จับตา!“บาทดิจิทัล” ในอนาคตอันใกล้ ธปท.นำร่องโครงการ “อินทนนท์”

เห็นจีนเพิ่งเริ่มทดลองใช้ “หยวนดิจิทัล” เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางด้านการเงิน เปลี่ยนระบบการค้าการลงทุนจาก “ดอลล่าร์สหรัฐ” ที่เป็นสกุลเงินหลักบนโลกนี้มานาน หันมามองที่ไทยเราบ้างก็ไม่น้อยหน้ากับ “บาทดิจิทัล” สกุลเงินดิจิทัลสายเลือดสยามที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีแนวคิดในการสร้างคริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) “บาทดิจิทัล” เหมือนธนาคารกลางชาติอื่นๆเช่นกันโดยใช้ว่า “โครงการอินทนนท์” โดยร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ,ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ,ธนาคารกสิกรไทย ,ธนาคารไทยพาณิชย์ ,ธนาคารธนชาต ธนาครสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ,ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น อีกทั้งยังมีบริษัท R3 ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทด้าน Blockchain ระดับโลกร่วมด้วย
สำหรับกูรูด้านการเงิน ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่อยู่ในแวดวงธนาคารอาจเคยได้ยิน “บาทดิจิทัล” กันมาแล้ว ในขณะที่คนทั่วๆไปรวมทั้งผมเมื่อได้อ่านเจอเรื่องนี้ใน Blockdit แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมากครับ เลยขออนุญาตนำข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นความรู้ใหม่ให้ได้อ่านกันสั้นๆ
สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม และทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงินของประเทศให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain หรือ DLT เป็นพื้นฐานภายในระบบ
โครงการอินทนนนท์ มี 3 เฟส ทำการทดสอบระยะที่ 1 เมื่อปี 2561 โดยศึกษาการปรับใช้กับการโอนเงินระหว่างธนาคารกับธนาคาร รวมถึงธนาคารกับแบงก์ชาติได้โดยตรง มีความสะดวกรวดเร็วในการโอนเงิน และยังช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม
ระยะที่ 2 (ก.พ.-มิ.ย. 2562) ขยายสู่การซื้อขายพันธบัตรระหว่างธนาคาร ด้วยระบบ “Smart contract” โดยแบงก์ชาติจะออก “Bond Token” และ “CBDC” เพื่อใช้ในการทำธุรกรรม ในการซื้อขายพันธบัตรได้ตลอด 24 ชม.ทุกวัน อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลและตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินสำหรับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามสถานะการโอนเงินได้ตลอดเวลา
ส่วนระยะที่ 3 เริ่มในเดือน ส.ค. ปี 2562 โดยใช้เทคโนโลยี DLT ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศ (cross-border funds transfer) และนำมาออกแบบเชิงธุรกิจรวมถึงการกำกับดูแล โดยมีแผนจะร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) เพื่อส่งเสริมการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยต้นทุนที่ลดลง เพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ตามกำหนดที่ตั้งไว้นั้นแบงค์ชาติจะทดสอบเสร็จสิ้นในไตรมาสที่4 ของปี 2562 ซึ่งผลการทดสอบนั้นยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาให้เราทราบ
ทั้งนี้ หากมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ทำให้ในอนาคตระบบจะเปลี่ยนเป็นการที่ธนาคารกลางเปิดรับให้ธนาคารในเครือนำเงินบาทมาแลก Token โดยมีมูลค่า 1:1” หรือที่เรียกว่า “การ Tokenized เงินบาท” ซึ่งรูปแบบการแลกเปลี่ยนในรูปแบบบาทคอยน์นี้จะยังถูกใช้เฉพาะในระดับสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่มีการโอนย้ายเงินทีละมากๆ เท่านั้น
