Auto

ตลาดรถยนต์ไทยปี 61…ขยายตัวต่อ 2-5%

ในช่วงปี 2560 ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยได้พลิกฟื้นกลับขึ้นมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังโครงการรถยนต์คันแรกสร้างผลกระทบต่อตลาด และทำให้ตลาดรถยนต์ไทยหดตัวหนักต่อเนื่องมาหลายปี ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยอดขายรถยนต์ปี 2560 นี้ จะปิดตัวเลขที่ประมาณ 860,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้เพียง 770,423 คัน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขยอดขายที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายคาดเอาไว้มาก

โดยแรงหนุนสำคัญนอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่ดีขึ้น และการปลดล็อกรถในโครงการรถคันแรกแล้ว น่าจะมาจากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่จำนวนมากตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยรถยนต์นั่งกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมากในปีนี้นำโดยรถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์นั่งอเนกประสงค์ และรถยนต์นั่งหรู เนื่องจากมีรถรุ่นใหม่ๆในกลุ่มนี้ออกมาหลายรุ่น ประกอบกับมีการเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตลาดรวมรถยนต์นั่งปี 2560 นี้ น่าจะขยายตัวได้กว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 390,000 คัน ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ปีนี้น่าจะทำได้ 470,000 คัน หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรถปิกอัพ 4 ประตูเป็นกลุ่มที่มียอดขายเติบโตดีที่สุดในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นประเภทรถที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อนิยมซื้อ ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการขออนุมัติสินเชื่อ

ปี 61 ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจแตะระดับ 900,000 คัน

หลังจากงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 34 ที่เป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งถึงภาวะตลาดในปีถัดไปจบลงด้วยยอดจองที่สูงถึง 39,832 คัน ซึ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับยอดจองในงานมหกรรมยานยนต์ในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตลาดรถยนต์ในประเทศน่าจะเริ่มเข้าสู่ทิศทางการฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นในปี 2561 หลังได้รับผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรกมาอย่างยาวนานหลายปี โดยในปี 2561 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดรถยนต์ในประเทศน่าจะสามารถทำตัวเลขยอดขายได้ 880,000 ถึง 900,000 คัน หรือ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2 ถึง 5 เมื่อเทียบกับปี 2560

โดยทิศทางการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2561 แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มไม่ฟื้นตัวดีขึ้น หลังคาดว่าผลผลิตจะออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มฐานรากยังคงมีแรงกดดัน ทว่าจากสถานการณ์ตลาดพบว่ามีหลากปัจจัยที่เริ่มบ่งชี้ให้เห็นทิศทางที่จะเป็นบวกต่อยอดขายรถยนต์ในปี 2561 มากขึ้น ได้แก่

• การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออกที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน

• การท่องเที่ยวในประเทศที่ยังคงขยายตัวจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจ e-commerce มีแนวโน้มเติบโตสูงส่งผลให้รายได้ภาคบริการเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการใช้การบริการขนส่งที่มากขึ้น

• ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวในปี 2561 เป็นผลเชิงบวกให้สถาบันการเงินไม่มีปัจจัยกดดันให้ต้องเพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ต้นทุนในการถือครองรถยนต์ของผู้ซื้อก็ไม่มีแรงผลักให้ต้องเพิ่มขึ้นจากปีก่อนด้วย

• ผู้ซื้อรถยนต์จำนวนมากในโครงการรถคันแรกที่ถือครองมาจนครบกำหนดมากกว่า 5 ปี ในปี 2561 นี้ มีโอกาสที่จะทยอยขายรถยนต์ในโครงการเพื่อเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งถือครองรถยนต์มานานกว่า 7 ปีแล้ว เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2554

• ทิศทางการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ที่คาดว่าจะมีเปิดตัวออกมาหลายรุ่น โดยเฉพาะประเภทรถยนต์นั่งหลากหลายขนาด รวมถึงรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ที่กำลังได้รับความนิยม ขณะที่ค่ายรถต่างยังคงมีแนวโน้มการใช้กิจกรรมส่งเสริมการตลาดออกมาต่อเนื่อง เช่น การปรับลดราคารถยนต์ในบางรุ่น ทำให้การแข่งขันในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูง

ซึ่งจากทิศทางตลาดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 มีแนวโน้มที่เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศมากกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าเกษตรที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีมุมมองต่อตลาดรถยนต์นั่งปี 2561 ว่าน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้สูงกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ โดยคาดว่ารถยนต์นั่งน่าจะทำยอดขายได้ที่ประมาณ 400,000 ถึง 410,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 3 ถึง 5 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยประเภทรถที่มองว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดน่าจะอยู่ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ ขณะที่รถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า จะเป็นรถยนต์อีกประเภทที่จะมีลูกเล่นการแข่งขันที่มากขึ้นในปี 2561 ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์คาดว่าจะมียอดขายที่ประมาณ 480,000 ถึง 490,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 2 ถึง 4 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยรถปิกอัพ 4 ประตู จะยังคงเป็นประเภทรถที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่ารถประเภทอื่นๆเช่นเดียวกันกับปี 2560

กระแสตอบรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าปี 61 บ่งชี้แนวโน้มตลาดอนาคต
ตลอดช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการรับรู้ของผู้บริโภคต่อรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตามระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ประเภทดังกล่าวยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และมีต้นทุนสูงในการลงทุน ทำให้ปัจจุบันรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวมีวงจำกัดอยู่เฉพาะแต่ในประเภทรถยนต์นั่งราคาแพง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ซื้อเป็นกลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและเปิดรับต่อเทคโนโลยีใหม่ได้ง่าย เนื่องจากมีทางเลือกในการใช้รถได้มากกว่า 1 คัน ในครอบครัว

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในช่วงปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 11,200 คัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 จากปี 2559 ที่คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 7,000 คัน โดยสาเหตุหลักเป็นผลจากการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของยอดขายรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจากเดิมที่มีสัดส่วนประมาณกว่าร้อยละ 40 ของยอดขายรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในปี 2559 มาเป็นร้อยละ 70 ในปี 2560 หรือคิดเป็นตัวเลขยอดขายรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดประมาณ 7,800 คันในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่ามีจำนวนประมาณไม่ถึง 3,000 คันในปี 2559 หรือขยายตัวสูงขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว

โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากค่ายรถที่ทำตลาดรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดมีแนวนโยบายผลักดันให้มีการใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถยนต์เป็นมาตรฐานใหม่ของค่ายมากขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ประกอบกับมีการขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์รุ่นดังกล่าวในไทย ทำให้ระดับราคาขายรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดปรับลดลง ขณะที่รถยนต์ไฮบริดที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มรถยนต์นั่งระดับราคาสูง ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฮบริดในปี 2560 มีทิศทางที่ลดลง

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอาจปิดที่ตัวเลข 3,400 คัน หดตัวจากปีที่แล้วกว่าร้อยละ 21 จากที่เคยทำยอดขายได้ 4,295 คันในปี 2559 อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ปี 2561 รถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าคาดว่าจะเข้ามาเปิดตัวในตลาดมากขึ้น โดยค่ายรถมีแผนจะทำการตลาดในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์อเนกประสงค์มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นในกลุ่มรถประเภทดังกล่าว โดยประเภทรถยนต์ที่จะเข้ามาสร้างสีสันในตลาดปีหน้า ได้แก่

 รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์อี-เพาเวอร์ โดยค่ายรถมีแนวโน้มจะวางแผนการขายให้ครอบคลุมประเภทรถยนต์ที่หลากหลายขึ้น และเน้นขยายสู่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ทำให้ผู้บริโภคสามารถจับจองเป็นเจ้าของรถยนต์ประเภทดังกล่าวง่ายขึ้นกว่าเก่าในวงกว้าง ด้วยระดับราคาที่เข้าถึงได้มาก หลังค่ายรถขอรับการส่งเสริมการลงทุนและเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าวอย่างจริงจัง ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการทำตลาดยิ่งขึ้น เช่น ระดับภาษีสรรพสามิตที่ต่ำลงมากเหลือเพียงร้อยละ 4

