ดร.เทียม โชควัฒนา (ตอนที่ 15)
เงินขาดแคลน หมุนไม่ทัน นอนไม่หลับ
คุณพ่อชอบพูดว่า “เงินขาดแคลน หมุนไม่ทัน นอนไม่หลับ” ระยะที่เป็นพนักงานร้านลี้เปียวฮะที่วัดตึก ข้าพเจ้าไม่สู้จะซาบซึ้งต่อคำพูดนี้ของคุณพ่อนัก เพราะไม่ทราบว่าการไม่มีเงินและการไม่สามารถหมุนเงินได้ทันกับการนอนไม่หลับจะมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตรงไหน
มันคนละเรื่องกันโดยแท้
ต่อเมื่ออายุมากขึ้น มาเปิดร้านเฮียบฮะกับคุณพ่อ ข้าพเจ้าจึงค่อยมีความเข้าใจ่อคำพูดนี้ของคุณพ่อมากขึ้น
เวลาเราเปิดบัญชีให้แก่ร้านค้าใดๆ และลูกค้าไม่มีเงินมาชดใช้ เมื่อเจ้าหนี้ของเรามาทวงเงิน เราไม่มีเงินก็เกิดความอับอาย หากอยากจะรักษาหน้ารักษาเครดิต ก็ต้องพยายามค้าขายจนสุดความสามารถเพื่อหาเงินมาใช้ให้เขา
ตอนที่ยังหาเงินไม่ได้ ก็แทบจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ แทบจะเป็นโรคประสาท นั่นแหละจึงตระหนักรู้ในคำพูดของคุณพ่อว่าท่านสรุปได้ถูกต้อง
อาชีพพ่อค้านั้นต้องเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะของสงคราม ต้องเสี่ยงต่อความสำเร็จและความล้มเหลวทุกเวลา เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2485 ข้าพเจ้าทราบว่า ห้าง เอ.อี. นานา จำกัด มีกาแฟเหลืออยู่วนสต๊อก 3,000 กระสอบ กระสอบหนึ่งหนัก 60 กิโลกรัม ราคาตลาดขณะนั้นขายกันกระสอบละ 85 บาท
เมื่อข้าพเจ้าไปติดต่อขอซื้อ เขาบอกว่า “ถ้าราคาขายกระสอบต่ำกว่า 100 บาท ทางห้างจะไม่ยอมขายอย่างเด็ดขาด” ข้าพเจ้าตกลงรับซื้อทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขประการหนึ่ง ข้าพเจ้าจะขอลำเลียงกาแฟออกจากสต๊อกของห้าง เอ.อี. นานา จำกัด ให้หมดภายในระยะเวลา 3 เดือน
การที่จ้าพเจ้าไปตกลงรับซื้อกาแฟวนราคาสูงกว่าเดิมถึง 15 บาทต่อกระสอบเช่นนี้ ทุกคนที่รับรู้เรื่องราวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “นายเทียม จะเป็นบ้าไปแล้ว”
เมื่อกลับไปร้านเฮียบฮะที่ย่านตึกแถวเจ็ดชั้น บรรดาญาติก็พากันมาถามเหตุผล ข้าพเจ้าจำเป็นต้องอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ให้พวกเขาฟังอย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้
“ ที่ข้าพเจ้ารับซื้อกาแฟในราคากระสอบละ 100 บาทนั้น ก็เพราะข้าพเจ้าเก็งการณ์เอาไว้ว่า ในตลาดขนาดนี้น่าจะมีกาแฟเหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยน่าจะต้องขาดตลาดไปอีกนาน เพราะอยู่ในระหว่างสงคราม เรือไม่อาจเข้ามาเทียบท่าได้ เนื่องจากประเทศไทยถูกญี่ปุ่นยึดครอง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าต่อไปเราจะสามารถขายกาแฟได้ในราคาสูงกว่าที่รับซื้อมา”
“ การที่ข้าพเจ้าเสนอเงื่อนไขต่อทางห้างว่าจะออกสินค้าให้หมดภายในสามเดือนนั้น ก็เพื่อที่จะยืดเวลาไว้ เนื่องจากทางเราไม่มีเงินสดมากพอที่จะซื้อสินค้าได้หมดทีเดียว และถึงเราจะสามารถซื้อกาแฟได้ทั้งหมดก็ไม่มีที่เก็บหรือแม้จะมีที่เก็บก็ยังต้องเสี่ยงกับการถูกทิ้งระเบิดโดยเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตร ดังนั้น การเก็บกาแฟของเราไว้ในโกดังของเขาจะช่วยตัดปัญหาของเราได้หลายด้าน”
เมื่อฟังดังนั้นญาติคนหนึ่งถามว่า “ ถ้าในระยะสามเดือนข้างหน้าราคากาแฟยังคงที่ คือขายหน้ากระสอบละไม่เกิน 85 บาท เราก็ต้องขาดทุนแล้วจะเอาเงินจากไหนไปให้เขา”
ข้าพเจ้าตอบไปว่า “ ถ้าเราขาดทุนมากก็จำเป็นต้องเจรจากับ เอ.อี. นานา และข้าพเจ้าก็ยินดีที่จะแบกหน้าไปขอร้องเขาในฐานะที่เราติดต่อทำการค้ามานานร่วม 10 ปี โดยที่เราไม่เคยผิดนัดชำระเงินไม่เคยพลาด เมื่อพลาดขึ้นคราวนี้ เพราะเก็งการณ์ผิดก็ต้องอธิบายให้เขาเห็นใจ หากเขายังไม่ยินยอม เราก็ยินดีที่จะยอมรับความเสียหาย
ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงมีหนทางสับเปลี่ยนหมุนเวียนชดใช้ให้เขาได้” “ อีกอย่างหนึ่ง สัญญาที่รับซื้อสินค้าออกจากโกดังของเค้าให้หมดสิ้นภายในสามเดือน ไม่ได้ระบุว่า ถ้าผิดสัญญาทำไม่ทันตามกำหนด เราจะต้องเสียค่าปรับให้แก่เขาแค่ไหนเพียงใด ทั้งนี้ เพราะเราเชื่อเครดิตระหว่างกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าราคากาแฟยังคงที่ เอ.อี.นานา ก็ไม่กล้ามาบีบบังคับเราจนเกินไป นอกเสียจากว่าราคากาแฟเกอร์สูงขึ้นกว่าราคากระสอบละ 100 บาท และเราระบายสินค้าออกไม่ทันตามกำหนด เค้าคงจะรีบบอกเลิกสัญญา”
ข้าพเจ้าอธิบายอย่างละเอียดเช่นนี้ ทุกคนก็เข้าใจดี ในวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าไปขนกาแฟมาจากโกดังของบริษัท เอ.อี. นานา จำกัด จำนวน 100 กระสอบ ชำระเงินกระสอบละ 100 บาท แต่นำไปขายให้แก่ร้านค้าเพียงราคากระสอบละ 95 บาท เท่ากับยอมขาดทุนกระสอบละ 5 บาท กว่าจะขายได้แต่ละกระสอบแสนลำบากยากเย็น ต้องพยายามอธิบายให้ร้านเข้าใจว่า แม้เราจะซื้อมาราคากระสอบละ 100 บาท แต่ที่ยอมขายเพียงกระสอบละ 95 บาท ก็เพราะเป็นสินค้าค้างสต๊อก ไม่อาจเรียกราคาให้สูงหรือขายในราคาทุนได้
หลังจากนั้นอีก 7 วันมีคนมาสอบถามว่า “ ทางร้านคุณมีกาแฟเหลืออีกหรือเปล่า” ข้าพเจ้าตอบไปตามตรงว่ามี พร้อมกับเสนอเงื่อนไขใหม่ว่า เราจะขายกระสอบละ 105 บาท ภายใน 90 วัน ราคากาแฟในท้องตลาดได้พุ่งพรวดสูงถึงกระสอบละ 300 บาท และข้าพเจ้าสามารถระบายกาแฟออกจากโกดัง 3000 กระสอบได้หมดสิ้น ภายใน 90 วันตามสัญญา และได้กำไรจากการค้าครั้งนี้จำนวนมากพอดู
นี่เป็นวิธีการค้าขายสมัยสงครามตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าจดจำอย่างไม่รู้ลืม