตำแหน่ง

ตอนอายุประมาณ 18 ปี ผมเพิ่งเดินทางจากฮ่องกงกลับกรุงเทพฯ และได้พบกับคุณหญิงเทวี ภรรยาของผมเป็นครั้งแรกโดยบังเอิญที่สวนดอกไม้แห่งหนึ่งในใจของผมคิดว่า “คุณหญิงสวยราวกับนางฟ้าบนดิน” ตอนนั้นคุณหญิงก็กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นอายุประมาณ 17 ปี และรู้จักมักคุ้นกับพี่ๆ ของผมมาก่อนแล้ว ทั้งยังเป็นญาติของเพื่อนผมที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานธุรกิจอาหารสัตว์ของเราตั้งแต่สมัยที่ท่านประธานมนตรีบริหารอยู่

บ้านญาติของคุณหญิงอยู่หลังบริษัทของเรา คุณหญิงมักจะมาพักผ่อนหย่อนใจที่สวนหลังบริษัทของเราเสมอๆ ผมชอบการถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก ครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวทะเล และได้พบกับคุณหญิง ผมมีโอกาสได้ถ่ายรูปให้คุณหญิงด้วย ซึ่งปัจจุบันรูปถ่ายใบนั้นก็ยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

หลังจากที่ได้รู้จักกับคุณหญิงเทวีในครั้งนั้นแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปมาหาสู่กับคุณหญิงอีก ตอนนั้นผมอายุยังน้อย ไม่ได้ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย และเพิ่งเริ่มทำงาน ตำแหน่งงานของผมก็เป็นเพียงพนักงานเล็กๆ คนหนึ่ง ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับคุณหญิง และยังไม่พร้อมที่จะมีความรัก ผมจึงทุ่มเทกำลังทั้งหมดไปที่งาน

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วราวชั่วพริบตา ในตอนที่ผมอายุ 22 ปี ก็ได้พบคุณหญิงโดยบังเอิญอีกครั้งในงานแต่งงานของเพื่อน ตอนนั้นคุณหญิงยังไม่ได้แต่งงานและยังไม่มีคนรัก ขณะที่การงานของผมที่สหกรณ์ก็กำลังไปได้ดีมีความสำเร็จในหน้าที่การงานบ้างแล้ว ผมจึงตัดสินใจขอคุณหญิงแต่งงาน ผมเริ่มสร้างครอบครัวตอนอายุ 23 ปี เราทั้งสองมีทายาท 5 คน เป็นลูกชาย 3 คน และลูกสาว 2 คน

ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ให้ลูกชายเข้ามาทำงานในธุรกิจดั้งเดิมของเครือฯ ผมยังยืนยันเช่นนั้น สุภกิต ซึ่งเป็นลูกชายคนโต เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีมีเพื่อนฝูงมากมาย เขาเป็นคนดีคนที่รู้จักต่างก็ชอบเขาสุภกิต รับผิดชอบดูแล “ทรู วิชั่นส์” (True Visions ธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก) ตั้งแต่เริ่มต้นปัจจุบันสุภกิตยังดูแลการลงทุนขนาดใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนอีกด้วย

ณรงค์ ลูกชายคนที่สอง เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงมาก ผมมอบหมายงานขยายธุรกิจโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ตในจีน ให้เขาดูแล แต่จากการที่เขาไม่มีอำนาจบริหารงานอย่างเต็มที่ ทำให้แนวคิดหลายอย่างไม่ได้นำไปใช้ปฏิบัติจริง ธุรกิจจึงยังขยายไม่ได้ตามเป้าหมายที่เขาวางไว้ แม้ณรงค์จะประสบกับปัญหาอุปสรรค และความยากลำบากในการทำงานเพียงใด ก็ไม่เคยท้อแท้ หรือบ่นให้ผมได้ยินแม้แต่น้อย

ศุภชัยลูกชายคนที่สาม เดิมทีเขาเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตพีวีซี ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทของเบลเยี่ยม ต่อมาศุภชัยได้รับการโอนย้ายให้มารับผิดชอบธุรกิจโทรคมนาคมของเครือฯ โดยผมให้เริ่มจากโทรศัพท์พื้นฐาน (โทรศัพท์บ้าน) เพื่อตั้งต้นเรียนรู้ขึ้นไปทีละขั้น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ.2540 ธุรกิจโทรคมนาคมของเราได้รับผลกระทบเช่นกัน ธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งที่ศุภชัยเข้าไปเจรจาเรื่องแผนการปรับปรุงธุรกิจจนเกิดความเชื่อมั่นได้เสนอแนะให้ศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ซึ่งต่อมาธุรกิจนี้ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้และพัฒนาเติบโตกลายเป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นในทุกวันนี้

สำหรับแนวทางการสืบทอดธุรกิจ ผมได้ปรึกษากับพี่ชายทั้งสามคนแล้ว และกำหนดแนวทางคร่าวๆ ไว้ว่าขั้นตอนแรกผมจะดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้สุภกิตดำรงตำแหน่งประธานและศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอ โดยระหว่าง 10 ปีที่ถัดจากนี้ไป เราต้องสร้างว่าที่ซีอีโอคนใหม่ของเครือฯ ขึ้นมารับช่วงต่อ ผมคิดว่าผู้บริหารระดับสูงควรมีวาระการบริหารงานที่ระยะเวลา 10 ปีจะเหมาะสมที่สุด เพราะ 5 ปีนั้นอาจสั้นเกินไป แต่หลังจาก 10 ปี ผมก็จะลงจากตำแหน่งประธานอาวุโส สุภกิตซึ่งเป็นลูกชายคนที่หนึ่งก็จะมารับตำแหน่งประธานอาวุโสแทนผม ส่วนศุภชัยลูกชายคนที่สาม ก็จะมาดำรงตำแหน่งประธานของเครือฯ ตำแหน่งซีอีโอที่ว่างลงหลังจากศุภชัยพ้นวาระ ก็จะมีผู้บริหารคนใหม่มาดำรงตำแหน่งต่อไป

เมื่อเล่าถึงครอบครัว ผมอยากจะขอกล่าวถึงท่านเจี่ย เอ็กชอ คุณพ่อของผม ซึ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนนั้น คุณพ่อสูญเสียกิจการทุกอย่างในประเทศจีน ท่านต้องอาศัยอยู่ในฮ่องกงและสิงคโปร์ ส่วนผมอยู่ในประเทศไทย จึงมีโอกาสพบคุณพ่อน้อยมาก แต่ทุกครั้งที่ได้พบกัน ท่านจะถ่ายทอดข้อคิดดีๆ ให้ผมฟังอยู่เสมอ ซึ่งช่วยจุดประกายความคิดให้ผมนำไปต่อยอดได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งหลังจากท่านเติ้ง เสี่ยวผิงได้กลับมามีอำนาจทางการเมือง ทำให้การติดต่อระหว่างคนไทยกับคนจีนกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งช่วงแรกของการปฏิรูปเศรษฐกิจ และเปิดประเทศจีนนั้นคุณพ่อได้แนะนำและพาผมกลับไปประเทศจีน เพื่อปรึกษาหารือการเข้าไปทำธุรกิจในจีน ช่วงเวลานั้นคุณพ่อซึ่งมีอายุมากแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และท่านผู้ซึ่งเคยเผชิญทั้งมรสุมแห่งชีวิตและในด้านความสำเร็จ ก็ได้เสียชีวิตบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ในปี พ.ศ.2526

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: