difference-thinkingSpecial Scoop

ดร.เทียม โชควัฒนา (ตอนที่ 21)

ธนบัตรจีน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าได้ไปข้องเกี่ยวกับ “ธนบัตร” อย่างน่าใจหายใจคว่ำ หากมิใช่ธนบัตรไทยใบละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประกาศรับซื้อคืน แต่เป็นธนบัตรจีนจากประเทศจีน

เหตุที่เกิดเรื่องขึ้น เนื่องจากระหว่างสงครามโลก ประเทศจีนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นประเทศ 1 ใน 5 มหาอำนาจของโลก ทำให้ธนบัตรของจีนมีราคาและได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูง ใครต่อใครต่างซื้อเก็บตุนไว้ โดยมีความเชื่อมันว่าธนบัตรของผู้ชนะสงครามย่อมมีค่าสูงเสมอ

พ่อค้าจีนในเมืองไทยประมาณร้อยละ 89 มีความเชื่อมั่นและทุ่มเงินซื้อธนบัตรจีน บางคนเอาทรัพย์สินไปจำนอง เอาเงินมาซื้อกักตุนธนบัตรจีน

การที่คนนิยมเล่นมาก เพราะศรัทธาความเป็นมหาอำนาจของประเทศจีน คนส่วนใหญ่ล้วนถูกชักจูงให้มองไปในทางที่ดี ต่างคนต่างก็เล่นตามกันจนกลายเป็นแฟชั่น

วงการสนทนาระหว่างผู้ที่เล่นซื้อกักตุนธนบัตรด้วยกัน ต่างก็แลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็นกันอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ในบรรยากาศเช่นนี้หากมีใครสักคนหลงพลัดเข้าไปและเกิดขัดคอวงสนทนา เช่น

“อนาคตของจีนอาจไม่แน่นอน หากกักตุนไว้มาก ๆ ระวังจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี”

คำพูดอันเปี่ยมด้วยความรอบคอบและหวังดี จะถูกปฏิเสธอย่างทันควัน และผู้หวังดีก็จะถูกโกรธขนาดไม่มีใครพูดด้วย

มีคนคนหนึ่งวิจารณ์ร้านของข้าพเจ้าออกมาอย่างขวานผ่าซาก

“ต่อไปธนบัตรจีนจะมีราคาต่ำลง เพราะผู้คนพากันเซ็งลี้ตามกันมากเกินไป”

คำพูดแค่นี้เกือบจะเป็นเรื่องต้องชกต่อยวางมวยกัน เพราะฝ่ายนักเซ็งลี้ไม่ชอบใจที่มีผู้มาวิจารณ์โจมตีของที่ตนชอบ ข้าพเจ้าต้องเป็นคนไกล่เกลี่ย

ความจริงแล้ว บุคคลที่ตั้งข้อสังเกตออกมาเช่นนั้น อาจได้เห็นธนบัตรจีนถูกลำเลียงมาซื้อขายกันเป็นคันรถ ทำให้หมดความเชื่อมั่นและศรัทธา แต่ข้อสังเกตเช่นนี้ คนที่กำลังหลงใหลก็ไม่ยอมรับฟังรับรู้

สภาพการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นความขัดแย้งจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน และแสดงให้เห็นลักษณะยึดมั่นที่คนเราเมื่อชอบอะไรเชื่ออะไรก็ลำเอียงอคติ จนขาดความย้ำคิด

ในเวลานั้น พ่อค้าจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเล่นซื้อธนบัตรจีนแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่หนึ่ง คือ พวกที่เล่นจนขาดสติ ใครบอกว่าไม่ดีจะไม่ชอบ ไม่ยอมฟัง มีความขุ่นแค้นไม่พอใจถึงขนาดเลิกคบเกลียดชังน้ำหน้าคนที่มาบอก

กลุ่มที่สอง คือ พวกที่ซื้อขายเหมือนคนอื่นแต่กระทำอย่างไม่เปิดเผยครึกโครม เวลามีเงินก็ซื้อเก็บไว้ เมื่อมีใครบอกว่าไม่ดี อาจจะตกใจนำกลับไปคิดว่าข่าวสารจะมีเหตุผลเป็นไปได้เพียงใด คิดแล้วอาจเปลี่ยนทัศนะและท่าทีในภายหลัง

กลุ่มที่สาม คือ พวกที่ซื้อเก็บไว้ แต่เมื่อมีคนบอกว่าในอนาคตราคาอาจจะไม่ดี ก็สอบถามถึงเหตุผลแล้วนำมาใคร่ครวญจนเห็นจริงแล้วรีบถอนตัววางมือไม่ยอมเล่นอีก

ในจำนวนพ่อค้าทั้ง 3 กลุ่มนี้ ที่ซื้อเล่นแบบหลงจนขาดสติมากที่สุด ประมาณร้อยละ 50 ของผู้เล่นธนบัตรจีน และกลุ่มที่ 3 มีจำนวนน้อยที่สุด

ข้าพเจ้าเองก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนพ่อค้าที่ซื้อธนบัตรจีนหวังเก็งกำไรด้วยเหมือนกัน

ตอนแรก ราคาซื้อขายธนบัตรจีนราคา 1 เหรียญ ราคา 10 สตางค์ และพอญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 ราคาซื้อธนบัตร 1 เหรียญ เขยิบราคาเป็น 20 สตางค์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้ารีบขายธนบัตรที่มีทั้งหมด พลางคาดในใจว่าหากเมื่อใดธนบัตรราคาตกลงเป็น 1 เหรียญ ต่อ 10 สตางค์ก็จะทุ่มทุนซื้ออีก

2-3 เดือนต่อมา ธนบัตรจีน 1 เหรียญ ราคาตกลงเหลือ 11 สตางค์ ข้าพเจ้าตระเตรียมเงินก้อนใหญ่เอาไว้ซื้อธนบัตรจีน

เหมือนเป็นโชคอันมหาศาลที่ข้าพเจ้าพบกับนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งเพิ่งเดินทางมาจากประเทศจีน และได้สนทนาวิสาสะกัน

ข้าพเจ้าสอบถามเขา “เงินตราของจีนอนาคตจะดีหรือไม่”

นักศึกษาคนนั้นตอบในลักษณะอธิบายว่า

“เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็บอกกว่าจีนเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ผมก็เป็นคนจีน จะยอมรับก็ใช่ที่ ไม่ยอมรับก็พูดไม่ออก ขอให้คุณเอาไปพิจารณาด้วยตนเองว่า เราเป็นมหาอำนาจจริงหรือ ผมไม่ควรออกความเห็น”

นักศึกษาไม่ยอมตอบคำถาม ได้แต่พูดวกๆ วนๆ ข้าพเจ้าจึงสอบถามไปทางอื่น เช่นสอบถามราคาสินค้าทั่ว ๆ ไป เช่น ผ้า 1 ผืน ในเมืองจีนขายกันผืนละเท่าไหร่ ข้าวถึงหนึ่งราคาเท่าไหร่ เกลือ 1 ถังราคาเท่าไหร่ เป็นต้น เป็นการถามถึงราคาสินค้าหลายๆ ชนิดจนได้คำตอบมาจำนวนหนึ่ง

เมื่อกลับไปถึงบ้าน ข้าพเจ้ารีบเอาลูกคิดมาคิดราคาบวกลบ เปรียบราคาในเมืองจีนกับราคาสินค้าในเมืองไทย เห็นได้ทันทีว่า ตอนนี้หากซื้อขายกำไรก็ไม่ถึงครึ่งสตางค์ จึงตัดสินใจไม่เล่นธนบัตรจีนเพื่อเก็งกำไรอีกต่อไป จะได้ไม่ต้องเสียหายภายหลัง

วิธีถามทั้งหมด ถือเป็นวิธีการสำรวจสภาพตลาด อาศัยไหวพริบในการสอบถาม จึงสามารถได้รายละเอียดที่เปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างสองประเทศ

การซื้อขายธนบัตรจีนครั้งนี้ สรุปเป็นบทเรียนได้ ดังนี้

การทำธุรกิจใด ๆ อย่าทำโดยความลุ่มหลงจนขาดสติ เพราะเมื่อขาดสติก็จะเกิดความอคติลำเอียง เกิดความประมาท ไม่ยอมรับฟังเหตุผลอื่น ๆ ทำให้ขาดปัญญาไตร่ตรองพิจารณาถึงข้อดีกับข้อเสีย แนวทางการทำงานก็พลอยแคบลง

เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นในภายหลัง จะกลับตัวก็ไม่ทัน เพราะไม่ได้ไตร่ตรองและค้นหาลู่ทางเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: