Biznews

จับ 4 สัญญาณโควิดฟาดไทยโคม่า!’ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ แนะรัฐกู้อีก 1 ล้านล้านพยุงเศรษฐกิจ!!

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรง และมีผลชัดเจน เห็นได้จาก 4 สัญญาณได้แก่

 
1. หลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ
โดยพบว่า ในปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2563-2565 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท
 
2. การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง
โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว
 
3. การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง
 
และสัญญาณสุดท้าย เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น 11.5% ของจีดีพี
 
จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวถึง 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด
 
ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาส 1/2564 จีดีพีของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดหมดแล้ว
 
ทั้งนี้ ธปท. ยังคงคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ 0.7% ส่วนปัจจัยที่จะทำให้มีการปรับคาดการณ์ในจีดีพีใหม่ คือ หากมีการล็อกดาวน์ยาวถึงไตรมาส 4/2564 เพราะการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละเดือน มีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.3-0.4% และมองว่ามีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตติดลบ แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกปัจจุบันจะหนักและมากกว่าที่คาดการณ์ แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตเป็นบวกได้เพราะมีตัวช่วยอย่างภาคการส่งออก
 
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้้ ผูัว่าธปท มองว่า ต้องเหมาะสม และสมเหตุสมผลกับอาการ จากอาการของไทยที่หนัก ก็ต้องใช้ยาแรง ต้องแก้ให้ตรงจุด ตรงต้นเหตุ นั่นคือ “วัคซีน” โดยยังยืนยันเหมือนเดิมว่า หากไม่เร่งดำเนินการเรื่องวัคซีน มาตรการอื่น ๆ ที่เร่งผลักดันออกมาก็ไม่สามารถช่วยได้ เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เรื่องวัคซีนยังเป็นตัวหลัก และหากไปดูข้อมูลการฉีดวัคซีนในปัจจุบันของประเทศไทย พบว่า สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มมีแค่ 7% ของประชากรทั้งหมด ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศด้วย นี่คือเครื่องสะท้อนว่าไทยในฐานะที่เป็นประเทศต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและบริการ ยิ่งจำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและเร็วขึ้น
 
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีบทบาทในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน ผ่านมาตรการทางการคลังซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ขาดไม่ได้ เพราะรายได้ครัวเรือนที่หายไปในช่วง 2 ปี จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกิน 10% ของจีดีพี ยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ แม้ปีนี้จะประเมินว่าภาคส่งออกจะเติบโตได้ถึง 17.7% ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะการจ้างงานในภาคการส่งออกไม่ได้มากเมื่อเทียบกับการจ้างงานในระบบ และเมื่อเทียบกับตัวเลขคนว่างานและเสมือนว่างงาน จึงเป็นเหตุผลว่าการส่งออกสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่นัก
 
ขณะที่บริษัทเอกชนแม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ ดังนั้นการใช้จ่ายของภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาหลุมรายได้ที่ทั้งใหญ่และลึก และคาดว่าจะยาวนาน
 
โดยการใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก และต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุดเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทที่อาจนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดและทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานและสร้างรายได้โดยเร็ว
 
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐก็จะช่วยให้จีดีพีกลับมาเติบโตได้ใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น โดยกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก
 
ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง และปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว
 
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินต้องมีแผนชัดเจนในระยะยาวที่จะทำให้ภาคการคลังกลับมาสู่ระดับที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่มช่องทางในการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต
 
ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีกลับลงมาในระยะข้างหน้า เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ พร้อมทั้งการปรับเพิ่มภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำ เพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน
 
นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงอีกประมาณ 0.33% ต่อจีดีพี

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: