Biznews

“คืนแวต/ร้านค้าปลอดภาษี /ดิวตี้ฟรีต้องโปร่งใส”ภารกิจนายกส.ค้าปลีกคนที่ 10

เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการสำหรับนายกสมาคมผู้ค้าปลีกคนใหม่คนที่ 10 อย่าง “วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คนใหม่ เปิดฉากบอกเล่าถึงภารกิจสำคัญแบ่งออกเป็น 3 ภารกิจสำคัญ แถมยังประเมินภาพรวมการค้าปลีกของไทยว่า เติบโตเพียง 3.9% ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มีอัตราเติบโตสูงสุดถึง 12.7% อินโดนีเซีย 9.4% มาเลเซีย 9.2% และฟิลิปปินส์ 8.2% สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวฉุดไม่ให้อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยเติบโตขึ้นได้

ปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตมากที่สุด ในสายตานายกฯคนใหม่คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในแต่ละปีมากเป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ากว่า 3.3 ล้านล้านบาท แต่พบว่ามีรายได้จากการซื้อสินค้าในไทยน้อยมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่ต้องการเสียภาษีในการซื้อสินค้า ซึ่งหลายประเทศได้ปลดล็อกเรื่องการเสียภาษีในการซื้อสินค้าภายในประเทศแล้ว แต่ไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนมากมักเข้ามาเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมากกว่าที่จะเน้นการมาซื้อสินค้า ต่างจากฮ่องกงหรือสิงคโปร์ที่นักท่องเที่ยวส่วนมากตั้งใจเดินทางไปเพื่อซื้อสินค้านำมาซึ่งมาตรการที่ 1


มาตรการมุ่งสู่ความเป็น shopping Paradise 1 : Downtown Vat Refund For Tourist

วรวุฒิ บอกว่า ทุกวันนี้ เราก็มีร้านค้าในลักษณะ VAT Free แต่ไม่เต็มรูปแบบ ร้านค้าในไทยถูกกำหนดให้เป็นร้านค้า VAT Refund for Tourist ซึ่งผู้บริโภคจะต้องนำเอกสารไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ จุดให้บริการที่สนามบิน เมื่อได้รับคืนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายในสนามบินมากนัก เพราะมีเวลาช้อปปิ้งเหลือน้อย แต่หากเราต้องการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการจับจ่าย ก็สามารถกำหนดให้ร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ VAT Free Shop โดยกำหนดให้ร้านค้าขายสินค้าในราคาไม่รวม VAT หรือ ถ้าขายในราคารวม VAT นักท่องเที่ยวก็สามารถขอคืน VAT ได้ในวันที่ซื้อ ณ จุดขายทันที ทั้งนี้จะได้ไม่ต้องเป็นภาระเจ้าหน้าที่สรรพากรไปเปิดเคาน์เตอร์รอนักท่องเที่ยวไปขอคืนที่สนามบิน ทั้งนี้ จะดำเนินการอย่างไร กรมสรรพากรและกรมศุลกากร ก็สามารถกำหนดรายละเอียด วิธีการและเงื่อนไข ให้สอดคล้องกับแนวทางปฎิบัติและนโยบายได้ตามความเหมาะสม

ภาครัฐก็ต้อง ส่งเสริมให้มีดำเนินการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม (Duty &Tax Free Shop) ในเมืองได้อย่างเสรี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยว รวมทั้งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าดังกล่าว โดยเพียงแสดงเอกสารตามกฎระเบียบของกรมศุลกากรที่จุดบริการภายในบริเวณสนามบิน เหมือนหลายๆ ประเทศในทวีปยุโรป

ดังนั้น หากภาครัฐสามารถเพิ่มมาตรการส่งเสริมให้มีเปิดร้านค้าปลอดอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มในเมือง (Duty & Tax Free Down Town Shop) เพิ่มขึ้น และมีร้านค้าปลอดภาษี (VAT Free Shop) ระบบที่ร้านค้าสามารถคืนเงินภาษีให้กับนักท่องเที่ยวได้ทันที ณ จุดขายเปิดให้บริการอย่างทั่วถึง ก็จะเป็นแรงจูงใจนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวและช้อปปิ้งในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่มีศักยภาพ ไม่แพ้ ฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ จากแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้หลายภาคธุรกิจ ทั้งกลุ่มค้าปลีก กลุ่มธุรกิจบริการ โรงแรม สปา ขนส่งมวลชน ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาจับจ่ายและท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย


มาตรการมุ่งสู่ความเป็น Shopping Paradise 2 : ให้มีร้านค้าปลอดภาษีในเมืองเพิ่มขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่อง Pick up counter

Shopping Tourism เป็นนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ได้กลายเป็นหนึ่งใน เครื่องมือสำคัญของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้จริง จากหลายประเทศที่นำมาใช้ทั้งในยุโรป และเอเชีย ตั้งแต่อดีต (ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น) จนถึงปัจจุบัน ไม่เว้นแต่ประเทศในอาเชี่ยน ต่างก็ใช้นโยบายดังกล่าว มาเลเซีย ประเทศอุตสาหกรรมที่มีวินัยทางการเงินและการคลังที่เข้มแข็ง ได้นำ Shopping Tourism มาเป็น เครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ) และได้สร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจน้อยใหญ่ของประเทศ ด้วยการออกมาตรการต่างๆ อาทิ กำหนดเขตปลอดภาษี และ ลดพิกัดภาษีสินค้า Luxury ให้ลงมาที่ 5-10% เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผลักดันให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตโดยเฉลี่ยถึง 9.2%

จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ระดับโลก ได้ใช้นโยบาย Shopping Tourism มาหลายปี ดังจะเห็นได้จากการเปิด ร้านค้าปลอดอากรในเมืองบนเนื้อที่กว่า 100,000 ตารางเมตรบนเกาะไหหลำ ซึ่งถือว่าเป็นร้านค้าปลอดอากรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูด นักช้อปจากในประเทศ และทั่วโลกให้บินมาที่เกาะแห่งนี้ และต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานการท่องเที่ยวของประเทศจีนได้ประกาศภารกิจหลักที่จะต้องทำให้สำเร็จในปีนี้ คือ การเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในจีน นอกจากนั้นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ก็มีแผนที่จะเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองขนาด 37,000 ตารางเมตร และตั้งเป้าหมายเป็น “ศูนย์กลางการค้าใหม่ในอาเซียน” จะเห็นได้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียต่างเห็นศักยภาพ และโอกาสของการนำ Shopping Tourism มาใช้เป็นแกนหลักในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่เฉพาะอุตสาหกรรมค้าปลีกเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์โดยตรง อุตสาหกรรมข้างเคียง และอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน แต่ความฝันในการสร้างความเป็น Shopping Paradise จากการมีร้านค้าปลอดอากรให้เป็นจริงไม่ได้ และภาครัฐก็ไม่มีความจริงใจและจริงจังที่จะมีก็คือ การขาดจุดส่งมอบสินค้าในสนามบิน หรือที่เรียกว่า “Pick-up Counter” หรือ “จุดส่งมอบสินค้า” ถือเป็นช่องทางหนึ่งในกระบวนการส่งมอบสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง ตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 กำหนดให้มีจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินนานาชาติ ดังนั้น เพื่อเปิดเสรีให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองอย่างแท้จริง ทอท.ต้องมี “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” หรือ “Pick-up Counter” ที่ดำเนินการเอง หรือให้บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรดำเนินการ หากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรใดมีสิทธิได้สัมปทานดำเนินการ ก็จะสร้างความไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นในด้านข้อมูลทางการค้า


มาตรการมุ่งสู่ความเป็น Shopping Paradise 3 : สัมปทาน Duty Free สนามบิน ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม

ผลจากสัมมนาเชิงวิชาการที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการให้สัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (สัมปทานฯ) ในประเทศไทย เพื่อให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและประชาชน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561 มีข้อสรุปว่าประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลที่จะเพิ่ม รายได้จากอุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยวเติบโตขึ้นคิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 270,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ภาครัฐได้รับผลประโยชน์สุทธิรวมกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี จะช่วยส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยวของไทยสู่มาตรฐานใหม่ และจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลกมากยิ่งขึ้นไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการแก้ไขการให้สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอื่นๆในอนาคต หลักๆ 4 ข้อ ประกอบด้วย

ก. ความโปร่งใสและความเป็นธรรมของกระบวนการการให้สัมปทานฯ ซึ่งปัจจุบันไม่มีกระบวนการที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส จึงมีข้อเสนอแนะให้มีคณะกรรมการจากภาคส่วนอื่นๆที่ไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือเป็นผู้สังเกตการณ์กระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทีโออาร์ และการคัดเลือกผู้ได้รับสัมปทานฯ โดยมีการอ้างอิงกับแนวทางปฏิบัติสากลที่ดีที่สุดของโลก (Best Practice) ทั้งนี้ คณะกรรมการควรมาจากภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และตัวแทนจากภาคเอกชน เป็นต้น

ข. รูปแบบสัมปทาน ปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ใช้รูปแบบสัมปทานฯ รายเดียว (Master Concession) ซึ่งเป็นการผูกขาดและไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งผลให้ความหลากหลายของสินค้า และคุณภาพของการบริการมีจำกัด จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการพิจารณา ให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานรายเดียว (Master Concession)
มาใช้ระบบสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category)

ค. ระยะเวลาสัมปทาน ปัจจุบันระยะเวลาการให้สัมปทานฯ นานถึง 10 ปีและขยายระยะเวลาได้อีกโดยไม่มีการเปิดประมูล จึงมีข้อเสนอแนะว่าให้มีการกำหนดระยะเวลาสัมปทานฯ ให้ใกล้เคียงกับแนวทางปฏิบัติสากลที่ประเทศชั้นนำต่างๆ ใช้อยู่คือระยะเวลาสัมปทานฯระหว่าง 5-7 ปี และไม่มีการต่ออายุสัมปทาน ซึ่งการปรับลดระยะเวลาสัมปทานลงจะช่วยป้องกันการผูกขาดในระยะยาวจากผู้ดำเนินกิจการเพียงรายเดียว รวมถึงกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆ ควบคู่ไปกับความแปลกใหม่ในการมอบสินค้าและประสบการณ์ให้ลูกค้า

ง. ค่าธรรมเนียมสัมปทาน การปรับค่าธรรมเนียมสัมปทานเพิ่มขึ้นจาก 17% ที่สนามบินสุวรรณภูมิและ 19% ที่สนามบินของทอท.แห่งอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก 25-47% จะส่งผลให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อน ไม่สามารถประนีประนอมได้

การปรับเปลี่ยนรูปแบบสัมปทาน โครงสร้างการกำกับดูแล รูปแบบการส่งมอบสินค้าปลอดอากร และระยะเวลาการได้รับสัมปทานที่จะใช้ในประเทศไทย จะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่ดีขึ้น และขับเคลื่อนผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในสนามบินให้สร้างแนวคิดการค้าปลีกใหม่และยกระดับมาตรฐานการเสนอขายสินค้าและบริการ ดังนั้น ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ราคาที่แข่งขันได้ และบริการที่ดีขึ้น

วรวุฒิ จัดเต็มเกี่ยวกับระบบสัมปทานดิวตี้ฟรีอีกว่าต้องโปร่งใสและเป็นธรรม ผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อนและไม่สามารถประนีประนอมได้ แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความต้องการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัมปทาน โครงสร้างการกำกับดูแลรูปแบบการส่งมอบสินค้าปลอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ความโปร่งใสและความเป็นธรรมของกระบวนการให้สัมปทาน รวมถึงระยะเวลาการได้รับสัมปทานที่จะใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่ดีขึ้น เป็นส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนา หากสามารถแก้ไขการให้สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอื่นๆ ได้ในอนาคต จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม จากอุตสาหกรรมค้าปลีกในการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นคิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 270,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ภาครัฐได้รับผลประโยชน์สุทธิรวมกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยวของไทยสู่มาตรฐานใหม่ และจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลกมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ จากการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในดลกพบว่า สนามบินสุวรรณภูมิของไทยเราอยู่ในอันดับที่ 38 ของโลก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกันแต่อันดับต่างกันมาก อย่าง สิงค์โปร์ อยู่อันดับ 1 อันดับ 2 เกาหลีใต้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาบางอย่างได้เป็นอย่างดี

จากการศึกษา พบว่า การใช้จ่ายสำหรับธุรกิจค้าปลีกในสนามบินที่สุวรรณภูมิต่อผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 46 เหรียญสหรัฐฯ เป็น 70 เหรียญสหรัฐฯ (ระดับปัจจุบันของเกาหลีใต้) หากมีผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศจำนวนเท่าเดิม ผลลัพธ์ของการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมีมูลค่าเท่ากับ 540 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 52% สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิแห่งเดียว และ เมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างภาคค้าปลีกท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว การใช้จ่ายด้านการช็อปปิ้งของคนไทยในต่างประเทศอาจเปลี่ยนกลับเข้ามาในประเทศ หากค่าใช้จ่ายช้อปปิ้งเพียง 15-30% กลับคืนสู่ประเทศไทย จะมีมูลค่าถึงประมาณ 320-640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลับเข้าสู่เศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ รายได้ของทอท. สามารถเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าธรรมเนียมสัมปทานเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันอัตราส่วนแบ่งรายได้ของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ 15% หากตัวเลขดังกล่าวมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็น 30% และใช้กับยอดขายโดยประมาณที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทอท. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 165 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ล่าสุด จากการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการท่าอากาศยาน ระบุว่า สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิ กำลังอยู่ระหว่าง TOR ซึ่งจะผนวกรวมพื้นที่เทอร์มินอลหนึ่งที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2563 และเทอร์มินอล สองซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปลายปี 2563 และสถานีแซทเทอร์ไลท์ แล้วเปิดประมูลให้ผู้รับสัมปทานรายเดียวแบบเดิมคือ Master concession เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการของ ทอท. ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง การท่าฯควรคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นอันดับหนึ่ง การบริหารจัดการไม่ควรมาเป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขการประนีประนอมผลประโยชน์ของชาติ การบริหารจัดการเป็นเรื่องฝีมือของผู้บริหารที่จะต้องสร้างผลประโยชน์ชาติสูงสุด

ความฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง (Thailand Shopping Paradise) คงไม่ไกลจากความเป็นจริง อีกทั้ง AOT ก็จะเป็นสมบัติชาติที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 5 ที่ใฝ่ฝันได้เพียงแค่เอื้อม

โครงสร้างอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบันตลาดการบริโภคค้าปลีกในไทยมีมูลค่าราว 3.6 ล้านล้านบาทในปี 2017 หรือราว 1000 ล้าน US$ ซึ่งสามารถแบ่งโครงสร้างค้าปลีกค้าส่งไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็น 3 แถว ดังนี้

แถวหนึ่ง ก็เป็น Modern Chain Store ซึ่งการรวมศูนย์การบริหารจัดการอยู่ในกรุงเทพเป็นหลัก ซึ่งน่าจะมียอดขายเป็นสัดส่วนราว 32% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง ด้วยการเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเติบโตเป็นสองหลัก ห้างค้าปลีกค้าส่งในแถวหนึ่ง ส่วนใหญ่จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์มุ่งเน้นการขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน CMLV เป็นหลัก การขยายสาขาในประเทศคงไม่มุ่งเน้นเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลที่มุ่งเน้นไปลงทุ่นในเวียดนาม, โฮมโปรก็ขยายสาขาถึง 6 สาขาในประเทศมาเลเซีย, Index Living Mall ก็ไปทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์, Big C ภายใต้การบริหารโดยกลุ่ม BJC ก็เตรียมเปิดในประเทศลาวและเวียดนาม, Makro ก็ขยายไปประเทศกัมพูชาเป็นต้น

แถวสอง ก็จะเป็นค้าปลีกค้าส่งที่กำลังพัฒนาในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดตัวเองเป็นหลัก ที่มีการขยายสาขา และมียอดขายต่อบริษัทระหว่าง 1000 – 5000 ล้านบาทต่อปี อาทิ ตั้งหงี่สุ่น อุดร, ยงสงวน อุบล, ธนพิริยะ เชียงราย, เซนโทซ่า ขอนแก่น, สล โฮลเซล สกลนคร, ร้อยเอ็ดไฮเปอร์มาร์ท, ซุปเปอร์ชีพ ภูเก็ต, สหไทย นครศรีธรรมราช, ห้างทวีกิจ บุรีรัมย์, ห้างมาร์เธ่อร์ ที่กระบี่,
ห้าง Do Home ที่มีฐานที่อุบล เป็นต้น ซึ่งมีราว 350-500 บริษัท และมีน่าจะมียอดขายเป็นสัดส่วนราว 12-15% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง สำหรับค้าปลีกค้าส่งในแถวสองนี้ ที่ผ่านสมรภูมิการปรับตัวต่อสู้กับแถวบนมาในช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา เริ่มเรียนรู้และปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการสมัยใหม่ และพร้อมจะเติบโต ขยายสาขาออกนอกจังหวัดนอกอำเภอ และจะกลายเป็นผู้นำค้าปลีกค้าส่งในแต่ละท้องถิ่น

ส่วนแถวที่สาม ซี่งมีสัดส่วนราว 53-55% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าอิสระขนาดเล็กถ้าจะมีสาขาก็ไม่เกิน 2-3 สาขา ที่เราเรียกกันว่า ร้านขายของชำ ร้านโชห่วย ซึ่งก็ไม่ได้ล้มหายตายจากอย่างที่ภาครัฐเข้าใจอย่างผิดๆ ประมาณการณ์จำนวนร้านค้าในแถวสามนี้น่าจะมีราว 2.5-3.0 แสนร้านค้าที่มีหน้าร้านเป็นที่เป็นทางและอีกราว 2 แสนที่เป็นลักษณะเพิงและมุมขายของ

วรวุฒิ ประเมินว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ต้องเอาตัวรอดภายใต้การแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้น โดยมีตลาดออนไลน์เข้ามายึดพื้นที่ในการค้า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยต้องการช่วยให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ขนาดสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ ด้วยการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าร่วมกับสมาคมฯเพื่อดำเนินการช่วยเหลือในด้านต่างๆต่อไป

การเปลี่ยนแปลงค้าปลีกปัจจุบันสู่แพลตฟอร์ม Omni Channel

ห้าหกปีก่อน ใครๆ ก็บอกว่าธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้าน Brick and Mortar กำลังจะกลายเป็นอดีต ส่วนธุรกิจ E-Commerce คือ อนาคต แต่มาถึงวันนี้ นักธุรกิจและนักเทคโนโลยีหลายคน เริ่มมองว่าE-Commerce เองก็กำลังจะกลายเป็นอดีตเช่นกัน ส่วนอนาคตที่กำลังจะมาถึงอย่างรวดเร็ว คือ โมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า E Business (รูปธรรมของ E Business ที่เรารู้จักกันดีก็คือ O2O หรือ Omni Channel) ซึ่งเป็นการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์อย่างลงตัว ด้านหนึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและชำระเงินออนไลน์ รวมทั้งสามารถเก็บข้อมูลผู้บริโภคมหาศาล ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็สามารถใช้จุดแข็งของห้างร้านที่มีสินค้าจริงให้คนได้สัมผัสและทดลอง รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับเดินเล่นหรือนัดพบสังสรรค์กับเพื่อนได้ด้วย

การขยายช่องทางจำหน่ายจากหน้าร้านหรือที่เรียกว่า Off line สู่ Online การค้าช้อปออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีหน้าร้าน Offline ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ การปฏิวัติการช้อปปิ้งสมัยใหม่ที่เป็นการนำการค้าการขายแบบร้านดั้งเดิม หลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียว กับการค้าการขายแบบออนไลน์ ในรูปแบบที่ไร้รอยต่อ Seamless โดยมุ่งเน้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า หรือที่ศัพท์สมัยใหม่เรียกว่า Omni Channel จึงได้เริ่มต้นขึ้น

ทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากเดิมที่เน้นการทำแบบ แมส มาร์เก็ตติ้ง (Mass Marketing) หันมาโฟกัสเป็นเฉพาะกลุ่มลูกค้าตัวจริงของตัวเอง หรือเป็นการทำตลาดแบบ ตัวต่อตัว (one by one) ซึ่งทางแต่ละผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอแคมเปญและโปรโมชั่นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะคน แต่ปัจจัยที่จะทำให้การตลาดรูปแบบนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ระบบไอทีหลังบ้าน ที่จะต้องมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะต้องรองรับการเก็บข้อมูลมหาศาล และต้องนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย การลงทุนระบบ “บิ๊กดาต้า” (Big Data) และระบบ “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” (cloud Computing) ว่ากันว่าเป็นระดับหลักพันล้านบาทเลยทีเดียว
ภารกิจเร่งด่วนของสมาคมฯ พัฒนาค้าปลีกขนาดเล็กขนาดกลางปรับตัวรับกับ OmniChannel

ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ยังอดที่จะหวั่นไหวกับการก้าวย่างของธุรกิจออนไลน์ลงสู่พื้นดิน โดยเปิด Shop ขึ้นมาแข่งขันกันอย่างซึ่งๆหน้า อย่าง Amazon และการเข้าสู่ค้าปลีกออนไลน์อย่างเต็มตัวของ Alibaba และ Jedi.com

ร้านค้าปลีกอิสระขนาดกลางขนาดเล็กๆ เป็นหมื่นเป็นแสน ที่อยู่ทั่วราชอาณาจักร กำลังตกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันอันรุนแรง การแข่งขันที่เริ่มปรับทิศทางจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เป็น ร้านค้า Onlineและภัยคุกคามในรูปแบบเทคโนโลยีผสมผสานกับพฤติกรรม คู่แข่งใหม่ที่ไม่ต้องการทำเลที่ตั้งหน้าร้าน ไม่ต้องมีสต็อก สามารถเข้าหาลูกค้าได้ทั่วทุกสารทิศ ไม่สนใจเรื่องระยะทางและขนาดของธุรกิจ
จึงเป็นภารกิจของคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กในการรับมือกับสถานการณ์ Omni Channelที่จะถาโถมเข้าใส่และน่าจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยยะภายใน 3 ปีข้างหน้า โครงการต่างๆในช่วงการบริหารของคณะกรรมการชุดนี้ จะมุ่งเป้าไปยังผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยจะเริ่มต้นที่ผู้ประกอบค้าปลีกภูธรแถวสอง ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านการเรียนรู้ Best Practice ของผู้ประกอบการแถวหนึ่งในการจัดการปฏิบัติร้านค้าและการบริหารศูนย์กระจายสินค้า และเชื่อมโยงเรียนรู้ Best Practices ของผู้ประกอบการค้าปลีก Omni Channel ในต่างประเทศ ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีความสัมพันธ์และเป็นเครือข่ายร่วมมือ

ส่วนผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก ก็จะมุ่งเน้นจัดสัมมนา อบรมให้ความรู้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการยกระดับผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้าสู่ระดับกลางอย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือวิชั่นและก้าวที่กล้าของนายกสมาคมผู้ค้าปลีกคนใหม่แกะกล่อง ไฟแรงเว่อร์ อย่าง “วรวุฒิ อุ่นใจ”

ฟังอย่างนี้แล้วพอจะ “อุ่นใจ” กันหรือเปล่า

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: