ต้องพึ่งตัวเอง ค้าปลีกภูธรดิ้นหนีตาย ! อัดโปร/ผนึกพันธมิตร กระตุ้นกำลังซื้อ

ดูเหมือนสถานการณ์จะไม่เป็นไปตามที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่มองแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทยต่อไปนี้ จะมาจากค้าปลีกภูธรแถวสองเป็นหลักคาดว่าจะขยายตัวเป็นสองเท่าของจีดีพี และจะขยายออกนอกพื้นที่นอกจังหวัดมากขึ้น ส่วนกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่แถวหนึ่งจะขยายตัวไปสู่ภูมิภาคเพื่อนบ้านและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเติบโตของภาคค้าปลีกในประเทศจะค่อย ๆ ชะลอตัวและทรงตัวในที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องมาจากเปิดปีใหม่ได้ไม่กี่วัน ดูเหมือนธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะฝั่งภูธรสถานการณ์จะยังไม่กระเตื้องแม้ว่าภาครัฐจะเพียรพยายามงัดมาตรการต่างๆหวังกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคก็ตาม
เชียงใหม่ยอดขายลดฮวบ ค้าปลีกเร่งอัดโปรฯ
จังหวัดเชียงใหม่ อีกหนึ่งจังหวัดไฮไลท์ของประเทศไทยที่มีบรรดาค้าปลีกชั้นนำปักหมุดครบถ้วนทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ขณะที่ค้าปลีกท้องถิ่นก็ยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ลดฮวบฮาบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องเข็ญกลยุทธ์ทางการตลาดหวังกระตุ้นกำลังซื้อ
‘สาริศา เมฆอุไร’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารดง กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารโครงการ “กาดฝรั่ง วิลเลจ” ซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด ในพื้นที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ บอกถึงภาพรวมกำลังซื้อธุรกิจค้าปลีกในส่วนของกาดฝรั่ง วิลเลจ ซึ่งมีจำนวนร้านค้าราว 90 ร้านค้า ทั้งธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการ ธนาคาร ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น โดยในปีนี้พบว่ากำลังซื้อกลุ่มคนไทยลดลงราว 5% ขณะที่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ กำลังซื้อลดลง 10% ซึ่งกำลังซื้อคนไทยที่ลดลงมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่วนกำลังซื้อต่างชาติที่ลดลง ปัจจัยหลักคือ เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายของร้านค้าภายในโครงการกาดฝรั่ง วิลเลจ ได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด โดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ (Grab Food, Foodpanda) ซึ่งบริษัทเป็นตัวกลางในการประสานให้กับกลุ่มร้านค้า เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการขายให้กว้างและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ยังได้จัดอีเวนต์ “Farang Market” ทุกวันเสาร์ ภายในโครงการกาดฝรั่ง วิลเลจ เพื่อเปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ และทุกต้นเดือนจะมีอีเวนต์ “Food Truck” ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรมถือเป็นเวทีผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรง ทำให้เกิดการกระตุ้นการซื้อขายสินค้าตลอดทั้งปี
“ตั้งงี่สุน” ตอบรับเทรนด์ออนไลน์ลุยผนึกแบงก์.
ข้ามฝั่งไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดอุดรธานี อีกหนึ่งสมรภูมิเดือดของค่ายค้าปลีกทั้งจากส่วนกลางที่เข้ามาปักหลักครบถ้วนเช่นกัน ก็ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคอย่างถ้วนหน้า
“ตั้งงี่สุน” ในฐานะห้างท้องค้าส่งท้องถิ่นชื่อดังก็ไม่วายที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวแม้ว่าจะกุมความได้เปรียบก็ตาม ยังต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดการจับจ่ายซื้อสินค้า หลังจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก ส่งผลให้ยอดขายปี 2562 ลดลงกว่าเป้าหมายที่วางไว้
‘มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ ห้างสรรพสินค้าตั้งงี่สุน บอกถึงเทรนด์ค้าปลีกภูธรนับจากนี้ว่า เริ่มมีการจับจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการซื้อขายให้เติบโต ดังนั้นตั้งงี่สุนจึงมีแผนที่จับมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อเดินหน้าโปรเจ็กต์ใหม่เจาะสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นเครดิตเฉพาะลูกค้าที่มีข้อมูลในการซื้อสินค้าจากตั้งงี่สุนเป็นประจำ โดยส่งโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินที่ดี มั่นคง เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับผู้ซื้อในการซื้อสินค้า
มิลินทร์ จัดหนักต่อไปว่า ปัจจุบัน คนไทยยังลำบากและหางานยากขึ้น รัฐบาลต้องพยายามสร้างงานให้คน ดันการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคการค้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทรนด์การจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังคงนิยมเดินทางมาเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สมาคมค้าปลีกไทยมองว่า ในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมค้าปลีกต้องใช้ “Data & Asset ” ในการสร้างรายได้ จากผลวิจัยของ Forrester Consulting ในประเทศไทย ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่มีความพร้อมใช้ “Data” มีแค่ 5% เท่านั้นในขณะที่ค้าปลีกโลกมีความพร้อมใช้ Data และ Asset ที่มีการสร้างรายได้ 15% ซึ่งการปฏิวัติการช้อปปิ้งสมัยใหม่ส่งผลให้ผู้ประกอบการการค้าการขายแบบร้านดั้งเดิม ร้านค้าปลีกอิสระขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนที่อยู่ทั่วราชอาณาจักร อาจจะได้ผลกระทบถึงขั้นล้มเลิกกิจการ
ขณะเดียวกันจะเป็นการแจ้งเกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่มองภัยคุกคามในรูปแบบเทคโนโลยีผสมผสานกับพฤติกรรม เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ โดยพัฒนากลายเป็นคู่แข่งใหม่ที่ไม่ต้องการทำเลที่ตั้งหน้าร้าน ไม่ต้องมีสต็อก สามารถเข้าหาลูกค้าได้ทั่วทุกสารทิศ ไม่สนใจเรื่องระยะทางและขนาดของธุรกิจ
นอกจากนี้ Big Data ถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็อาจจะสายไป แต่อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยยังขาด Knowledge และ Know How ห้างค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยกว่า 91% ขาดความสามารถเทคโนโลยี บุคลากร และกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นในการนำ “ข้อมูลเชิงลึก” (Insights) ของลูกค้ามาใช้เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า
สำหรับ Electronic Payments หรือธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในช่วงสองปีที่เริ่มใช้ Prompt Pay คนไทยใช้พร้อมเพย์กว่า 46.5 ล้านราย มีปริมาณธุรกรรมกว่า 1.1 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้น 5.8 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้อุปสรรคสำคัญของการชำระเงินผ่านมือถือ ได้แก่ ร้านค้าที่รองรับมีจำนวนจำกัด, ต้องเติมเงินเป็นประจำ และใช้เงินสดสะดวกกว่าในการใช้จ่ายเงินจำนวนน้อย แต่เมื่อเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี 5G ธุรกรรมทางการเงินจะรวดเร็วและแพร่หลายมากขึ้น จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อย micro business เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญก็คือ ราคาถูก สะดวก และรวดเร็วได้ทุกที่ ทุกคนสามารถเป็นพ่อค้าแม่ค้าได้ อุปกรณ์ทุกชิ้นจะทำธุรกรรมทางการเงินได้
ขอบคุณข้อมูล ประชาชาติธุรกิจ