Bizlifestyle

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร!ครูใหญ่หัวใจไม่ท้อ ขายห่อหมกหล่อเลี้ยงเด็กและโรงเรียน

เป็นเวลาร่วม 75 ปี ที่ โรงเรียนวิชาวดี โรงเรียนเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ให้เด็กเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี ซึ่งแน่นอนผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามดังกล่าวจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากแม่พิมพ์ของชาติผู้ยิ่งใหญ่ผู้สละความสุขส่วนตัว อุทิศทั้งชีวิตให้กับเด็กยากไร้ที่ชื่อ  บุปผาชาติ หมุนสา

ด้วยความรักและผูกพันกับโรงเรียนและเด็กๆ จากรุ่นสู่รุ่นทำให้ ‘บุปผาชาติ หมุนสา’ หรือ ‘ครูบุปผา’ ครูใหญ่โรงเรียนวิชาวดี จ.นครสวรรค์ วัย 73 ปี ที่แม้จะเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้วแต่ไม่ยอมเกษียณ ยังคงอยู่กินนอนในโรงเรียนและเป็นเสาหลักในการหารายได้ด้วยการลงมือทำห่อหมกปลาช่อน และทอดมันปลากราย ออกเร่ขายสมทบเป็นเงินเดือนจ่ายให้กับครู 7 คน และดูแลเด็กในโรงเรียน 65 ชีวิต ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6

จุดเริ่มต้นที่ครูบุปผาเลือกทำห่อหมกขาย เพราะค่าใช้จ่ายโรงเรียนมีมากโดยเป็นเงินเดือนครู 7 คน คนละ 9,000 บาท รวม 63,000 บาทต่อเดือน รวมกับค่าน้ำค่าไฟ และค่าอาหารสำหรับ เด็กด้อยโอกาส หรือครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงดูได้ โดยมีเด็กกว่า 10 คนที่กินนอนอยู่ที่โรงเรียน

ห่อหมกของโรงเรียนวิชาวดี จ.นครสวรรค์ แตกต่างจากห่อหมกเจ้าอื่นตรงที่ ครูบุปผาได้นำของดีของเด็ดของเมืองปากน้ำโพที่อุดมไปด้วยปลามาเป็นส่วนผสม ในห่อหมกกระทงพอดีคำแต่คุณภาพและรสชาติเกินราคา เพราะขายอยู่ที่กระทงละ 10 บาทมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ในห่อหมก 1 กระทงนั้น ใช้เนื้อปลาบดแบบเดียวกับที่ใช้ทำแกงเขียวหวาน, เนื้อปลาช่อน ที่ครูบรรจงแล่เอาแต่เฉพาะส่วนเนื้อ เอาก้างปลาออกแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และลูกชิ้นปลากราย ใส่ทั้ง 3 อย่างในกระทงเดียวกัน ประกอบกับพริกแดงที่ปรุงตามสูตรของครูบุปผาเอง

โดยปกติแล้ว ครูบุปผาพร้อมเด็กๆ และครูที่ว่างจากการสอนจะสับเปลี่ยนกันมาเดินขายห่อหมกในตลาดและชุมชนใกล้โรงเรียน ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จนกว่าของจะหมด นอกจากนี้บางวันจะทำทอดมันกรายทอดใหม่ๆ เหนียวนุ่มไม่เหมือนใคร ออกขายราคาชิ้นละ 2 บาท หรือกล่องละ 50 บาท พร้อมเครื่องเคียงเป็นแตงกวาสดและน้ำจิ้มเสริมรสออกขายด้วย ซึ่งเหตุผลที่ทำทอดมันปลากรายไม่ได้ทุกวัน เพราะครูบุปผายังสอนหนังสือในช่วงบ่ายและต้องทำอาหารเลี้ยงเด็กในโรงเรียนด้วย

จุดเริ่มต้นที่ครูบุปผาเลือกทำห่อหมกขาย เพราะค่าใช้จ่ายโรงเรียนมีมากโดยเป็นเงินเดือนครู 7 คน คนละ 9,000 บาท รวม 63,000 บาทต่อเดือน รวมกับค่าน้ำค่าไฟ และค่าอาหารสำหรับ เด็กด้อยโอกาส หรือครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงดูได้ โดยมีเด็กกว่า 10 คนที่กินนอนอยู่ที่โรงเรียน

 

โรงเรียนวิชาวดีก่อตั้งโดย นายสมาน และนางเปรมวดี จำปาสุข เมื่อนายสมานเสียชีวิตเมื่อปี 2541 ลูกๆ ก็ยินยอมให้เปิดโรงเรียนได้ต่อไป พร้อมมอบเงินให้เดือนละ 10,000 บาท และมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเดือนละ 30,000 บาท ในช่วงแรกที่ครูบุปผาเริ่มคิดทำของขายไปกู้เงินมาเป็นทุนด้วย ส่วนที่เลือกทำห่อหมกและทอดมันปลากราย เพราะความคุ้นเคย ที่ตอนเด็กๆ ครูเคยไปรับห่อหมกและทอดมันปลากรายร้านดังมาเดินเร่ขายในช่วงที่รถไฟเข้าชานชาลา แม้ห่อหมกที่ขายจะได้กำไรไม่มากนักเพียงเดือนละพันกว่าบาท แต่ครูบุปผาก็ภาคภูมิใจและบอกว่า จะยืดหยัดเปิดโรงเรียนแห่งนี้เพื่อเป็นพื้นที่ให้โอกาสสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสทุกๆ คนต่อไป

