“ญี่ปุ่น” จัดหนัก!เตรียมคิดเงินค้าปลีกแจกถุงพลาสติก
พลาสติกถือเป็นวัสดุที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหรือครัวเรือน รวมถึงของกินของใช้ในยุคปัจจุบัน ล้วนทำจากพลาสติกทั้งสิ้น และเหตุนี้จึงทำให้พลาสติกกลายเป็นขยะที่มีปริมาณมากและแพร่หลายอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเองเนื่องจากเป็นสารสังเคราะห์ และเป็นวัสดุที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดในทุก ๆ วันทั่วโลก โดยเฉลี่ยถุงพลาสติกจะเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุด รองลงมาจะเป็นหลอดเครื่องดื่ม ฝาพลาสติก และภาชนะบรรจุอาหาร
จากข้อมูลขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลระบุว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร หรือเทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะเต็มคันนำขยะไปเททิ้งลงทะเล ทุกนาที ในทุกๆ วัน ซึ่งไทยติดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด
เมื่อหันไปมองดูต่างประเทศพบว่า เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ออกนโยบายเก็บภาษีถุงพลาสติก เมื่อ พ.ศ.2536 โดยส่วนหนึ่งแบ่งเป็นกำไรให้กับร้านสะดวกซื้อ มาตรการดังกล่าวส่งผลให้การใช้ถุงพลาสติกในประเทศลดลงถึง 40% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาปัจจุบันชาวเดนมาร์กใช้ “ถุงพลาสติกซ้ำ” เฉลี่ย 70 ถุงต่อปี และใช้ “ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง” เฉลี่ยเพียง 4 ถุงต่อปี
นอกจากการเก็บภาษีถุงพลาสติกแล้ว เดนมาร์กยังมีเครื่องรับซื้อพลาสติก ที่เพียงแค่นำขวดพลาสติกรีไซเคิลใส่เข้าไป เครื่องก็จะตรวจสอบวัสดุและพิมพ์สลิปออกมา ซึ่งประชากรสามารถนำสลิปเหล่านั้นไปใช้แทนเงินสดสำหรับซื้อสินค้าได้ด้วย
ส่วนในประเทศเคนยา ก็ประกาศใช้กฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกเต็มรูปแบบเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งกินความรวมถึงการห้ามจำหน่าย ผลิต หรือใช้ถุงพลาสติก หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 ล้านบาท)ถือเป็นกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลก
ล่าสุด “ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกต่อคนจำนวนมากที่สุด รองจากสหรัฐอเมริกา แต่ล้าหลังประเทศอื่น ๆ ในการควบคุมการใช้พลาสติก จึงเป็นที่มาของการวางแผนที่จะบังคับให้ “เรียกเก็บเงิน” สำหรับถุงพลาสติกที่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา และห้างสรรพสินค้า เนื่องจากญี่ปุ่นต่อสู้กับมลพิษทางทะเลจากขยะพลาสติก
โยชิอากิ ฮาราดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น บอกว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีนำกฎหมายใหม่ที่ห้ามไม่ให้แจกถุงพลาสติกในร้านค้าปลีก แต่เปลี่ยนให้คิดเงินแทนซึ่งราคาแล้วแต่ร้านจะเป็นผู้กำหนด คาดว่าไม่น่าเกิน 10 เยนต่อถุง
โดยเงินจำนวนนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะขอให้ผู้ค้าปลีกใช้รายได้จากการเรียกเก็บเงินสำหรับถุง มาช่วยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปลูกป่าและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางทะเลหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จมีการวางแผนขยายไปยังธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กต่อไป
นอกจากนั้นนายฮาราดะชี้แจงว่า แนวคิดในการร่างกฎหมายดังกล่าวมาจากนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งนายอาเบะก็ได้แนวคิดนี้มาจากการฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นคาดว่า ราคาถุงพลาสติกถุงละ 10 เยนน่าจะช่วยควบคุมปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของคนญี่ปุ่นได้บ้างไม่มากก็น้อย