ดร.เทียม โชควัฒนา (ตอนที่ 16)
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ช่วงแรกที่เปิดร้านเฮียบฮะ ข้าพเจ้ายังคงคลุกคลีอยู่กับเพื่อนฝูงพ่อค้าจีนเป็นส่วนมาก ในตอนนั้น ถ้าทุกคนรู้สึกว่าคนจีนถูกเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ ไม่ว่าคนจีนที่โอนสัญชาติแล้วหรือที่ยังเป็นคนต่างด้าวอยู่ก็ตาม จะต้องมีบัตรระบุการเสียเงินภาษีคนละ 6 บาท ผู้ที่ไม่มีบัตรนี้ หากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและจับได้ จะถูกนำไปลงโทษให้ทำงานหนักชดเชย
ตามกฎหมายในรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม คนจีนทุกคนถูกบังคับให้มีหน้าที่ต้องไปแจกภาษีติดอากรแสตมป์ หากจะเข้าเมืองก็ต้องเสียภาษีอากรคนต่างด้าวตามระเบียบ คนจีนส่วนใหญ่คิดว่าคนไทยและรัฐบาลไทยรังแกข่มเหงคนจีน แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน ภายหลังต่อมา จึงค่อยเข้าใจในความจำเป็นและเห็นชัดขึ้นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับคนไทยคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
นับแต่มีสงครามเข้ามาข้องเกี่ยวในประเทศไทย รัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ออกประกาศควบคุมปริมาณสินค้าผ้าและตะปู โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพระนครและธนบุรี โดยห้ามเคลื่อนย้าย ห้ามซื้อขาย ใครก็ตามที่รับซื้อผ้าและตะปู จะต้องไปแจ้งปริมาณต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน
เวลานั้น ที่ร้านเฮียบฮะของเรามีผ้าอยู่หลายร้อยพับ ขายในราคาต้นทุนพับละ 400 บาท เมื่อรัฐบาลออกมาประกาศเช่นนี้ ข้าพเจ้าปฎิบัติตนเป็นพ่อค้าที่ดีตามคำสั่งของรัฐบาลด้วยความเต็มใจ แต่เมื่อไปแจ้งปริมาณของผ้าที่มีอยู่ในร้าน ผลที่ตามมาก็คือ ข้าพเจ้าต้องเก็บผ้าจำนวนนั้นเอาไว้ในโกดังเฉยๆ เป็นเวลา 1 ปีเต็ม
เมื่อนำออกขายก็ต้องขายในราคาควบคุมของทางราชการ เผื่อราคาพับละ 150 บาท ผู้มาซื้อจะต้องมีใบอนุญาตแบ่งปันโควตาจากกระทรวงพาณิชย์หรือเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและอำเภอ โดยจะได้โควตากันเพียงรายละ 2-3 หลา เมื่อเขาแสดงใบอนุญาต เราต้องวัดขายให้แล้วทำบัญชีแสดงหลักฐานตามราคาที่ขายไปด้วย ในเวลาเดียวกันนั้น ผ้าในตลาดมืดขายกันสูงถึงพับละ 1200 บาท
ข้าพเจ้าปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการครบถ้วนทุกประการ จึงกลายเป็นว่า ถ้ามีราคาต้นทุนพับละ 400 บาท ขายได้เพียง 150 บาทต่อพับ ต่างกัน
เพื่อนพ่อค้าของข้าพเจ้าคนหนึ่งมีอาชีพขายตะปู หลังจากรัฐบาลประกาศระเบียบควบคุมซื้อขายตะปู เค้าก็ไปจัดตั้งบริษัทขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่นอกเขตการควบคุม ดำเนินการรับซื้อตะปูมาขายในจังหวัดพระนครและธนบุรีวันต่อวัน ไม่ต้องแจ้งจำนวนต่อทางราชการ เพราะไม่เกินกำหนด 3 วัน ตามระเบียบราชการที่ระบุไว้ เพื่อนของข้าพเจ้าขายตะปูในตลาดมืดได้กำไรไปหลายล้านบาทและร่ำรวยจนกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ทั้งสองกรณีนี้ วินิจฉัยได้ว่ากฎหมายมักจะมีช่องว่างรอยโหว่ ใครที่รู้จักหลบเลี่ยง นอกจากจะไม่ถูกจับกุมลงโทษในข้อหาละเมิดกฎหมายแล้ว มีโอกาสร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างมหาศาล ส่วนคนที่เลี่ยงไม่เป็น ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม มีแต่ความซื่อสัตย์ทำตามกฎหมาย มีโอกาสขาดทุนและล่มจมได้ แม้จะพบกับความเจ็บปวด ขาดทุนเนื่องจากประกาศระเบียบการควบคุมการซื้อขายสินค้าในภาวะไม่ปกติ ข้าพเจ้าก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย