เหมือนเพลงเก่าที่เคยกล่อมตามหลอกหลอน “เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน”
ใช่ครับ เป็นอีกครั้ง…และอีกครั้ง และไม่รู้จะต้องเจออีกกี่ครั้ง ที่รัฐบาลนี้การบริหารสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด มั่วไปหมดจนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สั่งซื้อจนถึงแจกจ่ายวัคซีน
คนที่ควรต้องรับผิดชอบกับการบริหารจัดการที่ผิดพลาดนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เวลามีผลงานอะไรก็เอามาเคลมเป็นของตัวเองนั่นละครับ แต่พอเละเทะขึ้นมาก็โยนให้คนที่ดูแลเอาแต่ “ผิด” ไป ส่วน “ชอบ” เอาไว้เอง
สมแล้วที่ชื่อ “ตู่”
เหตุที่โรงพยาบาลต่างๆ ประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนเนื่องจาก “ไม่ได้รับการจัดสรร” นั้น มี 2 ปัจจัยหลักๆ คือการบริหารจัดการของรัฐ และ ปัจจัยภายนอกประเทศ กรณีโรคเลื่อนก็มาจากที่ไทยสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซเนก้า ซึ่งสหภาพยุโรปหรือ อียู กำลังฟ้องร้องเพราะส่งวัคซีนล่าช้าเช่นกัน

กล่าวถึงปัญหาจากการบริหารจัดการ ซึ่งจริงๆแล้วประสบการณ์อันโชกโชนที่ผ่านมาน่าจะทำให้คนไทยชินกับความล้มเหลวเพราะมือไม่ถึงมาหลายงาน เพียงแต่ว่าคราวนี้มันคือนโยบายการแก้ปัญหาด้านป้องกันการระบาดไวรัสโควิดที่มีชีวิตของประชาชนทั้งชาติเป็นตัวประกัน
นายกฯ อาจลอยหน้าลอยตาทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับไปแทน
แต่ถึงกระนั้นเบื้องหลังสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนก็มาจากรัฐบาลโดยตรง
เมื่อถึงวันนัดฉีดวัคซีนที่ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงได้ลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านหมอพร้อม แต่หลายๆโรงพยาบาลไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก สธ. เพื่อการฉีดให้กับผู้ลงทะเบียนในวันที่ 14-20 มิ.ย.

หนึ่งในหน่วยงานที่ต้องตอบคำถามกับประชาชนคือ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงต้องประกาศเลื่อนวันฉีดออกไปก่อน โดยระบุว่าหากประชาชนสงสัยให้ติดต่อสอบถามไปยัง รมว.สธ.
วิธีจัดการกับปัญหาของ สธ. คือแถลงการณ์ว่าได้จัดสรรวัคซีนตามที่ ศบค. กำหนดเพื่อส่งไปทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ส่วนการจัดสรรวัคซีนไปยังหน่วยฉีดของแต่ละจังหวัดเป็นหน้าที่ของ จังหวัดนั้นๆและ กทม. ดำเนินการเอง
นี่คือการตอบที่เหมือนโยนต่อแบบวิ่งผลัด 4 คูณ 100 ที่นอกจากจะไม่บอกว่าทำไมถึงไม่มีวัคซีนส่งไปให้โรงพยาบาลแล้ว ยังออกอาการ “ลอยตัว” อยู่เหนือปัญหาให้เห็น
กทม. เลยฟาดกลับด้วยแถลงการณ์แบบแจงรายละเอียดว่า ที่ สธ.บอกให้วัคซีน กทม. มา 1 ล้านโดสแล้ว ตามแผนเดือน มิ.ย. หลังจากได้รับแจ้งว่าจะได้แอสตร้าเซเนก้า 2.5 ล้านโดส ในช่วงวันที่ 7-14 มิ.ย. ได้รับวัคซีนแบ่งเป็น แอสตร้าฯ 3.5 แสนโดส, ซิโนแวค 1.5 แสนโดส กทม.ดำเนินการอะไรไปบ้าง
“การจองผ่านระบบหมอพร้อม เป็นการเปิดให้โรงพยาบาล ทุกโรงพยาบาลมาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น กทม. ไม่ใช่ผู้ควยคุมแล้ผู้ที่จัดสรรวัคซีน ซึ่งในเดือนนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนหมอพร้อมมีทั้งสิ้น 4.5 แสนราย”
หมายความว่า จากที่บอก มิ.ย. จะให้ วัคซีนแอสตร้าฯ กับ กทม. 2.5 ล้านโดส ที่ผ่านมาส่งให้แค่ 3.5 แสนโดสอยู่เลย นี่ก็จะครึ่งเดือนแล้ว อย่างน้อยๆ 1 ล้านโดสต้องมีอยู่ในคลังเก็บ อยู่ๆมาโยนว่าการจัดสรรวัคซีนไปยังหน่วยฉีดเป็นเรื่องของ กทม.และจังหวัด มันตอบไม่ตรงคำถามที่ประชาชนสงสัย
โรงพยาบาลในสังกัด สำนักการแพทย์ กทม. ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปากมีเสียงอเไรกับเขานัก ก็ยังต้องออกประกาศหลังได้รับผลกระทบจนต้องเลื่อนวันนัดฉีดออกไป ว่าด้วยวัคซีนโควิด-19 อยู่ระหว่างรอจัดสรรจาก “กระทรวงสาธารณสุข” จึงขอเลื่อนการฉีดวัคซีนตามวันเวลา (14-17 มิ.ย.) สำหรับท่านที่มีหมายนัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย

ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่างานนี้ความซวยมาอยู่ สธ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะเจ้าภาพหลัก แต่การจะตอบแบบไม่ชี้แจงเหตุผลแล้วยังไปโยนให้หน่วยงานอื่นนั้น ปกติวิสัยระดับผู้บริหารเขาไม่ทำกันนะครับ
เห็นรอยร้าวเล็กๆระหว่างโรงพยาบาลกับ สธ. ที่เคยหวานชื่นเมื่อครั้งพยายามจุดกระแส “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” แล้ว ส่วนตัวผมทำให้ยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่า นายอนุทิน คงเหมาะกับการเป้นรัฐมนตรีกระทรวงอื่นที่ไม่ใช่ สธ.
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เหมาะกับการเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย (ฮา)
คราวนี้มาว่ากันที่ตัวต้นเหตุที่ไม่เคยถูกพูดถึงเลย นั่นก็คือบริษัท แอสตร้าฯ บริษัทที่ควบรวมกิจการระหว่างบริษัท จากประเทศสวีเดน “Astra AB” และบริษัทจากประเทศอังกฤษ “Zeneca” กลายเป็น AstraZeneca
ก่อนจะเล่าถึงปัญหาอยากจะย้อนให้เห็นถึงที่มา โดยปี 1913 แอสตร้า เอบี ถูกก่อตั้งขึ้นที่เมืองเซอเดอร์เตลเย ของสวีเดน ส่วนบริษัท เซเนก้า ประกอบกิจการด้านเคมีและยาที่แยกตัวมาจากบริษัทอิมพีเรียล เคมิคอล อินดัสตรีส์ (Imperial Chemical Industries) ในปี 1993
การควบรวมเป็น แอสตร้าเซนเนก้า เกิดขึ้นในปี 1999 ทำให้มูลค่ารวมของบริษัทขณะนั้นอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สาเหตุการควบรวมก็เพราะสมประโยชน์ในการทำธุรกิจกัน เมื่อ เซเนก้า เป็นผู้นำด้านการผลิตยารักษาความดันโลหิตสูง เซสทริล (Zestril) ขณะที่ยาที่ทำรายได้อย่างมากให้กับ แอสตร้า เอบี คือยารักษาโรคกระเพาะอาหาร พริโลเซค (Prilosec) ทั้งสองบริษัทจำเป็นต้องหาหุ้นส่วนเพื่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ และด้วยความที่อายุของสิทธิบัตรยาทั้งสองตัวจะหมดลง จึงต้องร่วมทีมกันเพื่อพัฒนาคิดค้นยาใหม่ ๆวิจัยและพัฒนาการรักษาด้านเนื้องอก ระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ

ในขณะที่ ปี 2020 ที่ผ่านมา รายงานประจำปี เปิดเผยว่า ตัวยา “ทากริสโซ” (Tagrisso) เป็นยาในหมวดการรักษาด้านเนื้องอก ทำรายได้ให้บริษัทได้สูงสุดที่ 4,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนยาฟอร์ซิกา(Forxiga) สำหรับยาเบาหวานชนิดที่ 2 และยาบริลินตา (Brilinta) สำหรับภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นยาที่ขายดีที่สุดในหมวดระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ และกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย
ยาสำหรับรักษาโรคหอบหืด ซิมบิคอร์ต(Symbicort) และ พูลมิคอร์ต(Pulmicort) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้บริษัทเป็นอันดับต้น ๆ
นั่นหมายความว่า เมื่อปีที่แล้ววัคซีน ของแอสตร้าฯ ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลกอย่างวันนี้
แอสตร้าฯ มีชื่อเสียงด้านการวิจัยด้านโรคมะเร็ง และแทบไม่มีประสบการณ์ด้านวัคซีน ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 หลายฝ่ายไม่ได้คาดคิดว่าพวกเขาจะกลายเป็นแรงสำคัญในการนำประเทศต่าง ๆ ฝ่าวิกฤตโควิด-19
ในสหราชอาณาจักร คนอายุไม่ถึง 40 ปี จะได้รับทางเลือกในการรับวัคซีนต้นโควิด-19 ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ของแอสตร้าเซนเนก้า
“ขณะที่ยังควบคุมอัตราโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง เราได้แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่อายุระหว่าง 18-39 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ให้รับวัคซีนชนิดอื่น ถ้ามีวัคซีนนั้นอยู่ และไม่ทำให้การรับวัคซีนต้องล่าช้าออกไป” ศ.เวย เชิน ลิม จากคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Joint Committee on Vaccination and Immunisation—JCVI) ให้ความเห็น

บีบีซี รายงานว่า เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัทแอสตร้าฯ ถูกสหภาพยุโรป หรืออียู ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฐานไม่รักษาสัญญาในการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 และไม่มีแผน “ที่ไว้วางใจได้” ในการจัดส่งของให้ได้ตามกรอบเวลา ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่า อียูไม่ได้มีมูลเหตุที่สมควรและจะต่อสู้ในศาลอย่างเต็มที่
ตามสัญญา บริษัทแอสตร้าฯ ให้คำมั่นว่าจะ “พยายามอย่างดีที่สุดอย่างสมเหตุสมผล” ที่จะจัดส่งวัคซีน 180 ล้านโดสให้อียูในไตรมาสแรกของปีนี้ จากจำนวนทั้งหมด 300 ล้านโดสที่จะจัดส่งระหว่าง ธ.ค. ถึง มิ.ย.
ทั้งนี้ แอสตร้าฯ แถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่าตั้งเป้าจะจัดส่งแค่ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. ซึ่งในจำนวนนั้น ราว 70 ล้านโดสจะถูกจัดส่งในไตรมาสที่ 2
1 สัปดาห์หลังจากนั้น อียูก็ส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย การจัดส่งที่ล่าช้าทำให้โครงการฉีดวัคซีนให้ประเทศสมาชิกอียูต้องสะดุด และในที่สุดพวกเขาก็หันไปพึ่งวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นหลักแทน
ภายใต้สัญญานี้ กระบวนการพิจารณาคดีจะเกิดขึ้นในศาลประเทศเบลเยี่ยม
ความขัดแย้งในครั้งนี้ยังกลายเป็นประเด็นพิพาทกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกอียูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการของอียูบอกว่า แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าถูกห้ามไม่ให้ส่งวัคซีนที่ผลิตในสหราชอาณาจักรไปชดเชยส่วนที่ขาดแคลนในยุโรป และตอนนี้ อียูก็คัดค้านไม่ให้ส่งออกวัคซีนที่ผลิตในโรงงานในเนเธอร์แลนด์ไปยังสหราชอาณาจักรเช่นกัน

ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ทนายของฝ่ายสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้ศาลเบลเยียมสั่งปรับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเงิน 10 ยูโร หรือราว 38 บาท ต่อแต่ละโดส และจำนวนวันที่แอสตร้าเซนเนก้าจัดส่งวัคซีนล่าช้ากว่าในสัญญา ซึ่งอาจกลายเป็นโทษปรับรวมสูงถึง 200 ล้านยูโร
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็ต้องการให้ศาลสั่งปรับแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 10 ล้านยูโร ต่อการผิดสัญญาแต่ละข้อด้วย
ระหว่างที่เรากำลังซัดกันมันหยด และมีประโยชน์ร่วมกับแอสตร้าฯในการให้นวัตกรรม Siam Bioscience ผลิตวัคซีน
ในต่างประเทศเขาไม่อะไรกับวัคซีนของบริษัทนี้แล้วครับ
Post Views:
1,823
Like this:
Like Loading...
Related