ตอนที่ 2 : ‘ดุสิตธานี’ ทำไมต้องเปลี่ยน
ครั้นเมื่อนึกถึง โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ หลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึงเพียงแค่โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนสีลม หรือนึกถึงยอดโดมสูงตระหง่านเหนือชั้นที่ 22 ของโรงแรมที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นชื่อว่า เป็นโรงแรมที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่หลายคนอาจจะนึกถึงนาม “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ที่ชวนให้ระลึกถึงในฐานะผู้ก่อตั้ง
ผ่านเวลาเกือบ 50 ปีของ “ดุสิตธานี กรุงเทพฯ” เปลี่ยนผ่านจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ สู่การบริหารงานของทายาทอย่าง “ชนินทธ์ โทณวณิก” จนถึงวันนี้วันที่ “ดุสิตธานี” ถูกขับเคลื่อนภายใต้การบริหารงานของมืออาชีพอย่าง “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี และในฐานะ “คนนอก” ที่ไม่ใช่ “แฟมิลี่” เป็นครั้งแรก
ความน่าติดตามอยู่ตรงที่การก้าวเข้ามาของ “ศุภจี” ที่พอเหมาะพอดีกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ “ดุสิตธานี กรุงเทพฯ” กำลังจะพลิกโฉมเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม หรือ Mixed Use ที่ผสมผสานระหว่างโรงแรม อาคารที่พักอาศัย และโครงการอาคารศูนย์การค้า ด้วยงบลงทุนกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย
คำถามคือ หรือมืออาชีพอย่าง “ศุภจี” จะเป็นต้นเรื่องว่า ถึงเวลาที่ดุสิตธานีต้องเปลี่ยน !
“ก่อนเข้ามารับหน้าที่ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดิฉันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) อยู่แล้ว ซึ่งก็รับทราบมาโดยตลอดว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะดำเนินโครงการนี้อยู่แล้ว ดังนั้น โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องน่าเซอร์ไพร์ส ที่เพิ่งจะเริ่มคิดทำในกลับกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นโครงการที่ท้าทายมากๆ” ศุภจีไขข้อข้องใจประการแรก
เธอบอกด้วยว่า แผนของดุสิตธานีในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน เกิดขึ้นหลังจากที่ดินขนาดเกือบ 19 ไร่ของโรงแรม กำลังจะหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเดือนมีนาคม 2561 แต่ที่ดินบริเวณริมถนนพระราม 4 ซึ่งติดกับโรงแรม จะหมดสัญญาเช่าลงก่อน ดุสิตธานีจึงมองเห็นศักยภาพในการพัฒนาที่ดินทั้งผืน ซึ่งมีขนาดรวมกัน 23 ไร่ 2 งาน 27.2 ตารางวา ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับทำให้ “ดุสิตธานี” กลับมาเป็นสัญลักษณ์ของถนนสีลมอีกครั้ง หลังจากเปิดให้ดำเนินการมาเกือบ 50 ปี
ศุภจี เชื่อว่า โครงการใหม่นี้ จะไม่ได้ยังผลเฉพาะการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการสร้างภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ที่ต้องผสมผสานทั้งความเป็นย่านใจกลางธุรกิจ ความเป็นพื้นที่สีเขียวที่ต่อเนื่องจากสวนลุมพินี และที่ดินที่ต่อเนื่องกันทั้งผืนนี้ ยังอาจสามารถจะช่วยเปิดให้มีทางเข้าออกหลายทาง เชื่อมต่อทั้งถนนพระราม 4 ถนนสีลม รวมถึงซอยศาลาแดงที่จะทะลุผ่านไปยังถนนสาทร ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน
“ในช่วงแรกที่มีข่าวออกไป ก็มีหลายคนแสดงความรู้สึกเสียดายตัวสถาปัตยกรรมของโรงแรม ซึ่งเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มาเป็นเวลายาวนานถึง 47 ปีเต็ม ซึ่งดิฉันเองก็เป็นหนึ่งในคนที่มีความรู้สึกผูกพันกับโรงแรมดุสิตธานีมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลกมีความหลากหลายมิติ และมีความรวดเร็วมากขึ้น โรงแรมดุสิตธานีที่เคยได้สร้างชื่อเสียงในฐานะแบรนด์ของคนไทยที่สามารถเทียบเคียงกับโรงแรมอื่นๆ ในระดับโลก ก็ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์นี้ด้วย ทำให้เรามีความจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อที่จะยืนหยัดรักษาชื่อเสียงแบรนด์ของคนไทยให้ได้อย่างน่าภาคภูมิเหมือนในอดีตที่เคยเป็นมา ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอาคารโรงแรมฯ ซึ่งได้ถูกสร้างมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้โครงสร้างและรากฐานเดิมมีข้อจำกัด ในการที่จะพัฒนาและปรับปรุงอาคารให้รองรับกับมาตรฐานใหม่ๆ เช่น การเป็นอาคารประหยัดพลังงาน และการเกิดขึ้นใหม่ของระบบขนส่งต่างๆ เช่น ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น เราจึงต้องมีการสร้างโรงแรมฯ ขึ้นมาใหม่ แต่เราจะยังยึดการออกแบบ ซึ่งยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของดุสิตธานีเอาไว้ โดยผสมผสานความทันสมัยและมาตรฐานในระดับสากลเข้าไปด้วย เพื่อรองรับตำนานบทใหม่ของดุสิตธานีต่อไปอีกกว่า 60 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เราจะนำศิลปกรรมและชิ้นส่วนสำคัญของอาคารบางส่วนมาเป็นส่วนประกอบของโรงแรมดุสิตธานีที่กำลังจะสร้างใหม่ด้วย เพื่ออนุรักษ์จิตวิญญาณและกลิ่นอายของดุสิตธานีให้ยังคงอยู่ต่อไป”
ส่วนอีก 2 เรื่องที่มีผู้คนสงสัยใคร่รู้มากเหลือเกิน คือ หนึ่ง ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ รายได้ของโรงแรมจะหายไป ส่วนนี้จะกระทบกับผลประกอบการของดุสิตธานีอย่างไร และสอง คือ การจัดการพนักงานที่มีจำนวนกว่า 500 คน
ศุภจี ไขประเด็นแรกในเรื่องของรายได้ โดยระบุว่า เธอพยายามอย่างที่สุดที่จะให้การดำเนินการให้ส่วนของโรงแรมนั้นใช้เวลาสั้นที่สุด โดยกำหนดเงื่อนเวลาในการปรับปรุงไว้ 3 ปี
“เราได้วางแผนรองรับไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแผนดังกล่าว ได้ถูกวางไว้อย่างรอบคอบและรัดกุม จากที่ปรึกษาด้านต่างๆ ทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย และที่ปรึกษาทางภาษีวางแผน โดยจะมีการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากโครงการอื่นๆ และการได้รับผลตอบแทนจากการร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ ของบริษัท เพื่อที่จะชดเชยกับฐานะการเงินของบริษัทในระหว่างที่มีการปรับปรุงกิจการ ฯ ส่วนการดูแลพนักงาน ยืนยันว่า จะไม่มีพนักงานของดุสิตธานีตกงานแม้แต่คนเดียว เพราะตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการใหม่ เราได้จัดสรรกำลังพนักงานให้รับผิดชอบงานในส่วนต่างๆ ที่ยังดำเนินต่อไปไว้หมดแล้ว และเรามีความหวังอย่างมากที่จะเห็นพนักงานของดุสิตธานีจำนวนกว่า 500 คนในวันนี้ กลับมายืนเคียงข้างและอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในวันที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยกัน”
จะว่าไป ระยะเวลา 3 ปีสำหรับการปรับปรุงโรงแรม และอีกประมาณ 7 ปีสำหรับโครงการที่เหลือทั้งหมด ก็เป็นเวลาที่ไม่นานเกินไปสำหรับการรอคอยประวัติศาสตร์ใหม่ของ “ดุสิตธานี”