IT & Digital

“ดีแทค” โล่งคว้าคลื่น 2300 พร้อมให้บริการ 4G

สร้างความโล่งใจให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการค่ายใบพัดสีฟ้าอย่างดีแทค เมื่อช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายจับตามองมาท่าทีความเคลื่อนไหวกับคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปีนี้ ซึ่งทางดีแทคถือครองคลื่นดังกล่าวรวม 35 MHz (แบ่งเป็น 10 MHz และ 25 MHz ตามลำดับ) ซึ่งเมื่อหากหมดช่วงเวลาสัมปทานคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว ดีแทคจะสามารถสรรหาหาคลื่นจากที่ไหนมารองรับและให้บริการลูกค้าเพิ่มเติมจากคลื่น 2100 MHz ที่เหลืออยู่เพียง 15 MHz ใช้งานได้ถึงปี 2570

ล่าสุด วันนี้ (23 เมษายน 2561 ) บมจ.ทีโอที และ เทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มดีแทค ไตรเน็ต พร้อมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 MHz อย่างเป็นทางการเรียบร้อย เพื่อเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz บนแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดถึง 60 MHz เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก เป็นประโยชน์ให้กับประเทศในการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรีที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการใช้งานดาต้าที่เติบโตรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนของ ทีโอทีด้วย

ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีระยะเวลาถึงปี พ.ศ. 2568 บมจ.ทีโอที จะเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากเทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดีแทค ไตรเน็ต เพื่อนำมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access, BWA) ทั้งบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (Capacity) ทีโอที ได้นำมาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า และตอบสนองนโยบายของรัฐ และความจุโครงข่าย (Capacity) อีกส่วนหนึ่ง จะนำมาให้บริการแก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในรูปแบบของการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) โดย ทีโอที จะมีรายได้จากการให้บริการโรมมิ่งปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า จากแนวนโยบาย แผนการบริหารและมาตรการต่างๆ ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดให้คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที กำกับดูแลให้ ทีโอที ดำเนินงานตามแผนพลิกฟื้นองค์กร ด้วยการจัดทำ “แผนดำเนินงานที่ใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” จนมาถึงวันนี้ได้นั้น ทีโอที ได้รับความอนุเคราะห์และความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ทีโอที ขอขอบคุณ กสทช. ที่อนุญาตให้ ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ใช้งานอยู่เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำมาให้บริการเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ ภายใต้แผนการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz และที่สำคัญ คือ ทีโอที ต้องขอขอบพระคุณสำนักงานอัยการสูงสุดที่กรุณาให้ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างสัญญาจนสมบูรณ์เป็นอย่างดี

จากผู้สนใจ 6 รายที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นพันธมิตรคู่ค้าบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาอย่างโปร่งใส รัดกุม ทุกขั้นตอนโดยทีมงานที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการสรรหาคู่ค้าระดับโลก ซึ่งก็คือ บริษัท เดเทคอน และไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ ที่เริ่มกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2559 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการสรรหาคู่ค้าอย่างละเอียด ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ผลงาน รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา และตลอดจนผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ ทีโอที มั่นใจได้ว่า พันธมิตรคู่ค้าที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ปรึกษาจะส่งเสริมการทำธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริการไร้สายของ ทีโอที ในระยะยาว และสร้างหลักประกันด้านการเงินให้กับ ทีโอที ได้เป็นอย่างดี

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ความร่วมมือกับทีโอทีนี้มีนัยสำคัญมากต่อการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของคนไทยและการพัฒนาประเทศ เพราะเราได้นำคลื่น 2300 MHz ที่มีความกว้างที่สุดถึง 60 MHz มาเพิ่มคุณภาพบริการ และพลิกประสบการณ์การใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคที่จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ลื่นขึ้นมากกว่าเดิม การนำคลื่น 2300 MHz มาเปิดให้บริการครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้อยู่ในอันดับผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยกระตุ้นกระบวนการการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล

โครงข่าย 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้งานทรัพยากรคลื่นความถี่ด้วยเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) ในทางเทคนิค TDD คือการใช้งานคลื่นความถี่แบนด์เดียวทั้งรับและส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน จึงทำให้เพิ่มศักยภาพการรองรับรูปแบบการใช้งานดาต้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากการรายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA Intelligence การขยายโครงข่าย LTE-TDD ของผู้ประกอบการทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยคาดว่า TDD จะมีสัดส่วนทั่วโลกถึง 22% ในปี พ.ศ. 2563

อย่างไรก็ตาม ดีแทคประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2561 มีการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างแข็งแกร่ง โดยมี EBITDA อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้น 8.9 percentage points จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ลดลงเล็กน้อย 1.1% ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดบริการสื่อสารไร้สาย รายได้จากบริการระบบรายเดือนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ตลาดบริการระบบเติมเงินยังคงเผชิญกับความท้าทาย ดีแทคได้เปิดตัวแคมเปญ “ใจดี” เสริมสร้างความคุ้มค่าผ่านทางลอยัลตี้โปรแกรม เพื่อรักษาฐานลูกค้าและดึงดูดลูกค้าใหม่

บริษัทมีฐานลูกค้ารวมเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 1อยู่ที่ 21.8 ล้านเลขหมาย โดยประมาณ 98% ลงทะเบียนใช้งานภายใต้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 2.1 GHz จาก กสทช. ดีแทคยังคงพัฒนาเครือข่าย 4G บนคลื่น 2100 MHz อย่างต่อเนื่อง โดยได้ติดตั้งเสาส่งสัญญาณและสถานีฐานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการสิ้นสุดของสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 โดยดีแทคมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่องโดยไม่มีผลกระทบ ไม่ว่าการประมูลคลื่นความถี่จากสัมปทานเดิมที่หมดอายุลง จะถูกจัดขึ้นเมื่อไร นอกจากนี้ การร่วมเป็นพันธมิตรกับทีโอทีในการให้บริการบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 MHz จะส่งผลให้เครือข่าย 4G ของดีแทคมีแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดในตลาด พร้อมรองรับความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่สูงขึ้น และเสริมสร้างประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายของลูกค้าบนโครงข่ายดีแทค ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 94% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยในช่วงไตรมาส 1/2561 จำนวนผู้ใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.5 ล้านเลขหมาย และสัดส่วนผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาที่ 55%

แม้ว่ารายได้รวมจะลดลงในไตรมาส 1/2561 แต่ EBITDA เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาอยู่ที่ 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการลดลงของค่าธรรมเนียม การอุดหนุนค่าเครื่อง และค่าใช้จ่ายในการขายและดำเนินการ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายเครือข่ายภายใต้ระบบใบอนุญาต

กำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้น 474% มาอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของ EBITDA และการปรับปรุงการตั้งสำรองสำหรับกรณีข้อพิพาทในเรื่องส่วนแบ่งรายได้กับ กสท นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินการ (EBITDA- CAPEX) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,800 ล้านบาท และอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 0.6 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 1.7x และเงินสดในมืออยู่ที่ 29,500 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจลงทุนในอนาคตของดีแทค

ดีแทคยังคงประมาณการทางการเงินสำหรับปี 2561 ไว้ในระดับเดิม โดยคาดการณ์ว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวม IC) จะใกล้เคียงกับปีก่อน EBITDA margin จะอยู่ในช่วง 34% – 36% และ CAPEX จะอยู่ระหว่าง 15,000 -18,000 ล้านบาท

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: