“ซีพีเอ็น”จับมือมาเลย์ลุยตลาด “โคเวิร์กกิ้งสเปซ”
กระแส“โคเวิร์กกิ้งสเปซ”ในปัจจุบันมาแรงและน่าจับตาเป็นอย่างมาก ว่ากันว่าเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯคาดกันว่ามีมากกว่า 100 แห่งของ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ที่กระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ ด้วยขนาดพื้นที่มากบ้างน้อยบ้าง ในหลากหลายคอนเซ็ปต์และดีไซน์ เพื่อตอบสนองดีมานด์ที่โตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นในช่วง 2-3 ปีก่อน “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” อาจจะยังเป็นเรื่องใหม่ และหลายคนยังไม่เข้าใจมากนัก
ใครบ้างคือกลุ่มเป้าหมายของ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” หลักๆ เลยคือ มนุษย์ฟรีแลนซ์ทั่วไปและกลุ่ม SME ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้นับวันจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มสตาร์ตอัพ กลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งจบการศึกษาและไม่ต้องการทำงานประจำ รวมทั้งบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยหรือกำลังจะเข้ามาต้องการใช้พื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
นี่คือปัจจัยที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ชั้นนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขันในกลุ่มเหล่านี้สูงมาก ถือเป็นแนวโน้มค่อนข้างดี แต่อุปสรรคสำหรับโคเวิร์กกิ้ง สเปซ รายใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ที่สนใจอยากจะเข้ามาทำตลาด ก็คือมีพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงานเกรด เอ ในกรุงเทพฯ ที่มีจำกัด
รายงานจากเจแอลแอลระยุว่า สถานที่ให้บริการของโคเวิร์คกิ้งสเปซแบรนด์ต่างประเทศในกรุงเทพฯ ณ ขณะนี้ มีขนาดอยู่ระหว่าง 1,000-3,400 ตารางเมตร ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานเกรดเอใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที
ผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายยังรุกขยายธุรกิจเพิ่ม โดยในขณะนี้ มีการเช่าพื้นที่สำนักงานเพื่อเตรียมเปิดสาขาใหม่ในปีหน้าคิดเป็นพื้นที่รวมกันอีกกว่า 30,000 ตารางเมตร ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นการเปิดสาขาขนาดใหญ่ที่สุดโดยผู้ประกอบการสองรายคือ Justco ขนาด 8,000 ตารางเมตรในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ใกล้สถานีเอ็มอาร์ทีสามย่าน และ WeWork ขนาด 7,600 ตารางเมตรในอาคารที-วันซึ่งมีทางเชื่อมเข้าสถานีบีทีเอสทองหล่อ
ในระยะแรกเริ่มในอดีต โคเวิร์คกิ้งสเปซจับกลุ่มลูกค้าผู้ใช้บริการที่เป็นคนทำงานอิสระและธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดเล็ก แต่ในปัจจุบันได้ขยายมาจับกลุ่มลูกค้าระดับบริษัท/องค์กรเพิ่มมากขึ้น
แต่แม้กระนั้น โคเวิร์คกิ้งสเปซยังคงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
รายงานการวิจัยของเจแอลแอลที่มีเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า ปริมาณออฟฟิศที่มีความยืดหยุ่นให้เช่า (หมายรวมถึงโคเวิร์คกิ้งสเปซและเซอร์วิสออฟฟิศ) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 40% โดยขณะนี้ มีปริมาณพื้นที่รวมทั้งสิ้นคิดเป็น 2% ของปริมาณพื้นที่สำนักงานที่มีอยู่ทั้งหมด เทียบกับปี 2558 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.5%-1%
แนวโน้มเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก โดยในช่วงระหว่างปี 2557-2560 ออฟฟิศที่มีความยืดหยุ่นให้เช่าในภูมิภาคมีปริมาณขยายตัวเพิ่มขึ้น 35.7% สูงกว่าอเมริกาและยุโรปที่มีการขยายตัวในอัตรา 25.7% และ 21.6% ตามลำดับ
จากแนวโน้มการเติบโตชอง “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ขยายไปยังธุรกิจค้าปลีกที่น่าจจะเอื้อต่อกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากจะเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาใช้บริการในพื้นที่เพิ่มขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น
ซีพีเอ็น” หรือบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นโอกาสการเติบโตดังกล่าว ประกาศขยายไลน์ธุรกิจใหม่แบรนด์ ‘คอมมอน กราวด์’ (Common Ground) โคเวิร์กกิ้งสเปซเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และต่อยอดวิสัยทัศน์การสร้าง Center of Life ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่
ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ขยายไลน์ธุรกิจใหม่แบรนด์ ‘คอมมอน กราวด์’ (Common Ground) โคเวิร์กกิ้งสเปซเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็น the New Generation of Innovative Coworking Community เพื่อเป็น ‘คอมมูนิตี้เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการหัวคิดใหม่ที่ดีที่สุด’ แห่งแรกในไทย ด้วยการร่วมทุนกับ คอมมอน กราวด์ กรุ๊ป แบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าทุ่มงบ 800 ล้านบาท เปิด 20 สาขา ใน 5 ปี เปิดสาขาแรกต้นปีหน้า เพื่อตอบรับเทรนด์ coworking space และ sharing economy กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน 10 ปีข้างหน้า และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจโคเวิร์กกิ้งแห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ จากการเปิดพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญทำให้จำนวนคนเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจุบันวันธรรมดาที่ 120,000 คน และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ที่ 160,000 คน ซึ่งนอกจากจำนวนคนที่เพิ่มข้ึนแล้ว ระยะเวลาที่อยู่ในศูนย์ฯ ก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วยตรงคอนเซ็ปท์ Center Of Life ศูนย์กลางของการใช้ชีวิต
นายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายขาย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเทรนด์ของโคเวิร์คกิ้งสเปซในไทยว่า ในปัจจุบัน มีกลุ่มบริษัทโคเวิร์กกิ้งสเปซระดับนานาชาติจากต่างประเทศหันมาปักหมุดและลงทุนในประเทศไทย โดยปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ หนึ่ง เมกะเทรนด์ที่ ไลฟ์สไตล์การทำงานของผู้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปตาม Technology และ Flexibility โดยต้องการพื้นที่ทำงานที่มีความเป็น Collaborative Workspace รวมถึงการลดต้นทุนทางธุรกิจทำให้รูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการ และบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยคาดว่าตลาด coworking space ในเอเชีย จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30% ในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีตลาดอยู่ที่ 2% สอง อัตราการเติบโตของตัวเลขเอสเอ็มอีในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูง 8-10% ต่อปี มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยกว่า 1 ใน 6 มีธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ หรือคิดเป็นกว่า 500,000 ราย โดยเอสเอ็มอีเหล่านี้ ล้วนแต่มองหาสถานที่ทำงานในทำเลที่ดี หรือ prime location แต่การเข้าถึงออฟฟิศให้เช่าเกรด A ในกรุงเทพฯ เป็นไปได้ยากและมีราคาสูง เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้โคเวิร์กกิ้งในรูปแบบของ ‘คอมมอน กราวด์’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในเข้าถึงสถานที่ทำงานรูปแบบใหม่ หรือ โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เต็มไปด้วยบริการมาตรฐานเกรด A แต่ยังตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพเปี่ยมไปด้วยเครือข่ายทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม แผนขยายสาขาดังกล่าวจะมุ่งเน้นตามศูนย์การค้าของ CPN และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา เป็นต้น โดยสัดส่วนการขยายสาขาจะเป็นอย่างละครึ่งๆ ขณะเดียวกันบริษัทคาดหวังผู้เข้าใช้บริการ Co-WorkingSpace ในศูนย์การค้าฯ ประมาณ 700-800 คน/วัน
มร. เออร์แมน อะคินซี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคอมมอน กราวด์ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของคอมมอน กราวด์ เผยว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเข้าใจผู้ประกอบการอย่างลึกซึ้งในประเทศไทย เราเชื่อว่าการผนึกกำลังในครั้งนี้กับเซ็นทรัลพัฒนาที่เป็นผู้นำการพัฒนาศูนย์การค้าของประเทศ และหนึ่งในบริษัทกลุ่มเซ็นทรัลจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ทำให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดธุรกิจด้วยเน็ตเวิร์กและมาร์เก็ตเพลส พร้อมตอบรับชีวิตคนทำงานและไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ด้วย Holistic Lifestyle Integration ด้วยความแข็งแกร่งและกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม แบรนด์แฟชั่น ไลฟ์สไตล์และร้านอาหาร จะเป็นจุดแข็งด้านไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่น ครบครันและครอบคลุมที่สุดในประเทศไทย”
“การเปิดตัวคอมมอน กราวด์ในประเทศไทยนี้ถือเป็นการเปิดตัวในต่างประเทศเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคนี้ โดยจะเป็นรีจินัลแฟลกชิพแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 4,500 ตร.ม. ซึ่งจะตั้งอยู่ใน Bangkok CBD ซึ่งโคเวิร์กกิ้งสเปซรูปแบบใหม่นี้จะทำให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ต่างๆ สามารถลดต้นทุน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างออฟฟิศแบบถาวร ตั้งอยู่ใน Prime location ทำให้ติดต่องานและหมุนเวียนเปลี่ยนโลเคชั่นได้สะดวก อีกทั้ง มีความแตกต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซอื่นๆ ด้วยจุดเด่นในการมอบไลฟ์สไตล์ที่ครบครันและสมบูรณ์แบบ (Enrich Lifestyle) ด้วยโลเคชั่นที่ใกล้กับศูนย์การค้าพร้อมสิทธิประโยชน์มากมายจากพันธมิตรทางธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ทั้งแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร ธนาคาร ฟิตเนส ที่จอดรถ ร่วมด้วยกิจกรรมอีเว้นต์และไลฟ์สไตล์เวิร์กช็อปมากมาย พร้อมต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจ (Expand Business through our deep partnerships) ด้วยการได้ทดลองทำตลาด ทำจริง ขายจริง ในศูนย์การค้าของซีพีเอ็น และธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการได้ในทุกสาขาทั่วโลก และเพิ่มคอนเนคชั่นทางธุรกิจที่เปิดกว้างและหลากหลายกว่า” มร. เออร์แมน อะคินซี กล่าว
มร. จุน เตียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมมอน กราวด์และอีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวถึง แผนการลงทุนของคอมมอน กราวด์กรุ๊ปในระดับภูมิภาคว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าจะเติบโตกว่า 3 เท่าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสำหรับประเทศไทย จะมีจำนวนสาขาทั่วประเทศ กว่า 20 สาขา โดยกว่า 10 สาขาจะตั้งอยู่บน Prime Location ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในอาคารสำนักงานที่เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าของซีพีเอ็น หรืออาคารสำนักงานให้เช่าอื่นๆ รวมถึงสาขาในหัวเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และ พัทยา เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการในโลเคชั่นของเราได้ทั้งในและต่างประเทศ
คอมมอน กราวด์เป็นรูปแบบใหม่ของโคเวิร์คกิ้งสเปซในประเทศไทย โดยจับกลุ่มเป้าหมายคนทำงานรุ่นใหม่ ได้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพและฟรีแลนซ์ 80% และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ 20% การขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยในครั้งนี้ จึงมุ่งเข้ามาเพื่อสร้างสรรค์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้กับคนไทย เพื่อตอบรับ 6 เทรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 ทั่วโลกอีกด้วย ทำให้คอมมอน กราวด์เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซเต็มรูปแบบที่ตอบโจทย์เทรนด์ระดับโลกทั้ง 6 ประการ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย
โดย มร. เตียว กล่าวเพิ่มเติมถึง 6 เทรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 ทั่วโลก ได้แก่
ในระดับนักลงทุนธุรกิจโคเวิร์กกิ้ง คือ
· เทรนด์การเข้ามาลงทุนทำ Coworking space จะเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความครบครันให้กับโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทัพย์
· เทรนด์โลคัลแอคโกลบอล หรือ การผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการในท้องถิ่นเข้ากับความเชี่ยวชาญการจัดการในระดับนานาชาติจากโกลบอลแบรนด์
ในระดับผู้ประกอบการยุคใหม่
· กระแส Work-Life Balance ในคนยุคใหม่
· เทรนด์การชอบใช้พื้นที่การทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้และช่วยจุดประกายต่อยอดโอกาสธุรกิจ (Flexible & Hyper Competitive Space)
· เทรนด์ความต้องการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กด้วยเทคโนโลยีและระบบบล็อคเชนในพื้นที่การทำงาน และ
· เทรนด์ที่กลุ่มบริษัทใหญ่ๆ (Corporate) เริ่มมองหาพื้นที่การทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับองค์กร รวมถึงเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ
นี่คืออีกหนึ่งผู้เล่นรายล่าสุดในธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” และคาดว่าน่าจะมีรายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดนี้อีกแน่นอน