“จักรยานแชร์ใช้” ล้อมคอกก่อนซ้ำรอยจีน
แอพพลิเคชั่นบริการแชร์จักรยาน ซึ่งเรียกขานกันหลายชื่อ ทั้ง จักรยานสาธารณะ จักรยานแชร์ใช้ หรือกระทั่งจักรยานอัจฉริยะ แห่เข้ามาเปิดตัวในเมืองไทยในปีนี้ โดยปัจจุบันมีถึง 3 แบรนด์ที่ให้บริการ ได้แก่ โอโฟ่ (Ofo) จากจีน, โอไบค์ (oBike) จากสิงคโปร์ และล่าสุดคือ โมไบค์ (Mobike) ผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติจีน และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะมีแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
นั่นเพราะมีปัจจัยหลายประการสนับสนุนให้ธุรกิจนี้แจ้งเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจราจรที่ติดขัดของบ้านเรา การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้งาน ตลอดจนมุมมองของการลดภาวะมลพิษ การออกกำลังกายไปจนถึงการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (ระยะใกล้ๆ)
เริ่มจาก โอโฟ่ สัญลักษณ์จักรยานสีเหลืองสดใส ถือเป็นรายใหญ่อันดับต้นๆในจีน ที่ประกาศบุกตลาดเมืองไทยด้วยจักรยานจำนวนรวม 6,000 คัน โดยจะจัดวางไว้ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพ หลังจากเปิดให้บริการแล้วที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 3,500 คัน คิดค่าบริการ 5 บาท ต่อการใช้งาน 30 นาที พร้อมเงินมัดจำ 99 บาท โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานธุรกิจบริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะ หรือ ไบค์ แชริ่งในตลาดอาเซียน
ปัจจุบันโอโฟ่เปิดธุรกิจไปแล้ว 16 ประเทศทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอเมริกามีจักรยานทั้งหมดมากกว่า 300 ล้านคัน ขณะที่แผนงานในไทยปี 2561 จะเริ่มขยายไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มนอกเหนือจากมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในสมาร์ท ซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ ที่ทดลองแล้วใน จ.ภูเก็ต กว่า 1,500 คัน โดยจะขยายไปยัง จ.เชียงใหม่ และขอนแก่น รวมถึงกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คาดว่าปีหน้าจะมีจำนวนจักรยานเพิ่มเป็น 1 แสนคัน
ต่อด้วย โมไบค์ เจ้าของจักรยานสีส้ม ยักษ์ใหญ่อีกรายจากประเทศจีน เข้ามาจับมือเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส, เซ็นทรัลพัฒนา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มชิมลางเปิดให้บริการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อน ตามด้วย เซ็นทรัลเวิลด์ จากนั้นจะขยายต่อไปทั่วประเทศ รวมไปถึงมหาวิทยาลัย สถานที่ท่องเที่ยวในหัวเมืองต่างๆ อีกด้วย โดยใช้เทคโนโลยี NB- IoT หรือ Narrow band Internet of Things ของค่ายเอไอเอส และชำระเงินผ่านเอ็มเพย์
สำหรับโมไบค์นั้น เปิดให้บริการที่เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองแรก ภายใน 1 ปีมีจักรยานที่ให้บริการรวมกว่า 7 ล้านคัน โดยได้ขยายการบริการไปยัง 160 เมืองทั่วโลก ปัจจุบันให้บริการทั่วประเทศจีน สิงคโปร์ อิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีผู้ใช้งานประมาณ 30 ล้านเที่ยว/วัน และมีจำนวนผู้ลงทะเบียน 200 ล้านราย
ขณะที่แบรนด์ โอไบค์ (Obike) จากประเทศสิงคโปร์ เลือกเปิดใช้บริการที่แรกที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ เอไอที พร้อมทั้งขยายเครือข่ายการให้บริการฯ ไปในอีก 10 ประเทศ อาทิ สิงโปร์ มาเลเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ อนาคตของจักรยานแชร์ใช้ในเมืองไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักและเตรียมการป้องกันคือ ปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจร การจอดรถที่ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกะกะขวางทาง และการดูแลรักษาจากพฤติกรรมการใช้งานของคนไทย ซึ่งฟันธงได้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน
เห็นได้จากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้งานจักรยานแชร์ริ่งอย่างแพร่หลายรวดเร็วในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่มีผู้ให้บริการมากมายหลายยี่ห้อ เฉพาะในมหานครเซี่ยงไฮ้ก็มีไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ หลากหลายสีสัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การจอดรถไม่เป็นระเบียบเพราะมีจักรยานจำนวนมาก มีจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทางการเซี่ยงไฮ้ต้องออกมาควบคุมปริมาณจักรยานแชร์ริ่ง และเตรียมจัดโซนสำหรับจอดจักรยานให้ชัดเจน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในจีน เป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดขึ้นเช่นกันในประเทศไทย หากมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น และเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการใช้จักรยานแชร์ริ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การเตรียมการป้องกันไว้ก่อนที่เกิดปัญหาโดยใช้กรณีศึกษาและแนวทางจากต่างประเทศที่ใช้มาแล้ว ดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยมองหาวิธีแก้ไขเหมือนหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา
อย่าให้ วัวหายแล้วล้อมคอกกันอีกเลย