Biznews

ค้าออนไลน์เฟื่องฟูสวนทางโลจิสติกส์ไทยเมื่อต่างชาติครองตลาด

ด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ที่รุกคืบเข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกจนสามารถเปลี่ยนแปลงการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนและสังคมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ  จากสังคมดั้งเดิมสู่สังคมที่ต้องก้าวตามให้ทันเทคโนโลยี

ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการพลิกโฉมในช่วง  2–3 ปีที่ผ่านมาชนิดก้าวกระโดดก็คือ “ธุรกิจโลจิสติกส์” และ “การขนส่งสินค้า” เนื่องจากความรุ่งโรจน์ของการค้าออนไลน์ หรือ “อี–คอมเมิร์ซ” ที่เข้ามาพลิกชีวิตของผู้คน พลิกรูปแบบค้าปลีกไปสู่การซื้อขายและชำระเงินผ่านเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้ประเมินมูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์ในปีที่ผ่านมาว่ามีมูลค่าทะลุเกิน 3 ล้านล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.4 ล้านล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคาดการณ์ ตลาดอีคอมเมิร์ซ ในปีนี้เติบโต 12% มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท เป็นตลาดที่มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี จากคนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในการสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น

โดยพฤติกรรมการซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซของคนไทยมีสัดส่วน 90% มาจากมือถือและชำระเงินค่าสินค้าผ่านโมบายแบงกิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ที่มีความสะดวกและรวดเร็ว

และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซนี้เองทำให้ประเทศไทยได้เห็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจในตลาดนี้ นั่นคือ ธุรกิจโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้ากลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงเป็นเงาตามตัว ด้วยเหตุที่การจัดการขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปถึงมือผู้ซื้อยังคงต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้าเป็นหลัก

ปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ นอกจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ที่เคยยืนหนึ่งมาเนิ่นนานแล้ว คู่แข่งสำคัญในปัจจุบันมังมีรายล้อมไปทั่ว โดยเฉพาะคู่แข่งคนสำคัญจากต่างประเทศอย่าง Kerry Express ยักษ์ใหญ่สัญชาติฮ่องกงที่มาแรง   SCG Express ที่จับมือกับบริษัทขนส่งสัญชาติญี่ปุ่น “แมวดำ”, นิ่มซี่เส็ง ขาใหญ่แห่งการขนส่งทางภาคเหนือที่รุกไปทั่วทุกภูมิภาค, บริษัท พัสดุภัณฑ์ไทย จำกัด และ DHL Express ยักษ์ใหญ่ ขนส่งข้ามทวีปจากเยอรมัน

แม้แต่การรถไฟ และ บริษัทขนส่งวันนี้ต่างหันมาปรับปรุงระบบรองรับการขนส่งพัสดุเพื่อสร้างรายได้เพิ่มไม่เว้นแม้แต่ “ม้าเร็ว” เดลิเวอรี่ หรือ “แมสเซ็นเจอร์” ที่เคยให้บริการรับส่งสินค้าขนาดย่อมๆ วันนี้ก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่จากการก้าวรุกของ “ไลน์แมน” “อูเบอร์อีทส์” และเจ้าอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2562 ถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยอย่างยิ่งยวด ในยุคที่ถูกรายใหญ่กินรวบ ถ้าไม่ปรับตัวผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่ยากแน่นอน

ล่าสุด นายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) บอกว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และภาคขนส่งในประเทศไทยปัจจุบันน่าเป็นห่วงอย่างมากต่ออนาคตผู้ประกอบการไทย เนื่องจากอยู่ในมือบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ถึง 80-90% โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ

สำหรับสาเหตุของปัญหาดังกล่าว นายกสมาคมฯ บอกว่า มาจากการผ่อนคลายข้อกฎหมายเรื่องการถือหุ้นในบริษัทเอกชนโดยคนต่างชาติ ที่เปิดช่องให้ถือหุ้นได้มากกว่า 51% นอกจากนี้บริษัทต่างชาติยังมาพร้อมกับเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่น สินค้าออนไลน์และอี-คอทเมิร์ซในรูปแบบต่างๆอีกด้วย

ขณะที่การขนส่งทางบกพบว่าผู้ประกอบการไทยยังคงครองสัดส่วนตลาดได้กว่า 80% ของโลจิสติกส์ในรูปแบบ B2B ขณะที่โลจิสติกส์รูปแบบ B2C ซึ่งแข่งขันกันอย่างดุเดือดนั้นผู้ประกอบการไทยอย่าง ไปรษณีย์ ยังเป็นผู้ครองสัดส่วนตลาด 50-60% แต่การเติบโตลดลงเรื่อยๆและอัตราเติบโตของรายได้น้อยกว่าเอกชนเกือบ 10 เท่า ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยโตปีละ 10% แต่ Kerry โตปีละ 100% ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์สองอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัวอยู่ที่ภาคเอกชนทำธุรกิจแบบกล้าได้.กล้าเสีย ยอมขาดทุนในช่วงแรกเพื่อดึงลูกค้า ดังนั้นจึงเสนอราคาที่ต่ำมาก ต่ำกว่าไปรษณีย์ 2-3 เท่า อาทิ ราคาขนส่งสินค้ากล่องเล็ก Flash คิดราคา 19 บาท Kerry …. คิดราคา 25 บาท แต่ไปรษณีย์คิดราคา 45-60 บาท แท้จริงแล้วต้นทุนคือ 45 บาท

ล่าสุด ยักษ์ใหญ่อย่าง KERRY จัดใหญ่ด้วยการเตรียมให้บริการขนส่งสินค้าถึงมือลูกค้าภายในวันเดียวจากปรกติจะถึงวันรุ่งขึ้นหรือที่เรียกว่า Same Day Delivery โดยจะเริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ  โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ  ที่มีศักยภาพ อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น

นอกจากนี้ KERRY ยังเตรียมขยายไลน์สู่สื่อเคลื่อนที่หลังจากที่วี.จี.โกลเบิล เข้ามาถือหุ้นโดยจะเริ่มจากสื่อนอกบ้านซึ่งเป็นสื่อที่มีศักยภาพผ่านระกระบะKERRY ที่มีมากถึงกว่า 15.000 คัน ติดสื่อโฆษณาเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ และเห็นสินค้ามากขึ้น โดยจะเริ่มจากสินค้าอุปโภคบริโภคก่อน

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ KERRY ยังเริ่มทำธุรกิจรับแจกสินค้าตัวอย่าง โดยใช้ทรัพยกรที่มีคือ รถและพนักงานส่งสินค้า เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการแจกสินค้าแบบเดิมที่เน้นการเดินแจกหรือยืนแจกมาเป็นแจกผ่านพนักงานของ KERRY

เมื่อย้อนดูรายได้ย้อนหลังของ Kerry ในปี 2559 รายได้ 3,000 ล้านบาท ในปี 2560 มีรายได้ 6,000 ล้านบาทและในปี 2561 มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท ผลกำไรเติบโตขึ้นในอัตราส่วนเดียวกัน ปัจจุบันกำไรมากกว่าปีละ1,000 ล้านบาท.

อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของนายกสมาคมฯ มองว่า สิ่งที่น่าสนใจคือผู้บริโภคได้ประโยชน์มากที่สุด ในสภาพตลาดการแข่งขันที่รุนแรงเช่นนี้ ทั้งราคาค่าบริการที่ถูกมาก และตัวเลือกประเภทบริการหลากหลาย ตอบโจทย์ได้มากกว่าเมื่อก่อนมาก

แต่ในทางเดียวกันประเทศไทยไม่มีพื้นที่เหลือให้เอกชนสัญชาติไทย แต่กลับเป็นสมรภูมิการค้าของกลุ่มทุนโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกเข้ามายึดครอง

ขณะที่ธุรกิจคนไทยทยอยหายไปจากวงการนี้ทีละราย สองราย     

 

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: