Biznews

ชิ้นส่วนอากาศยาน โอกาสยิ่งใหญ่ใต้ปีกสูงเสียดฟ้า

ชิ้นส่วนอากาศยาน กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการอุตสาหกรรมเมืองไทยที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรง ภายใต้นโยบายอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตใน 4 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้ง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน

อุตสาหกรรมการบิน เป็นอุตสาหกรรมภาคบริการที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากสถิติที่ผ่านมามีการคาดการณ์มูลค่าที่เกิดจากการบินทั่วโลก (World annual RPK: Revenue Passenger Kilometers) เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี (จากปี ค.ศ. 2012-2032) และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ 15 ปี จากปี ค.ศ. 1980

การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยยังคงเดินหน้าท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน ขณะที่ยังมีหลายปัจจัยบวกเป็นแรงกระตุ้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราว 32 ล้าน โดยปี 2560 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเมืองไทยราว 34.4 ล้านคน ขณะที่แอร์บัสระบุว่า ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติการบินเชิงพาณิชย์ในเอเชีย เพราะปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการบินขนาดใหญ่ในโลก วัดจากปริมาณนักเดินทางมากกว่า 90 ล้านคนต่อปีที่ได้เดินทางผ่านสนามบินในกรุงเทพฯ

ด้านสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA: The International Air Transport Association) คาดการณ์ว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ ยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะมีอัตราการขยายตัวที่ 6.5% ตลอดระยะ 20 ปีข้างหน้า

อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในแวดวงอุตสาหกรรมของเมืองไทย เนื่องจากการขยายตัวของเส้นทางบิน จำนวนเครื่องบิน และการเคลื่อนย้ายการลงทุนในอุตสาหกรรมการบินเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน และวันนี้ทุกคนต่างทราบดีว่า การบินเป็นเรื่องใกล้ตัว เราสามารถใกล้ชิดกับท้องฟ้าได้ง่ายๆไม่ต่างกับการสัญจรบนท้องถนน

หลังจากที่รัฐบาลประกาศการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย การจัดนิคมอุตสาหกรรมนับจากนี้ไป ต้องรองรับนวัตกรรมที่นำเอางานวิจัยมาพัฒนา และต่อยอด รวมถึงเป็นนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง ที่เข้ามาส่งเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, ปิโตรเคมี, การบินอากาศยาน, การแพทย์ และหุ่นยนต์ โดยจะช่วยพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบเติบโตอย่างมีทิศทาง โดยเฉพาะแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และการซ่อมบำรุงเครื่องบินของภูมิภาค

สื่อทั้งในและต่างประเทศยังคงมีมีรายงานข่าวต่อเนื่องถึงการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเมืองไทย เนื่องจากธุรกิจอากาศยานมีการขยายตัวตามภาคธุรกิจการบินและการขนส่ง

สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจการบินทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนเครื่องบินโดยสารทั่วทั้งโลกที่มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นลำในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือกว่า 4 หมื่นลำ (ที่มา: กระทรวงคมนาคม) ซึ่งไทยมีมูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมนี้ที่ประมาณ 2.7 พันล้านบาท (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)



ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะสามารถผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้นั้น จะต้องได้รับมาตรฐานการผลิตขั้นสูงที่การบินสากลกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงการได้รับการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยต่อยอดให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตใหญ่ในอาเซียน ให้กับอุตสาหกรรมการบินในอนาคตต่อไปได้

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: