ความเสื่อมของแก๊ง 3 ช่า วิกฤตที่ไม่ฮาใน “เวิร์คพอยท์”
ความเสื่อมของแก๊ง 3 ช่า
วิกฤตที่ไม่ฮาใน “เวิร์คพอยท์”
โดย…ธนก บังผล
ตำแหน่งท็อป 5 บนตารางเรตติ้งทีวีดิจิตอล ที่ช่องเวิร์คพอยท์ 23 สถาปนาความสำเร็จไปนั่งติดลมบนมานานอาจไม่ใช่ดัชนีชี้วัด “ความนิยม” ที่แท้จริงอีกต่อไปแล้วก็ได้ แต่อาจหมายถึง “บุญเก่า” ที่กำลังโดนกัดกินไปวันละนิด
ประเด็นที่ชาวบ้านชาวช่องทั่วประเทศกำลังพูดถึง “เวิร์คพอยท์” ทุกวันนี้ คือ “แก๊ง 3 ช่า” ซึ่งประกอบด้วย “หม่ำ เท่ง โหน่ง” ทุกวันนี้ไม่ตลกเลยแม้แต่นิดเดียว
ผมในฐานะผู้ดู ผู้ชม เสพติดชิงร้อยชิงล้านมาเกือบ 20 ปี เป็นอีก 1 เสียงว่า “ละคร 3 ช่า” ไม่สนุกเลย โดยตลอดทั้งปี 2561 นี้ ผมยังไม่เห็นว่ามีเทปไหนสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมทางบ้านได้เลย และนับวันนักแสดงก็ยิ่งเสื่อม เป็นความเสื่อมที่ถูกแสดงออกมาหน้าจอจนคนดูแทบจะเอือม
ในกรณีนี้เราจะไม่พูดถึงปัญหาครอบครัวของนักแสดงตลกคนหนึ่งที่เป็นข่าวนะครับ แต่จะพูดถึงพฤติกรรมในจอที่คนดูต้องทนเห็นนักเรียน นักศึกษาผู้หญิง ที่เข้าไปชม ไปร่วมสนุก ถูกแทะโลมด้วยวาจา ถูกกอด ถูกจับมือ ซึ่งทั้งหมดนั้นในทางกฎหมายเราเรียกว่า “ลวนลาม” หรือ “ละเมิดสิทธิสตรี”
แล้วละคร 3 ช่า ไม่ได้เพิ่งสร้างวัฒนธรรมการลวนลามเฉพาะนักเรียน นักศึกษาหญิงเท่านั้น แต่นักแสดงหญิงที่ถูกรับเชิญมาก็ถูกลวนลามด้วยวาจา และการกระทำอยู่หลายครั้ง แรกๆก็คงสร้างเสียงหัวเราะได้บ้าง แต่หลังๆมามันบ่อยจนรู้สึกว่า นี่คือรายการอะไร?
พฤติกรรมการลวนลามผู้หญิงออกหน้าจอนี่มีมาได้หลายปีแล้ว แต่ก็เหมือนผู้บริหารเห็นเป็นเรื่องตลก ไม่ได้ใส่ใจอะไรเพราะคิดว่าเป็นรายการ “บันเทิง”
โดยเฉพาะละคร 3 ช่า ในรอบปีนี้ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าผมตั้งหน้าตั้งตาดูทุกเทป เนื่องจากยังติดภาพเดิมๆที่เคยดูมาตั้งแต่ชิงร้อยชิงล้านยังเป็นรายการทีวีช่วงกลางคืน เป็น “บุญเก่า” ที่ผมกล่าวถึงคือ มีความสนุกสนาน สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาไม่มีเทปไหนเลยที่ผมหัวเราะ กลับไปดูย้อนหลัง 2 ปี มีบางเทปเท่านั้นละครับนับได้เลยไม่เกิน 3 เทปที่เข้าขั้น “ฮา” จริงๆ นอกนั้น ต้องมานั่งเสียเวลาให้หมดไปโดยไม่ได้รับความบันเทิงใดๆแม้แต่น้อย
แม้จะมีการปรับเปลี่ยนฉากให้ดูใหญ่โตขึ้น แต่ผมคิดว่าอีกไม่นาน “ชิงร้อย ชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว” จะเป็นรายการสุดท้ายที่ผมจะเลือกดู ไม่ใช่เปิดโทรทัศน์ค้างไว้เพื่อรอให้รายการ “เวทีทอง” จบอีกต่อไป
การละเมิดสิทธิ และการลวนลามบนหน้าจอเป็นพฤติกรรมของบุคคลครับ และบุคคลที่ว่าดันมีปัญหาครอบครัวมาซ้ำเติมอีก ยิ่งทำให้ “การแสดง” บนหน้าฉาก เต็มไปด้วยความมั่นใจของนักแสดงแบบผิดๆ หลายเทปแสดงการแทะโลมจนน่ารังเกียจ ในขณะที่นักแสดงคนอื่นก็เห็นดีเห็นงามและร่วมกัน “ลงแขก” ผ่านหน้าจออย่างไร้สติ
อย่าลืมว่าที่ผ่านมาเคยมีนักแสดงตลกหญิงคนหนึ่ง ที่พอได้มาเล่นในรายการชิงร้อยชิงล้านแล้ว ก็กลับกลายนำเอาชื่อเสียงไปหาประโยชน์รับงานนอกมาจนโดนแบนมาแล้ว นี่คืออิทธิพลจากหน้าจอที่ต้องระวัง
ไม่เฉพาะการลวนลามนั้นที่ทำให้แก๊ง 3 ช่า ก้าวสู่ความเสื่อมถอย แต่ยังเป็นการใช้คำพูดคำจากับเด็ก ที่ชื่อ “เฮอริเคน” ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นลูกของนักดนตรี ที่นักแสดงตลกคนดังกล่าวมักใช้คำพูด “กู-มึง” กับเด็กอยู่เสมอ และกลายเป็นว่ามีบางเทปที่ตลกประจำรายการทั้ง 3 คน พูดกู-มึง กับเด็กอย่างไม่อายปาก
ลองคิดดูครับว่าถ้ามีรายการบันเทิงไหนเอาลูกๆของคุณทั้ง 3 คนไปออกรายการ แล้วพิธีกรใช้คำว่ากู-มึงกับลูกคุณบ้าง มันจะสนุกตรงไหน
แล้วผมบอกตรงๆ “เฮอริเคน” คนเดียวนี่ตลกกว่าแก๊ง 3 ช่าด้วยซ้ำ
ละคร 3 ช่า ซึ่งใช้เวลากว่า 30 นาที เรียกแขกกลายเป็นช่วงที่ “ไล่แขก” ไปแล้ว ทั้งไม่ตลก หยาบโลน แทะโลม ลวนลาม อุจาดตา (บางเทปเอาเท่ง-โหน่ง มาจูบปากกัน) ซ้ำยังหยาบคาย ผมไม่แปลกใจเลยว่าผลกระทบจากแก๊ง 3 ช่า ซึ่งอาจจะเลยจุดสูงสุดไปแล้ว ได้สร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างที่ผู้บริหารเองก็มองเห็นว่า “ไปไม่รอด” จึงเป็นที่มาของธุรกิจอื่นๆหรือไม่
ในทางรายการข่าวโทรทัศน์ ภาพ 15 วินาทีแรกนั้นสำคัญมาก เป็น 15 วินาทีที่ต้องเอาภาพที่ดีที่สุดมาตรึงตาคนดูให้อยู่กับหน้าจอให้ได้ ทางสื่อสารมวลชนเขาแข่งกันแบบนี้ครับ แต่สำหรับชิงร้อยชิงล้านทุกวันนี้ ละลาย 30 นาทีแรกไปอย่างไร้ค่า
ที่ผมกล่าวมาไม่ได้เกินเหตุอะไรเลย ตัวเลขโกหกใคร เว็บไซต์ positioningmag.com ได้วิเคราะห์ความเคยเป็นช่องดาวรุ่งของเวิร์คพอยท์ ได้อย่างน่าสนใจ หลังประสบความสำเร็จจาก The Mask Singer ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานการยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ก็ได้ย้อนกลับมาทำร้ายเวิร์คพอยท์เหมือน “แก๊ง 3 ช่า” นั่นละครับ คือคิดว่าคนจะชอบไปตลอดชีวิตโดยไม่ปรับวิธีรูปแบบใดๆทั้งสิ้น เปรียบกับอาหารที่อร่อยแค่ไหนแต่ถ้าต้องทานทุกวันก็เบื่อ
Positioningmag.com ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2561 เวิร์คพอยท์ทำรายได้ของบริษัทในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 1,007.11 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1,166.51 ล้านบาท
ส่วนกำไรในไตรมาสที่ 3 ปีนี้อยู่ที่ 141.54ล้านบาท ลดลง 238.44 ล้านบาท หรือ 63% จากกำไรในช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีกำไรอยู่ที่ 379.98 ล้านบาท
เวิร์คพอยท์ชี้แจงว่า สาเหตุหลักที่รายได้และกำไรลดลงนั้น มาจากรายได้จากธุรกิจทีวีรวมถึงช่องทางออนไลน์ลดลง โดยรายได้จากค่าโฆษณาและการเช่าเวลา ในไตรมาส 3 ของปีนี้ 769.78 ล้านบาท ลดลง 266.69 ล้านบาท หรือ 26% จากรายได้รวม 1,036. 47 ล้านบาท ของไตรมาสที่ 3 ของปี 2560
แต่เวิร์คพอยท์ยังมีรายได้ส่วนอื่นๆ ที่เติบโตขึ้นมา เข้ามาชดเชยรายได้โดยรวมของบริษัท ใน 3 ส่วนคือ รายได้จากอีเวนต์ คอนเสิร์ต และการขายสินค้าบริการโดยเฉพาะธุรกิจเครื่องสำอางแบรนด์ Let Me In Beauty ที่ต่อยอดมาจากรายการวาไรตี้ Let Me In
ในส่วนรายได้จากอีเวนต์ 41.55 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ที่ทำรายได้ 22.57 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 84% หรือ 18.98 ล้านบาท
ส่วนการขายสินค้าและบริการอื่นๆ รวมถึงการจัดหานักแสดง การเช่าโรงละคร และ Studio Shop ทำรายได้ 33.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.98 ล้านบาท หรือ 43% จาก 23.42 ล้านบาทในปี 2560 แต่รายได้หลักในหมวดนี้ มาจากการขายเครื่องสำอาง Let Me In Beauty ที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจการขายเครื่องสำอางผ่านเครือข่ายของทีวีดิจิทัลมีแนวโน้มการเติบโต
ส่วนสุดท้าย รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและละครเวที โดยมีรายได้ปีนี้รวมอยู่ที่ 161.94 ล้านบาท จากรายได้รวม 84.03 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้น 93% หรือ 77.91 ล้านบาท โดยมีงานหลักๆ คือ คอนเสิร์ต The Rapper และ คุณพระช่วย และคอนเสิร์ตใหญ่ของ 11 หนุ่มเกาหลี Wanna One ผู้ชนะรายการ Produce101 Season 2 จากเกาหลีในคอนเสิร์ต Wanna One World Tour In Bangkok
แม้ว่าจะมีรายได้ส่วนของการจัดคอนเสิร์ตมากขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตรายการและคอนเสิร์ตเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจากคอนเสิร์ต Wanna One World Tour In Bangkok และต้นทุนจากการถ่ายทอดสดรายการกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ที่เวิร์คพอยท์ได้ลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว โดยมีต้นทุนในส่วนนี้รวม 608.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 468.27 ล้านบาท หรือ 30%
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการบริหารรวม 210.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.12 ล้านบาท หรือ 9% จากปี 2560 192.49 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากค่าโปรโมตสินค้าและโฆษณาสินค้า Let Me In Beauty
คราวนี้มาดู “เรตติ้ง” โทรทัศน์ช่องดิจิตอลที่ผมกล่าวถึงครับ Posioningmag.com เปิดเผยว่า เรตติ้งเฉลี่ยของช่องเวิร์คพอยท์ในรอบ 9 เดือนของปี 2561 นั้น อยู่ที่ 0.803 ลดลงจาก 9 เดือนของปี 2560 ที่อยู่ที่ 1.073
ในขณะที่ ราคาหุ้นของเวิร์คพอยท์ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ซี่งเป็นวันที่แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 ของปีนี้ของเวิร์คพอยท์ ราคาหุ้นหล่นมาอยู่ที่ราคา 31 บาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์รวมอยู่ที่ 13,688.34 ล้านบาท ในขณะที่ราคาหุ้น ณ สิ้นปี 2560 นั้นอยู่ที่ 84.25 บาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์รวมอยู่ที่ 36,973 ล้านบาท (ขอบคุณข้อมูลจาก positioningmag.com)
รายได้ รายจ่ายจะเป็นอย่างไรนั้นฝ่ายบริหารสามารถวิเคราะห์ได้จากผลประกอบการครับ แต่เรตติ้งที่ลดลงสะท้อนความนิยมของช่องเวิร์คพอยท์กำลังถดถอย เสื่อมศรัทธา เพราะหาความบันเทิงแบบมี “มาตรฐาน” ไม่ได้แล้ว
เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ตกลงมากกว่า 50 บาท ที่กำลังสะท้อนให้เห็นวิกฤตความไม่ฮาในเวิร์คพอยท์ย่างชัดเจนเช่นกัน