ดร.เทียม โชควัฒนา (ตอนที่ 35)
บันทึกความทรงจำ ดร.เทียม โชควัฒนา
หลายท่านที่ได้อ่านบันทึกความทรงจำของข้าพเจ้า อาจมีแง่คิดว่า ข้าพเจ้าบันทึกเรื่องทั้งหมดนี้เพราะอะไร และเรื่องราวเหล่านั้นทำไมถึงได้เกิดขึ้นในเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เป็นเช่นนั้น ซึ่งก่อให้เกิดเหตุและผล ความสำเร็จหรือล้มเหลว บทเรียนหรือข้อเตือนใจ
เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กอายุเกิน 10 ปี ไม่มากก็น้อย ข้าพเจ้าตระหนักว่าข้าพเจ้ามีความรักในตัวคุณพ่อ ความรักนั้นมากพอที่จะยอมลาออกจากโรงเรียนเพื่อจะได้ช่วยท่านค้าขาย ตอนนั้นปี พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุด มีข่าวปรากฏให้หวาดหวั่นว่า แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลต้องเอาสินค้าที่ล้นตลาดเพราะประชาชนขาดกำลังซื้อ ไปเผาหรือทิ้งทะเล เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตที่เป็นชาวไร่ชาวนา ความตกต่ำทางเศรษฐกิจในตอนนั้น ทำให้เกิดระบบสินค้าแบบผ่อนส่งขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ข้าพเจ้าเป็นคนมีความรู้น้อย เมื่อออกมาช่วยงานคุณพ่อค้าขายในภาวะที่ตลาดซบเซา ข้าพเจ้าต้องทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่พนักงานขายไปจนถึงกุลีหรือจับกัง ต้องทำงานด้วยความอดทน และปลุกปลอบตนเองตลอดเวลาว่า เมื่อเรามีความรู้น้อย เราจะต้องไม่ย่อท้อ
เมื่อคนเราไม่มีพื้นฐาน เราก็ไม่อาจเกี่ยงงานในทุกหน้าที่ วันทั้งวัน เดือนทั้งเดือน มีแต่การทำงานหนักและการครุ่นคิดว่า วันนี้เราทำงานเต็มที่แล้วหรือยัง เราได้กำไรเท่าไหร่ ขาดทุนเท่าไหร่ เงินที่ได้เพียงพอสำหรับเงินเดือนและค่าใช้จ่ายในร้านหรือไม่
เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นพื้นฐาน เป็นประสบการณ์ที่การทำงานหนักให้เป็นบำเหน็จแก่ข้าพเจ้า และเป็นสิ่งที่ไม่อาจมีใครช่วงชิงไปได้
ว่ากันว่า สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ในช่วงเวลานั้นได้เกิดช่องว่างให้แก่ข้าพเจ้า ซึ่งมีความรู้น้อย แต่มีความอดทนมาก ได้สอดแทรกตนเองเข้าไป เพราะสงครามเกิดขึ้นหลายครั้ง ในยุโรป ในเอเชีย และสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความอดทนและสั่งสมพื้นฐาน ข้าพเจ้ามีโอกาสเหมือนกับคนอีกเป็นจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จจากสงคราม ทุกช่องว่ามีแต่คนได้ประโยชน์ ได้ผลกำไร ไม่เหมือนทุกวันนี้ ซึ่งทุกแห่งมีแต่การแข่งขันและเต็มเปี่ยมไปด้วยคนซึ่งประสบความสำเร็จอยู่แล้ว
ข้าพเจ้าบันทึกสิ่งทั้งหมดนั้น ด้วยความมุ่งหมายประการแรกคือ เตือนคนเองให้เข้าใจในความสำเร็จหรือล้มเหลว หรือบทเรียนเหล่านั้นให้กระจ่างขึ้น ความมุ่งหมายต่อมาเพื่อให้บุตรหลาน มิตรสหาย และผู้ใกล้ชิดข้าพเจ้า หากว่าเขาได้อ่าน เขาจะได้รู้ ได้เข้าใจข้าพเจ้าดียิ่งขึ้น ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องเห็นด้วย เพราะข้าพเจ้าปรารถนาเพียงให้เขาได้รับรู้เท่านั้น อื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ อยู่ที่วิจารณญาณของเขาเอง
ในบันทึกความทรงจำปี พ.ศ. 2516 นี้ ท่านที่อ่านอย่างละเอียดและพินิจพิเคราะห์จะเห็นว่า ข้าพเจ้าได้นำเอาเรื่องราวบางเรื่องมาพูดซ้ำ บางเรื่องก็เป็นการขยายความ และบางเรื่องมีการเท้าความถึงแง่มุมอื่น ๆ อยากจะให้ท่านเข้าใจว่า แง่มุมใหม่ที่นำมากล่าวถึงนั้น ก็เพื่อให้ท่านได้รับรู้ในทัศนะอื่นอันแตกต่างกัน เพื่อสร้างแนวคิดที่กว้างขวางออกไป การนำมากล่าวย้ำก็ด้วยเจตนาเพื่อทบทวน และบางเรื่องการกล่าวถึงก็เพื่อเตือนให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งนั้น เพราะข้าพเจ้าเชื่ออยู่ว่า บางสิ่งบางเรื่องเราไม่น่ากล่าวถึง บางสิ่งกล่าวถึงเพียงครั้งเดียวก็มากเกินไป และบางเรื่องการพูดถึงเพียงครั้งเดียวย่อมไม่เพียงพอ
การกล่าวย้ำของข้าพเจ้าในแต่ละเรื่องนั้น มีความหมายดังที่กล่าวมา อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับคนที่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ หรือไม่เกี่ยวข้อง แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นประโยชน์ เป็นความทรงจำส่วนตัวของข้าพเจ้า
ถ้าเราเป็นคนสังเกตภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก เราจะได้เห็นขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงดังนี้
ระหว่างปี พ.ศ. 2514-2515 เศรษฐกิจซึ่งอยู่ในภาวะทรุดโทรมอย่างหนักนั้น ได้ค่อย ๆ ปรับตัวพลิกฟื้นคืนขึ้นมาทั่วโลก ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังมีทีท่าว่าจะดีขึ้นในปี พ.ศ. 2516 ก็ได้วิกฤตการณ์ใหม่ขึ้นมาอีก นั่นคือ ภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ เป็นปัญหาที่กระทบกระเทือนด้านการผลิต ทำให้ต้องมีการแสวงหาและควบคุมการใช้วัตถุดิบอย่างจริงจัง แต่สภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นมานั้น ทำให้ไม่มีผลกระทบในด้านการค้ามากนัก แม้สินค้าจะปรับราคาขึ้นบ้าง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ แต่การบริโภคยังดำเนินไปตามปกติ
ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2518 เมื่อปัญหาวัตถุดิบลดลง ปัญหาการแข่งขันด้านการขายก็เกิดขึ้นแทนที่ เมื่อมีการแข่งขัน สภาพด้านการตลาดก็ตื่นตัวและนำมาซึ่งความเจริญเติบโตของผู้ประสบชัยชนะ เป็นปีแห่งความก้าวหน้าทั้งของเราและของคู่แข่ง การแข่งขันด้านการผลิตการขาย นำมาซึ่งหนทางไปสู่การผลิตสินค้าสู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่โตกว้างขวาง ทำให้เราต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อปรับปรุงตนเองอีกหลายด้าน และเริ่มทำงานแบบวางเป้าหมายงบประมาณอย่างจริงจัง
ข้าพเจ้านำสิ่งเหล่านี้มาบันทึก ก็เพราะอยากจะเน้นให้เห็นว่า การเติบโตของสรรพสิ่งนั้น เป็นไปอย่างมีขั้นตอนและขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ในขณะที่บันทึกความจำปี พ.ศ. 2514-2516 เตือนถึงปัญหา ข้อขัดแย้งและแนวทางเพื่อให้เป็นที่น่าจดจำ น่าใคร่ครวญ ในบันทึก พ.ศ. 2517-2521 เนื้อหาในเล่มเป็นการพูดถึงประสบการณ์ของตนเอง ในการประเมินคุณค่าต่าง ๆ อันเป็นขั้นตอนของความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะได้ประกอบกันเป็นมูลฐาน ทำให้ผู้สนใจเข้าใจสถานภาพอันเกิดขึ้นและเป็นไปแล้ว ได้ชัดเจนกระจ่างยิ่งขึ้น
คนซึ่งผ่านการทำงานมามากและยาวนาน บางทีอาจจะนานเกินไป ทางเดียวที่จะทำได้คือการนั่งมองคนรุ่นต่อมา ซึ่งวัยยังไม่อ่อนระโหย ยังเต็มไปด้วยเลือดเนื้อ ความคิดฝัน พละกำลังที่จะบากบั่นต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรค ไม่มีอะไรจะเป็นสุขเท่าการที่จะได้ใช้ประสบการณ์ของตนช่วยเหลือวเขาบ้าง ในยามที่เขาต้องการ ให้ความกระจ่างแก่เขาบ้างเมื่อเขาเกิดความสงสัย และช่วยปลอบประโลมใจเมื่อเขาท้อแท้
หน้าที่ของข้าพเจ้าในบั้นปลายน่าจะมีอยู่เพียงแค่นี้ การตัดสินใจในการบริหารต่าง ๆ นั้นเป็นเอกสิทธิ์และความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่และคณะผู้ร่วมงานของเขา
หนังสือบันทึกความจำของข้าพเจ้าเป็นประสบการณ์ทั้งหมดของคนคนหนึ่ง ซึ่งแน่ละ หากว่าจะเป็นประโยชน์ด้านใดบ้าง กับใครก็ได้ นั่นคือปีติสุขสูงสุดของข้าพเจ้า
จาก หนังสือบันทึกความทรงจำ
พ.ศ.2514, 2515, 2516 และ 2517-2521