สิ่งสำคัญคือระบบ Smart Contract ของบล็อกเชน ที่ทางผู้โอนจะสามารถตั้งเงื่อนไขหรือแม้แต่ช่วงเวลาที่จะทำการโอนนั้นๆ ได้ เรียกได้ว่าหากโมเดลนี้สำเร็จก็จะพลิกโฉมให้ระบบการเงินระดับสถาบันไปได้อย่างมาก ไม่ต้องรอแบงก์ชาติเป็นตัวกลางตลอดเวลา โดยทางทีมงานโครงการอินทนนท์มีการนำระบบของทาง Corda R3 มาช่วยในการพัฒนาตรงส่วนนี้ด้วย
จากบทสัมภาษณ์ทีมโครงการอินทนนท์ เปิดเผยว่า ธปท.เริ่มต้นการศึกษา CBDC ด้วยการทดลอง Wholesale CBDC เพราะมองว่าผลกระทบของ CBDC ชนิดนี้มีอยู่ในวงจำกัด ไม่เหมือนกับ Retail CBDC ที่จะมีผลกระทบในวงกว้างกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีความพยายามจะผลักดัน Wholesale CBDC เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อใช้ในการชำระเงินระหว่างธุรกิจเท่านั้น (โดยเฉพาะธนาคาร) กล่าวคือคนทั่วไปจะไม่มีสิทธิใช้ CBDC ตัวนี้
นอกจากนี้ไทยยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศติด1 ใน 10 อันดับของโลกที่มีความพร้อมด้าน Wholesale CBDC เพราะได้มีการศึกษาและทดลองมาแล้วประมาณ 3 ปี แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้โครงการอินทนนท์ยังอยู่ในช่วง Proof of Concept หรือระหว่างการพัฒนา ซึ่งหมายความว่าจะยังไม่ได้มีการใช้งานจริง
ทีมโครงการอินทนนท์ ยังระบุอีกว่า ธปท.นำเอาระบบ RTGS หรือที่เรียกกันว่า “บาทเนต” มาใช้ในการจัดการธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินต่างๆโดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวกลาง มาเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว ซึ่งระบบทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภายใต้ระบบนี้RTGS นี้ธนาคารแต่ละแห่งจะต้องนำเงินจำนวนมากมาฝากไว้กับไว้ในบัญชีธปท. ธนาคารต่างๆถึงจะทำธุรกรรมระหว่างกันได้ แต่การเอาเงินจำนวนมากมาวางทิ้งไว้ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่สูงมาก ซึ่งบาทดิจิทัลจะเข้ามาแก้ไขในจุดนี้
การใช้บาทดิจิทัลจะทำให้ธนาคารต่างๆสามารถชำระเงินระหว่างกันได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่าน ธปท.ทำให้ลดจำนวนเงินที่กองทิ้งไว้เปล่าๆได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบในแง่ที่ว่าถ้าระบบที่แบงค์ชาติเกิดล่ม ธนาคารอื่นๆก็ยังทำธุรกรรมกันต่อได้ ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ถ้าระบบของแบงค์ชาติมีปัญหาก็จะส่งผลกระทบไปยังทุกธนาคาร ระบบบาทดิจิทัลยังสามารถทำงานโดยอัตโนมัติ 24 ชั่วโมงซึ่งแตกต่างกับบาทเนตที่มีเวลาเปิดปิด
อีกหนึ่งจุดประสงค์ในการศึกษาบาทดิจิทัลก็คือการโอนเงินระหว่างประเทศ เพราะการโอนเงินระหว่างประเทศจำเป็นต้องพึ่งสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมประเทศต้นทางและปลายทาง ซึ่งระหว่างทางอาจมีตัวกลางหลายๆทอด โดยธนาคารประเทศต้นทางจะต้องแปลงเงินให้อยู่ในสกุลดอลลาร์ก่อนด้วยแล้วค่อยเปลี่ยนไปเป็นเงินสกุลปลายทางอีกครั้งหนึ่ง
กระบวนการเหล่านี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งเงินระหว่างประเทศสูงมาก โดยบาทดิจิทัลจะสามารถทำให้ธนาคารที่ไทยสามารถส่งเงินไปที่ธนาคารประเทศปลายทางได้เลยโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางหลายๆทอดและไม่ต้องแลกเงินเป็นดอลลาร์ก่อน เรียกได้ว่าแลกกับประเทศปลายทางโดยตรงเลย การจะทำสิ่งนี้ได้จะต้องได้รับความร่วมมือกับประเทศปลายทาง ซึ่งไทยได้มีความร่วมมือกับฮ่องกงในการพัฒนา
ทั้งนี้ “บาทดิจิทัล” ยังติดขัดเรื่องระบบที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับปรุงให้สมบูรณ์ รวมถึงความปลอดภัย ความเสถียรของระบบ ความรวดเร็ว ความโปร่งใส ประสิทธิภาพโดยรวม ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องกฎหมาย ทั้งความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเสถียร ซึ่งถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็จะต้องมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ แต่สำหรับประเทศไทยเองยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ในอนาคตเมื่อระบบพัฒนาจนมีความพร้อมและมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว ก็เป็นไปได้ที่บาทดิจิทัลจะถูกนำมาใช้กับระบบของแบงค์ชาติจริงๆ
อย่างไรก็ตาม โครงการอินทนนท์นี้ก็ทำให้ ธปท.ยกระดับพร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินหลักของประเทศ เพราะการสร้าง Wholesale CBDC จะทำให้ธปท.มีความเข้าใจในตัวเทคโนโลยี DLT และบล็อคเชนมากขึ้นซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีก่อนที่จะออก Retail CBDC ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้
นอกจากนี้ ธปท.ก็ได้ลองทดสอบบาทดิจิทัลกับระบบจัดซื้อระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทยกับคู่ค้า เป็นการขยายขอบเขตของ Wholesale CBDC ที่แต่เดิมใช้กับกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ไปยังธุรกิจประเภทอื่น
ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็จะได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพในการชำระเงินระหว่างธนาคารที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องเอาเงินจำนวนมากไปฝากไว้กับแบงค์ชาติ สามารถเอาเงินส่วนนี้ไปบริหารหรือสร้างรายได้เพิ่มเติม การชำระเงินก็ยังทำได้รวดเร็วขึ้นทำได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพราะระบบบาทดิจิทัลไม่มีเวลาปิดทำการ
ส่วนคนทั่วไปอาจจะได้ประโยชน์จากบาทดิจิทัลในรูปแบบของการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงหากวันหนึ่ง ธปท.เห็นว่าปัจจัยทุกอย่างพร้อมแล้วก็อาจจะเริ่มทดลองให้ประชาชนได้ใช้บาทดิจิทัลเปลี่ยนจาก Wholesale CBDC เป็น Retail CBDC ซึ่งอนาคตคาดว่าเมื่อสังคมคุ้นเคยกับการวิถีไร้เงินสด บาทดิจิทัลก็จะถูกปล่อยออกมาให้ทุกคนได้รู้จักและใช้มากขึ้น
กูรูด้านการเงินการธนาคารคาดกันว่า ด้วยความใหม่ของเทคโนโลยีบล็อกเชนกับแนวคิด Tokenization อาจมีอะไรให้ปรับและพัฒนาอีกมาก อย่างน้อยก็ 3-5 ปีนับจากนี้
บทความโดย ธนก บังผล
/////////////////
References:
Blockdit “คลินิกการลงทุน” และ THINK FUTURE
-https://www.bangkokpost.com/business/1714652/project-inthanon-heads-to-phase-iii
-https://www.tokenpost.com/Bank-of-Thailands-Project-Inthanon-advances-to-Phase-III-2700
-https://thailand.shafaqna.com/TH/AL/1080843
-https://www.nationthailand.com/business/30373172
-https://brandinside.asia/cryptocurrency-bot-inthanon-1/
-Innotech Asset Management
-https://www.salika.co/2018/08/25/project-inthanon-central-bank-digital-currency-by-bot/
-https://www.ccn.com/project-inthanon-thailand-will-trial-central-bank-digital-currency/?amp
-https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/News2562/n562e.pdf
-https://www.etda.or.th/app/webroot/content_files/13/files/1_dr_amphon.pdf
-https://www.bot.or.th/English/AboutBOT/Activities/Pages/MOUFINTECH_HKMA_14May2019.aspx
Click to access Paper_DigitalizationonFinancialServices.pdf
https://www.bot.or.th/English/FinancialMarkets/ProjectInthanon/Pages/Inthanon_LionRock.aspx
[สรุป] โครงการอินทนนท์ และเหรียญ CBDC ของแบงก์ชาติคืออะไร คนไทยจะได้ใช้หรือไม่