“ครูมาเป็นครูที่นี่ตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2511 ขณะนั้นเงินเดือนแค่ 150 บาท แต่ตอนนั้นข้าวสารราคาเพียง 20 บาท เราก็พออยู่ได้”

บุปผาชาติ หมุนสา ครูใหญ่แห่งโรงเรียนวิชาวดี ต.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ย้อนอดีตเมื่อกว่า  51 ปีก่อน กับบทบาทครูในยุคเริ่มแรกที่โรงเรียนวิชาวดี ในยุคที่คุณเปรมวดี จำปาสุต เจ้าของโรงเรียนเป็นครูใหญ่

“สมัยก่อนคุณตาคุณยายเปรมวดีมีบ้านเรือนไทยเรือนไม้หลังๆ แต่ลูกหลานท่านไปอยู่ที่อื่น ไปมีการศึกษา เพราะท่านมีฐานะดี ก็ไม่มีใครอยู่ ท่านก็เปิดเป็นโรงเรียน”

หลังคุณยายเปรมวดีเสียชีวิต คุณตาสมาน สามีได้ทำหน้าที่ครูใหญ่ต่อ กระทั่งวัยร่วงโรย ครูบุปผาชาติ จึงได้รับความไว้วางใจให้ดูแลโรงเรียนแห่งนี้ต่อ

75 ปีที่โรงเรียนวิชาวดีให้การศึกษา และทักษะอาชีพแก่เด็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ปัจจุบันมีนักเรียนในความดูแลกว่า  65 คน ซึ่งมีทั้งเด็กไทยและต่างด้าว

ส่วนเหตุผลที่ต้องรับเลี้ยงเด็กเพราะเข้าใจ ว่า หากผู้ปกครองท่านใดไม่ได้ไปทำงาน เพราะต้องเลี้ยงลูกหลาน ก็จะทำให้ไม่มีรายได้เข้าบ้าน ความเป็นอยู่ก็จะลำบาก ดังนั้น จะรับเลี้ยงเด็กให้ฟรี เพื่อให้ผู้ปกครองไปทำงาน จะได้มีเงินมาใช้จ่ายในบ้าน และให้โอกาสแก่ทุกคนเท่ากัน ไม่เคยแบ่งแยก

เพราะนักเรียนส่วนมากครอบครัวยากจน อยู่กับปู่ย่า ตายาย หรือญาติ บางครั้งก็ไม่มีบัตรประชาชน เรียนที่ไหนก็ไม่ได้ แต่โรงเรียนวิชาวดีเปิดรับเสมอ

ครูบุปผาชาติ ไม่ใช่แค่อุทิศตัวอบรมสั่งสอนเด็กในโรงเรียนเพื่อให้มีทักษะอาชีพติดตัวแต่ครูใหญ่เป็นมากว่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ครูไปเจอเด็กข้างถนน ครูจะไม่ปล่อยให้เด็กเหล่านั้นต้องเผชิญปัญหาตามยถากรรม

“ครูไปเห็นเด็กที่อยู่กลางถนน ครูก็บอกว่า เอาไปเรียนหนังสือเถอะ ถ้าไม่มีใคร เอาไปอยู่กับครูก็ได้ จะเลี้ยงให้เอง ดีกว่าไปอยู่ข้างถนนรถทับตาย

“เรามีอาชีพครู จะทำอย่างไรให้เขามีความรู้เพื่อไปประกอบอาชีพได้ในภายภาคหน้า หนีจากสังคมที่ไม่สู้จะดี ให้เขาอ่านออกเขียนได้แค่นั้น ให้เขาทำมาหากินได้ ไม่เป็นปัญหาสังคม อยากให้เขาได้เรียนรู้ ช่วยเหลือตนเองได้ ใช้วิชาชีวิต

ครูก็จะสอนทำน้ำยาล้างจาน เย็บปักถักร้อย ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ขายของเพื่อเป็นแบบอย่างว่า เพื่อเป็นแรงใจ ว่าครูเขาเหนื่อยนะ แต่ก็ทำเพื่อพวกเรา เขาจะได้เลียนแบบได้”

แรงบันดาลที่ทำให้ครูบุปผาชาติมาเป็นครูผู้เสียสละ แม่พิมพ์ของชาติที่น้ำใจสุดยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ครูบุปผาชาติได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ โดยเฉพาะวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี จะตั้งใจฟังว่า พระองค์ตรัสสอนเรื่องอะไรบ้าง ดังเช่นที่ทรงกล่าวไว้ว่า ใครมีอาชีพอะไรก็ขอให้ทำตามหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และรู้คุณค่าของชีวิต การทำดีก็ไม่ต้องตะโกนบอก แต่คนอื่นจะเห็นเองว่าเราทำดี และพูดชื่นชมว่าเราทำดี

โรงเรียนวิชาวดี เปิดสอนตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 สอนการศึกษาและทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ ทั้งไทยและต่างด้าว โดยในปัจจุบันมีนักเรียนอยู่ในความดูแล 65 คน โดยโรงเรียนแห่งนี้เรียกว่าอาจจะเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกในไทยที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ไม่เก็บค่าบำรุงอะไรเลย

ผู้ที่อยากจะช่วยเหลือ ครูบุปผาชาติ และโรงเรียนวิชาวดี สามารถบริจาคเงินช่วยได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขานครสวรรค์ ชื่อบัญชี โรงเรียนวิชาวดี เลขที่บัญชี 605-1-83798-1

 

ขอบคุณข้อมูล  ผู้จัดการออนไลน์,  WorkpointToday

 

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: