Biznews

“คลังพลาซ่า” ดับเครื่องชนค้าปลีกเมืองกรุง

จังหวัดที่ต้องจ้องมองแบบไม่กระพริบตาในเวลานี้คงไม่มีจังหวัดไหนร้อนแรงเท่านครราชสีมาหรือโคราชบ้านเองอย่างแน่นอน ด้วยปัจจัยที่สนับสนุนอย่างโดดเด่นทั้งจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ประตูสู่ภาคอีสาน เชื่อมต่อกับประเทศในแถบอาเซียนได้อีกด้วย แถมกำลังจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า ทั้งระบบรางกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอนาคต สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกื้อหนุนให้โคราชเป็นขุมทองที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนโคราชก็แทบจะไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯมากนัก

จากเหตุผลดังกล่าวจึงไม่แปลกที่ในปีที่ผ่านมาบรรดาทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทยอยเข้าไปลงหลักปักฐานอย่างพร้อมเพรียง ไล่มาตั้งแต่ค่ายเดอะมอลล์ ของตระกูลอัมพุช ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่อยู่ในโคราชมากว่า 17 ปีที่เตรียมการต้อนรับเพื่อนๆ ค้าปลีกด้วยการลงทุนอีกกว่า 2,000 ล้านบาทขยายศูนย์การค้า และเพิ่มลานจอดรถ รวมถึงการนำร้านค้าชื่อดังจากกรุงเทพฯไปไว้ที่นั้น

ต่อมาคือกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งจริงๆ มีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ในระยะเวลาเดียวกับเดอะมอลล์แต่ติดขัดปัญหาบางประการทำให้ต้องเลื่อนโครงการออกไปจนได้ฆกษ์เปิดเซ็นทรัล สาขาโคราชในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ด้วยงบกว่า 5,000 ล้านบาทสร้างศูนย์การค้าและโรงแรมเซ็นทารากับคอนโดมิเนียม บนเนื้อที่กว่า 65 ไร่

จากฝั่งของเซ็นทรัลก็มาถึงยักษ์ใหญ่อย่าง แลนท์ แอนด์ เฮาส์ เจ้าของโครงการเทอร์มนินอล 21 ก็สนใจเค้กก้อนโตนี้ด้วยเช่นกันจึงลงทุนเปิดห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราชด้วย งบลงทุนถึง 6,000 ล้านบาท สำหรับศูนย์การค้าและอีก 1,500 ล้านบาท สำหรับโรงแรม

เมื่อพี่ใหญ่มากันพร้อมหน้าพร้อมตาเยี่ยงนี้ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าห้างท้องถิ่นในโคราชจะมีวิธีการปรับตัวรองรับทัพค้าปลีกชั้นนำนี้อย่างไร

ซึ่งห้างท้องถิ่นที่ว่าจะเป็นรายอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “คลังพลาซ่า” ห้างท้องถิ่นของคนท้องถิ่นที่มีอายุยาวนานกว่า 60 ปีชนิดคนโคราชรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี จะมีวิธีปรับตัวอย่างไรเพื่อการศึกในครั้งนี้

แน่นอนผู้ที่จะมาไขข้อข้องใจ ทีมงาน BIZpromptINFO มีโอกาสได้สนทนากับหนึ่งในผู้ก่อตั้งคนสำคัญอย่าง “ไพรัตน์ มานะศิลป์” หรือเฮียเหลียง รองประธาน บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ถึงแนวทางการรักษาตัวรอดในภาวะที่ตลาดแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฮียเหลียงบอกว่า ต้องปรับตัวให้ทันสมัย เพราะเทรนด์เปลี่ยนเร็ว ถ้าตกเทรนด์หรือเกาะกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ทันก็จะตกขบวน และที่สำคัญต้องสู้ เพราะไม่สู้ก็ต้องตาย เพียงแต่จะมีวิธีสู้อย่างไรเท่านั้นเองมันก็เหมือนกับการที่ยักษ์ใหญ่ชนกัน เราต้อง “หลบอยู่ใต้ท้องช้าง” และค่อยๆ เดินตามเขาไป ไม่ใช่เป็นหญ้าแพรกที่อยู่ข้างทางให้ช้างเข้ามาเหยียบ และที่สำคัญต้องรู้เขา รู้เรา ดูว่าสินค้าแผนกไหนทำแล้วสู้ไม่ได้ หรือทำแล้ว รายได้ไม่ดี ก็จะปรับลดพื้นที่หรือเลิกทำพร้อมกับดึงพันธมิตรเข้ามาช่วยเติมเต็มจุดแข็ง

กรณีนี้ เฮียเหลียงอธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เดอะมอลล์เข้ามาเปิดใหม่ๆ และเซ็นทรัลถอยทัพกลับไป ยอมรับว่าได้รับผลกระทบมาก ลูกค้าชอบลองอะไรใหม่ๆ จึงเกิดไอเดียเกลือจิ้มเกลือด้วยการเจราจาบียูสำคัญๆ ของเซ็นทรัล เช่นเพาเวอร์ บาย ซูเปอร์สปอร์ต และบีทูเอส เข้ามาเปิดในคลังพลาซ่า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เฮียเหลียง บอกว่า คลังพลาซ่า ของเขาไม่ได้แข่งกับยักษ์ใหญ่ เพราะไซส์มันต่างกันมาก แต่ต้องมองว่า จะทำอย่างไรให้อยู่ได้ ขณะเดียวกันก็สร้างการเติบโตในจุดที่เป็นพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งคลังพลาซ่ายืนหยัดมาหลายสิบปีทำให้ลูกค้า รู้จักและ รู้ว่ามีสินค้าอะไร และให้ บริการอะไรบ้าง รวมถึงราคาที่ยุติธรรมที่ถือ เป็นแรงดึงดูดให้แม่บ้านเข้ามาเลือกซื้อสินค้า ที่คลังพลาซ่าอยู่เสมอ

แผนการรองรับนอกจากต้องโฟกัสในจุดของตัวเองคือห้างท้องถิ่น เข้าใจความต้องการของคนบ้านเดียวกันเป็นอย่างดีแล้ว การเปิดสาขาใหม่ก็เป็นสิ่งที่คลังพลาซ่าไม่ยอมหยุดนิ่ง ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดสาขาไล่เลี่ยกันขึ้นอยู่กับโอกาสและทำเล

คลังพลาซ่า สาขาแรกเปิดเมื่อปี 2501 กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมระดับผู้ใหญ่ที่มีความเคยชินและคุ้นเคยกับบรรยากาศเดิมๆ จากนั้นเปิดสาขา 2 ในปี 2534 ระยะห่างกัน 1 กิโลจากสาขาแรก โดยสาขานี้เฮียเหลียงจัดเต็มด้วยการบรรจุความทันสมัยเข้าไป อาทิ แบรนด์ฟาสต์ฟูดชื่อดังอย่างเคเอฟซี เอสแอนด์พี แบล้กแคนย่อน เป็นต้น เรียกได้ว่ายกฟาสต์ฟูดเมืองกรุงเข้ามาไว้ที่โคราช แถมด้วยโรงภาพยนตร์ สวนสนุก กลุ่มเป้าหมายจึงเด็กลงเมื่อเทียบกับสาขาแรก

เมื่อมีคลังพลาซ่า 2 สาขาแล้ว ท่ามกลางการเข้ามาของค้าปลีกรายใหญ่จากเมืองกรุง เฮียเหลียง มองว่า กำลังต่อรองยังไม่เพียงพอและที่สำคัญดิสเคาน์สโตร์รายใหญ่อย่างแม็คโคร ,บิ๊กซี, โลตัสทยอยเข้ามา เขาจึงต้องปรับแผนใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันด้านราคาจึงมีนโยบายรับประกันของถูก ใครขายถูกกว่าคลังพลาซ่าให้มารับส่วนต่าง ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นด้านราคาและเอาตัวรอดมาได้ชนิดหมัดต่อหมัดแบบไม่กลัวขาใหญ่เลยทีเดียว

หลังจากลุูกค้าให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ คลังพลาซ่าเดินหน้าต่อยอดกลยุทธ์ CRM ต่อเนื่องทันทีด้วยการจัดทำบัตรสมาชิกในปี 2537 ทำให้รู้ว่าลูกค้าเป็นใครโปรโมทได้ตรงความต้องการของลูกค้าเป็นรายบุคคล รวมทั้งการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ปัจจุบัน คลังพลาซ่ามีฐานสมาชิกรวมกว่า 4 หมื่นราย

เมื่อธุรกิจหยุดนิ่งไม่ได้เพราะคู่แข่งรายล้อมทั้งหน้าและหลัง คลังพลาซ่าหาได้เกรงกลัวไม่ ตรงกันข้ามกลับคิดการณ์ใหญ่เมื่อต้องการโตจึงมีแผนเปิดสาขาที่ 3 ในปี 2554 ใช้ชื่อว่าคลังวิลล่าในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ครั้งแรกและแห่งแรกของโคราช บน พื้นที่ 5 ไร่ ลงทุน 220 ล้านบาท เพื่อสร้างความแตกต่างจากรูปแบบโคลสมอลล์ทั่วไป เน้นการเข้าง่าย ออกเร็วเหมาะสมกับเมืองที่กำลังเติบโตและใช้ชีวิตเร่งรีบใช้เวลาน้อยไม่เกิน 1 ชั่วโมงในการทำธุระ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีปัจจุบันคืนทุนเรียบร้อยแล้ว

เมื่อสาขา 3 ประสบความสำเร็จเกินคาด เฮียเหลียง ไม่รีรอที่จะเปิดสาขาต่อเนื่องเป็นสาขาที่ 4 แต่คราวนี้มาด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าด้วยพื้นที่ 17 ไร่ อำนวยความสะดวกลูกค้ามากขึ้นด้วยการทำที่จอดรถใต้ดิน พรั่งพร้อมด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต หนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียนและเลือกแบรนด์ยูนิคเข้ามาเปิดให้บริการและไม่ลืมที่จะผสมผสานกับร้านค้าท้องถิ่นเข้าไปด้วย ซึ่งสาขานี้ลงทุนกว่า 750 ล้านบาทคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภายใต้ชื่อ คลังสเตชั่น “Klang Station”

การปรับตัวของคลังพลาซ่านอกจากการใช้กลยุทธ์ CRM รวมทั้งการปูพรมเปิดถึง 4 สาขาแล้ว เฮียเหลียง บอกว่า ด้วยความที่เป็นโคราชมาแต่กำเนิดถือเป็นข้อได้เปรียบที่ดีทำให้คนท้องถิ่นน่าจะให้ความไว้ใจเข้ามาใช้บริการคนท้องถิ่นด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การปรับตัวในช่วงนี้ถือว่าหนักพอสมควรสำหรับค้าปลีกโคราชที่เข้ามาแย่งชิงเค้กก้อนเดียวกัน หากผ่านช่วงนี้ไปได้สัก 2 ปีข้างหน้าน่าจะไปได้ดี ซึ่งคนที่จะอยู่รอดได้ต้องปรับตัวให้ทันความต้องการของผู้บริโภค โดยคลังพลาซ่ายุติแผนกที่ไม่ทำกำไรและเพิ่มในส่วนที่ทำรายได้ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งเพิ่มช่องทางใหม่ๆ เช่น การเดลิเวอรี่ การให้บริการในรูปแบบใหม่ การนำสินค้าไอทีเข้ามาช่วย เป็นต้น

ไพรัตน์ ทิ้งท้ายว่า การจะแข่งกับห้างใหญ่คงเทียบกันไม่ได้เพราะแต่ละที่คาแรคเตอร์ต่างกัน แต่การแข่งกับตัวเองสำคัญที่สุดด้วยความอดทน ค้าขายแบบตรงไปตรงมา สไตล์ คลังพลาซ่า ห้างท้องถิ่นโดยคนโคราช เพื่อคนโคราช

นี่คือวิถีคลังพลาซ่า อีกหนึ่งห้างท้องถิ่นที่สามารถยืนหยัดและต่อกรกับทุนค้าปลีกข้ามถิ่นได้อย่างสมศักดิ์ศรีลูกหลานย่าโม

(ไทม์ไลน์ คลังพลาซ่า)
บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด และบริษัทในเครือ ก่อตั้งโดย คุณไพศาล มานะศิลป์ เริ่มดำเนินกิจการ เมื่อปี พ.ศ.2501 ในชื่อ “คลังวิทยา” จากธุรกิจเล็ก ๆ เพียง 1 คูหา ที่ถนนชุมพล หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เดิมจำหน่ายเพียงหนังสือพิมพ์ ต่อมาจึงจำหน่ายหนังสือแบบเรียน เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ ธุรกิจเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด ในปี 2506 จดทะเบียนจัดตั้ง หจก.คลังวิทยา ขยายกิจการที่ถนนราชดำเนิน พื้นที่ 2 คูหา และที่ถนนชุมพลข้างวัดพายัพ พื้นที่ 4 คูหา

ในปี พ.ศ. 2519 จากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงขยายกิจการเพิ่มเติมโดยเปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ ในชื่อ “คลังวิทยา ดีพาร์ทเม้นท์โตร์” ที่ถนนอัษฎางค์

“คลังวิทยา ดีพาร์ทเม้นท์โตร์” มีพื้นที่การให้บริการเริ่มแรก 2,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย สินค้าหลากหลายประเภท รวมถึงศูนย์อาหารและสวนสนุกที่ให้บริการภายในห้าง นับว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน และเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยมีนโยบายที่ยึดถือการทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต การให้บริการลูกค้าเหมือนญาติสนิทมิตรสหาย “คลังวิทยา ดีพาร์ทเม้นท์โตร์” ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม พื้นที่ให้บริการไม่เพียงพอกับจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการ จึงได้ขยายพื้นที่ขายเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งพื้นที่ลานจอดรถ 3,200 ตารางเมตร ให้บริการจอดรถยนต์ได้ประมาณ 140 คัน และ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า” ในปี พ.ศ. 2529

คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช ให้บริการ สินค้าเครื่องแต่งกาย เครื่องนอน ตกแต่งบ้าน หนังสือเครื่องเขียน คลังซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์อาหารเชลล์ชวนชิม และสวนสนุก มุ่งเน้นการให้บริการที่ประทับใจ ความสะดวกสบาย ความหลายหลากของสินค้าและบริการ ทันสมัย ครบวงจร

คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ ด้วยความสนับสนุนและความไว้วางใจเลือกใช้บริการจากลูกค้าชาวโคราช และจังหวัดใกล้เคียงด้วยดีเสมอมา จึงทำให้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นได้ครบถ้วน คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ จึงได้กำเนิดขึ้น ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีไม่ถึง 100 เมตร และใกล้สถานที่ราชการที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง มีพื้นที่จอดรถยนต์บริการสำหรับลูกค้ามากกว่า 400 คัน จึงเป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยครบวงจร

คลังวิลล่า (Klang Villa) ศูนย์การค้าขนาดย่อมในรูปแบบคอมมิวนิตี้มอลล์ (Community Mall) เปิดให้บริการ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 พื้นที่ 5 ไร่เศษ ถนนสุรนารายณ์ ซึ่งเป็นโซนที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ รวมทั้งย่านที่พักอาศัย รูปแบบโครงการ เป็นการดึงเอาความเป็นท้องถิ่น เข้ามาผสมผสานกับความทันสมัย (Rural Chic) ตกแต่งจัดสถานที่ให้สวยงาม เหมาะสำหรับเป็นแหล่งนัดพบ และศูนย์การค้าใกล้บ้าน ที่สามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว การออกแบบให้เป็นเอาท์ดอร์ ช็อปปิ้งมอลล์นั้น นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานอีกด้วย

คลังสเตชั่น (Klang Station) ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการ ซึ่งสาขาที่ 4 เป็นการขยายธุรกิจในรูปแบบของ Community Mall โดยการพัฒนาที่ดินกว่า 17 ไร่ ย่านสถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองโคราชในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช โครงการรถไฟรางคู่นครราชสีมา- อุบลราชธานี ต่อไปถึงกัมพูชา

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: