Columnist

ค่า GP เดลิเวอรี่-ร้านค้า ควรอยู่ที่แค่ไหน? ในวงจรชีวิตแบบ New Normal

ก่อนอื่นเลยต้องพูดถึงค่า GP(Gross Profit)ซึ่งถ้าแปลแบบตรงตัวก็หมายความว่า “กำไรเบื้องต้น”     แต่ถ้าอธิบายอีกแบบก็จะหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ทางร้านต้องเสียให้กับบริการส่งอาหาร

บางคนให้นิยามว่าเป็น ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอพสั่งอาหาร และนับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บ ซึ่งปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกันเช่น Food Panda , Grab , Lineman  ฯลฯ โดยแต่ละที่ก็จะคิดค่าบริการแตกต่างกันครับ

ไม่ว่า ค่า GP จะถูกนิยามว่าอะไรก็ตาม  มันทำให้คนที่ Work from Home หรือกักตัวในช่วงโควิดระบาดต้องจ่ายราคาอาหารที่แพงขึ้นเมื่อเทียบกับการไปรับประทานอาหารที่ร้าน

จริงๆการอยู่บ้านควรจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าไปที่ร้านใช่ไหมครับ อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสมันบังคับให้เราต้อง Stay Home ป้องกันตัวเอง ดังนั้น สำหรับบางคนการเรียกใช้แอพส่งอาหารก็ไม่ได้หมายความว่า “ขี้เกียจ”
ค่า GP บางครั้งก็ทำให้การสั่งอาหารผ่านแอพเหล่านี้เกิดดราม่าตามมา เนื่องจากปริมาณอาหารที่เราสั่งมันรู้สึกว่าทำไมถึงได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือ สั่งไปเป็นชั่วโมงแล้วทำไมส่งช้าไม่ทันใจ บางทีสั่งไปแล้วมีปัญหาในการส่งจนต้องขอให้ยกเลิก เป็นต้น
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริการเดลิเวอรี่ก็เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ มีคนหันไปประกอบอาชีพเป็นไรเดอร์กันเพียบ ซึ่งในแง่ของสร้างงานให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ผมว่าอาชีพนี้สามารถประคองตัวให้พอมีรายได้เข้ากระเป๋าเลี้ยงครอบครัวได้บ้างไม่มากก็น้อย
ในขณะที่ธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ผู้ประกอบการขนาดกลางถึงเล็ก ก็สามารถขายของได้เช่นกัน เพราะเมื่อประกาศห้ามไม่ให้นั่งทานที่ร้าน ดังนั้นบริการเดลิเวอรี่จึงตอบโจทย์ไปโดยปริยาย
แต่อย่างที่เกริ่นมาแล้วในข้างต้นนั่นละครับ ลูกค้ากับทางร้านจึงต้องแบกรับ “ค่าใช้จ่าย” เพิ่มมากขึ้นอีกนิดหน่อยเป็นค่าขนส่ง  
โดยเฉพาะต้นทางอย่างร้านอาหารที่ต้องบวกเพิ่มไปในราคาสินค้า หรือจะพูดให้ถูกต้องคือจ่ายค่าขนส่งกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้ไปอยู่ในเมนูราคาอาหาร

 


หากร้านอาหารเป็นที่รู้จักกันมากๆ ลูกค้าเยอะ ค่า GP นี้บางร้านก็อาจจะไม่สูงมากนัก แต่โดยส่วนใหญ่ร้านอาหารทั่วไปจะต้องจ่ายค่าดำเนินการให้กับแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 30 – 35%
ซึ่งตรงนี้แต่ละร้านจะมีวิธีจัดการค่าคอมมิชชั่นที่ต่างกันครับ บางร้านก็ยอมที่จะจ่ายค่า GP ไว้เองเพื่อรักษาลูกค้าเอาไว้ คิดเสียว่าถ้าภายใน 1 วัน มีลูกค้าสั่งเป็นจำนวนมาก ก็พอจะซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ ในขณะที่บางร้านก็จะบวกไว้จากราคาอาหารและเครื่องดื่มหน้าร้านแบบที่เราๆท่านๆ พบเห็นกันได้ทั่วไป
อยู่ที่ว่าแต่ละร้านนั้นมีต้นทุนและรายจ่ายที่ต้องแบกรับมากน้อยแค่ไหนแตกต่างกันครับ
ยกตัวอย่างการสั่งอาหารให้มาส่งราคา 100 บาท แยกเป็นค่า GP 30 บาท กับค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.1 บาท คิดเป็นตัวเลขกลมๆคือ ทางร้านค้า ร้านอาหารต้องจ่ายให้เดลิเวอรี่ 32 บาท ที่เหลือจริงๆ 68 บาทคือค่าอาหาร
ราคานี้หากนั่งทานที่ร้านตามปกติเราอาจจะจ่ายเพียงแค่ 60 บาท เป็นต้น
ถามว่าปริมาณอาหารระหว่างราคา 60 บาท กับ 100 บาท ราคาไหนควรจะได้เยอะกว่ากัน ?  
เมื่อเข้าใจเรื่อง ค่า GP กันแล้ว ก็มาถึงประเด็นที่ผมอยากจะชวนผู้อ่านแลกเปลี่ยนความคิดนิดหน่อย เพราะผมนั่งคิดนอนคิดแล้วก็รู้สึกสงสัยว่าอาจจะมีอะไรที่ผมเข้าใจผิดไปหรือเปล่า
เนื่องจากล่าสุด คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ผุดไอเดียโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” ล็อตที่ 11 (Food Delivery) โดยครั้งนี้เป็นการเน้นในกลุ่มอาหารเดลิเวอรี่
ท่านรัฐมนตรีอู๊ดด้า บอกว่าได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกันให้ความช่วยเหลือร้านอาหาร ร่วมกับแพลตฟอร์มทั้งหมด 5 แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการ Food Delivery และตัวแทนร้านอาหารทั่วประเทศ ซึ่งก็มาจากเหล่าบรรดาสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด สมาคมร้านอาหารและบันเทิงเชียงใหม่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร ฯลฯ
ประเด็นที่ประชุมกันนั้นก็คือ ขอให้สมาคมต่างๆนี้ช่วยกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์ม และกลุ่มผู้บริโภคซึ่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ

 


โดยผู้ประกอบการร้านอาหารจะมีการลดค่า GP ที่แพลตฟอร์มคิดกับร้านอาหารจากเฉลี่ย 35% -25% ลงมาเหลือ 25% ซึ่งมีแพลตฟอร์มที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 เจ้าคือ Robinhood ,foodpanda ,Grab ,Gojek และ Lineman
ธุรกิจเดลิเวอรี่จะลดค่า GP เหลือ 25% ในภาพรวม ยกเว้น Robinhood ไม่คิดค่า GP ส่วน foodpanda จะไม่คิดค่า GP สำหรับร้านค้าที่เพิ่งเปิดใหม่
ส่วนผู้บริโภคมีประเด็นที่สำคัญคือ ลดราคาอาหารที่ขายผ่านแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์มสูงสุด 60% และจะลดค่าขนส่ง 4 แพลตฟอร์ม ใน 3-5 กิโลเมตรแรก ลดสูงสุดจาก 40 บาทเหลือ 0 บาท ประกอบด้วย 1.Robinhood 2.foodpanda 3.Grab และ 4.Gojek ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564  ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล สำหรับค่า GP

โดยค่าอาหารจะลดทั่วทั้งประเทศนะครับ
นี่เป็นเนื้อข่าวที่ออกมา ซึ่งผมอ่านแล้วก็รู้สึกเหมือนกระทรวงพาณิชย์กำลังทำตัวเป็นคนกลางเข้าไปแทรกแซงค่า GP ในการส่งอาหาร
ค่า GP เหล่านี้ แม้ว่าทางร้านอาหารจะเป็นผู้จ่ายให้ทางเดลิเวอรี่ แต่ในอีกมุมหนึ่งคือการนำเงินจากค่า GP มาเป็นรายได้ให้กับไรเดอร์ที่ขี่จักรยานยนต์ส่งอาหาร
ตรงนี้ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ ?
เพราะถ้าถูกต้องก็หมายความว่า กระทรวงพาณิชย์เข้าไปลดค่า GP จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของไรเดอร์ ถึงแม้ว่าไม่ได้สั่งให้ลดจาก 35 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การปรับลดก็คือการปรับลด
ถามว่าร้านค้าโอเคหรือเปล่า ก็คงจะโอเคละครับ

 

ส่วนไรเดอร์ก็คงมีคำถามว่าจักรยานยนต์พวกเขาใช้น้ำมันเติมเพื่อให้วิ่งไปทำงาน รายได้เขาจะลดลงหรือเปล่า
ส่วนชาวบ้านอย่างเราๆก็ได้แต่อึ้งว่า การส่งอาหารในระยะทาง 3-5 กิโลเมตรที่่ผ่านมาถูกคิดค่าบริการในราคา 40 บาท ถ้าเทียบกับวินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอยดีไม่ดีจะแพงกว่านะครับ
นอกจากนี้แล้ว ผู้ใช้บริการเดลิเวอรี่ผ่านแอพ อาจมีคำถามว่าเมื่อฟรีค่าส่งในระยะ 3-5 กิโลเมตร ตลอดเดือนมิถุนายน ราคาอาหารจะลดลงด้วยหรือไม่ ?
ต้องไม่ลืมนะครับว่าอุตสาหกรรมเดลิเวอรี่ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ อยู่ได้ด้วยการนำค่า GP มาตอบแทนการทำงานของไรเดอร์ ซึ่งค่า GP นี้ทางร้านค้าเป็นผู้จ่าย เมื่อกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือให้เขาลดเปอร์เซ็นต์ลง และในระยะทางใกล้ๆก็ส่งฟรีด้วยนั้น

      ราคาอาหารต้องลดลงใช่หรือไม่ครับ?

 

ทั้งร้านค้าและไรเดอร์ มีรายได้จาก “ชาวบ้าน” ที่เป็นลูกค้า ถ้าในเศรษฐกิจอันฝืดเคืองลูกค้ายังถูกขูดรีด หรือยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดจนในระยะยาวไม่สามารถมีกำลังซื้อขึ้นมาวันใดวันหนึ่ง
ทั้งร้านค้าและไรเดอร์ ก็คงจะมีรายได้จากคนรวย หรือไม่ก็คงวิ่งส่งอาหารจากร้านค้าไปทำเนียบฯกับรัฐสภาเท่านั้นละครับ
วงจรอาชีพไรเดอร์ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งอย่าลืมว่าในอดีตที่ผ่านมาสังคมไทยก็มีหลายอาชีพที่เคยได้รับความนิยม เช่น พนักงานโอเปอร์เรเตอร์ส่งข้อความเข้าไปยังเพจเจอร์ ร้านถ่ายรูป ร้านวีดีโอ อะไรประมาณนี้
ความยั่งยืนถาวรในวงจรธุรกิจซึ่งเกิดมาจากวิกฤตโรคระบาดนั้น ผมไม่ค่อยจะมั่นใจเท่าไรครับว่าในอีก 5-10 ปีต่อจากนี้หากถึงจุดที่ปลอดภัยแล้วไรเดอร์จะต้องปรับตัวให้เป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์ในปัจจุบันหรือไม่

     คือแม้ว่าจะไม่ได้สูญหาย แต่ก็ไม่ได้สำคัญเหมือนในอดีต
เพราะฉะนั้นในเวลานี้ที่ร้านค้า-เดลิเวอรี่-ผู้ใช้บริการ ต่างก็อยู่ในห่วงโซ่พึ่งพาซึ่งกันและกัน โครงการของรัฐมนตรีอู๊ดด้า ไปแทรกแซงค่า GP มาถูกทางหรือเปล่าครับ

ค่า GP ควรจะถูกกำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดหรือไม่
นั่นยังทำให้มีคำถามต่อมาว่า รายได้เบี้ยขยันของไรเดอร์ควรจะได้จากส่วนแบ่งจากบริษัทหรือจากร้านค้า
กระทรวงพาณิชย์ควรมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมแบบยั่งยืนมากกว่าจะมาเป็นมาตรการเยียวยามีระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งผมพยายามคิดอยู่ตั้งนานว่าประโยชน์อยู่ตรงไหน  …คิดไม่ออกครับ
คำถามเหล่านี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพราะไม่เห้นด้วยกับโครงการนะครับ แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อถามหา “มาตรฐาน” ที่เหมาะสมกับ “วงจรธุรกิจ”
บทสรุปคือให้ทุกฝ่ายได้ วิน-วิน  และเป็นธรรมครับ

(โดย : ธนก บังผล)

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: