ตอนที่ 26 : ตัดสินใจฉับไว…ซีพีจับมืออิโตชู
สุภาษิตจีนที่ว่า “เทียนสือ ตี้ลี่ เหรินเหอ” มีความหมายว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ความพร้อมของเงื่อนเวลา สถานที่ และบุคคล” เรื่องราวความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และอิโตชู (Itochu) ช่วยสะท้อนถึงความหมายของสุภาษิตนี้ได้เป็นอย่างดี
ในเดือนมกราคม พ.ศ.2556 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ซื้อหุ้นจำนวน 15.6% ของบริษัท ผิงอันประกันภัย จำกัด (Ping An Insurance (Group) Company of China, Ltd. บริษัทด้านประกันภัยแห่งแรกและใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน ปัจจุบันแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ด้าน คือ การประกันภัย การธนาคาร และ การลงทุน) การเข้าซื้อหุ้นผิงอันก็เพื่อมุ่งขยายและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจด้านการเงินของเครือฯ
ตอนนั้นมีผู้บริหารที่รับผิดชอบกิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในจีนได้บอกว่าอยากแนะนำคนๆ หนึ่งให้ผมรู้จัก บุคคลที่เขาหมายถึงก็คือ มร. มาซาฮีโร่ โอกาฟูจิ (Mr.Masahiro Okafuji) ประธานของอิโตชู คอร์ปอเรชั่น (Itochu Corporation บริษัทด้านการค้าชั้นนำของญี่ปุ่น) ผมได้ฟังเรื่องราวตอนที่บริษัทต่างๆ ด้านสิ่งทอในญี่ปุ่นกำลังทยอยเลิกกิจการ แต่ประธานโอกาฟูจิ กลับสามารถทำกำไรในธุรกิจสิ่งทอได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมและสนใจประสบการณ์การทำธุรกิจของท่านเป็นอย่างมาก เพียงแต่ตอนนั้น เครือฯ และอิโตชูยังไม่มีความร่วมมือทางธุรกิจกันมากนัก ทั้งสองฝ่ายจึงยังไม่มีโอกาสได้พบปะกัน
เวลาผ่านไปครึ่งปี เราไม่ละความพยายามที่จะขอสานสัมพันธ์กับอิโตชูอย่างต่อเนื่อง และจุดเปลี่ยนได้มาถึงในช่วงกลางเดือนตุลาคม เมื่อผมเดินทางไปโตเกียวและได้มีโอกาสร่วมรับประทานอาหารกลางวันมื้อสำคัญกับ มร.โอกาฟูจิ ซึ่งจังหวะที่เราได้จับมือทักทายกัน ความรู้สึกบอกผมทันทีว่า “การได้ร่วมทำธุรกิจกับท่านผู้นี้ จะไม่มีปัญหาแน่นอน” การพบกันครั้งแรกนั้น ผมได้แสดงเจตจำนงอย่างจริงใจกับ มร.โอกาฟูจิว่า “เครือฯ หวังว่าจะมีโอกาสได้ถือหุ้นบริษัทอิโตชูเพื่อเป็นพันธมิตรธุรกิจที่เติบโตไปด้วยกัน”
มร. โอกาฟูจิ ตอบข้อเสนอของผมว่า “ถ้าอิโตชูสามารถถือหุ้นในเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ด้วย เท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ร่วมลงทุนในบริษัทของกันและกัน ผมจะลองพิจารณาดู” ในอดีตผมเคยรู้จักผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นหลายท่าน แต่กับการพบกันเพียงครั้งแรกแล้วสามารถบรรลุสู่ความร่วมมือทางธุรกิจก็คงมี มร.โอกาฟูจิ ที่เป็นท่านแรก ในที่สุดเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2557 ทั้งสองฝ่ายจึงได้ลงทุนร่วมกัน โดยเครือฯ ซื้อหุ้นของอิโตชูจำนวน 4.9% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท ขณะที่อิโตชูก็ได้ซื้อหุ้นของบริษัทในเครือฯ คือ บริษัท ซีพีโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพีพี (C.P. Pokphand : CPP) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง จำนวน 25% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 27,200 ล้านบาท
ธนินท์ เจียรวนนท์
การร่วมลงทุนข้ามชาติครั้งนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาไปอีกขั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นอยู่ในภาวะอิ่มตัว ไม่มีความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น บริษัทญี่ปุ่นจึงไม่มีช่องทางที่จะขยายตลาดเพิ่มได้มากนัก ผมจึงได้แนะนำให้ อิโตชูลงทุนในบริษัทซิติก (CITIC Limited) ประเทศจีน เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในตลาดจีนและตลาดอาเซียนให้มากขึ้น
กลุ่มซิติก (CITIC Group) เป็นบริษัทที่จัดตั้งตามคำแนะนำของท่านเติ้งเสี่ยวผิงตั้งแต่ยุคปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศจีนในช่วงแรกๆ และยังเป็นบริษัทที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปและการเปิดประเทศจีนอีกด้วย ประธานโอกาฟูจิของอิโตชู เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น และมีความกล้าที่จะปฏิรูปและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจลงทุนในบริษัทซิติกไม่ได้เป็นเพียงแค่การลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลกว่า 10 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3.39 ล้านล้านบาท)เท่านั้น แต่ยังต้องได้รับการอนุมัติเป็นพิเศษจากรัฐบาลจีนด้วย มร.ฉาง เจิ้นหมิง (Chang Zhenming) ประธานของกลุ่มซิติก ได้ช่วยอธิบายให้รัฐบาลกลางของจีนได้เข้าใจ จึงอนุมัติการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์และอิโตชูในบริษัทซิติก ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ 1.เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นบริษัทข้ามชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน และ 2.อิโตชู เป็นบริษัทที่ทำการค้ากับจีนมายาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและญี่ปุ่น ในปีพ.ศ.2515 โดยท่านโจว เอินไหล (Zhou Enlai) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของจีนในสมัยนั้น ได้เคยกล่าวยกย่องอิโตชูว่าเป็น “บริษัทการค้าที่มีความสัมพันธ์ฉันมิตร” (Friendly Trading House)
เดือนมกราคม พ.ศ.2558 บริษัทชั้นนำของทวีปเอเชียสามบริษัท อันได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประเทศไทย อิโตชู คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และ กลุ่มซิติก ประเทศจีน ได้ประกาศการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วทวีปเอเชีย เครือฯ และอิโตชูร่วมกันลงทุนด้วยเงินจำนวน 1.2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 406,700 ล้านบาท)เข้าถือหุ้นจำนวน 20% ของกลุ่มซิติก ทำให้อิโตชูมีรากฐานทางธุรกิจที่เข้มแข็งในตลาดจีนและอาเซียน
ทั้งสามบริษัทต่างก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคืออิโตชูเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น มีระบบโลจิสติกส์และเครือข่ายธุรกิจทั่วโลกที่มีมาตรฐานระดับสากล อีกทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยบุคลากรที่มีความสามารถอีกด้วย ส่วนเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่การเกษตรจนถึงการแปรรูปอาหารสู่โต๊ะอาหาร (from farm to table) มีรูปแบบการค้าปลีกที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอีกมากมาย ในขณะที่กลุ่มซิติกก็เป็นบริษัทด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดของจีน และยังประกอบธุรกิจอีกหลากหลายประเภท มีเครือข่ายธุรกิจกระจายไปทั่วประเทศจีน การผนึกกำลังของพันธมิตรทั้งสามบริษัท ทั้งด้านทรัพยากรและเครือข่ายทางธุรกิจได้ช่วยเสริมจุดเด่น และเติมเต็มช่องว่างให้กันและกัน นับเป็นการรวมตัวที่แข็งแกร่ง และสร้างเวทีทางธุรกิจในระดับโลกให้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้น