 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ บางค่ายรถจะมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เข้ามาทำตลาดด้วย เพื่อเป็นการรุกชิงส่วนแบ่งตลาดใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำตลาดมาก่อน โดยทางค่ายรถมีแนวคิดในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออยู่แล้ว ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ค่อนข้างมาก เช่น การไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ารถยนต์สำหรับทดลองตลาดในช่วง 1 ถึง 2 ปีแรกจำนวนหนึ่ง และการที่ภาษีสรรพสามิตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น โดยผลจากปัจจัยดังกล่าวน่าจะทำให้ค่ายรถมีโอกาสที่จะสามารถตั้งราคาขายในระดับที่ดึงดูดตลาดได้พอสมควร ซึ่งหากราคารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ตั้งออกมานั้นอยู่ในระดับที่จับต้องได้มาก ก็น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการรับรู้ของผู้บริโภคต่อเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ และผลักดันทำให้ค่ายรถอื่น เป็นต้น มองเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น

 รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ในช่วงแรกยังคงเน้นอยู่ในกลุ่มรถยนต์หรูโดยค่ายซึ่งทำการตลาดอยู่แล้วในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะขยายให้ระบบปลั๊กอินไฮบริดเข้าไปเป็นระบบขับเคลื่อนมาตรฐานของรถยนต์ในค่ายมากขึ้น

อนึ่ง สำหรับอนาคตรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากตลาดตอบรับต่อรถยนต์ประเภทดังกล่าวดี ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแต่ละรูปแบบจะค่อยๆเพิ่มสัดส่วนการเป็นระบบขับเคลื่อนมาตรฐานของรถยนต์แทนการใช้เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ที่แต่ละค่ายจะเปิดตัวในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ และแม้แต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้ดีในไทย เมื่อสถานีชาร์จไฟฟ้ามีกระจายตัวอยู่อย่างเพียงพอ และแบตเตอรี่มีการพัฒนาความสามารถในการเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 นี้ คาดว่าผู้บริโภคน่าจะเริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดค่อนข้างมาก อันจะบ่งชี้ไปถึงทิศทางตลาดรถยนต์ไทยในอนาคตด้วย โดยหากกระแสตอบรับต่อรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าออกมาดี โดยมีปัจจัยด้านราคาจำหน่ายรถยนต์เป็นตัวกำหนดทิศทางที่สำคัญ ก็น่าจะทำให้อนาคตของตลาดรถยนต์ประเภทดังกล่าวเติบโตต่อไปได้อย่างดีด้วย ส่งผลต่อเนื่องไปถึงธุรกิจสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าที่น่าจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยหลายฝ่ายเองก็ได้มีแผนงานด้านนี้เตรียมไว้อยู่แล้วดังข่าวที่มีมาเป็นระยะในช่วงตลอดปี 2560 และสำหรับการคาดการณ์ต่อตลาดรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าโดยรวมแล้วน่าจะมีโอกาสเติบโตค่อนข้างมากและทำยอดขายรวมได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คัน หรือขยายตัวมากกว่า 1.7 เท่า จากปี 2560

โดยรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์อี-เพาเวอร์ ถือครองสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของตลาดรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ารวม เนื่องจากในปี 2561 จะมีการเปิดตัวรถยนต์ในกลุ่มนี้ออกมาหลายรุ่นด้วยระดับราคาที่จับต้องได้มากขึ้น ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจะยังคงเน้นอยู่ในกลุ่มตลาดรถยนต์หรูต่อเนื่องจากปี 2560 ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดรองลงมา ด้านรถพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่นั้นเป็นรถยนต์ประเภทใหม่ที่เพิ่งเริ่มสร้างการรับรู้จากตลาดในวงกว้าง ส่งผลให้มีส่วนแบ่งยอดขายที่ต่ำที่สุด ซึ่งตลาดรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ารวมที่เติบโตขึ้นดังกล่าวจะทำให้กลายมามีสัดส่วนยอดขายมากกว่าร้อยละ 3 ของตลาดรถยนต์รวมปี 2561 จากที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศรวมปี 2560

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: