เช็คสมรภูมิซูเปอร์มาร์เก็ตไทย แด่การจากไปของ ‘Super Save’
หลังข่าวการปิดฉากอย่างเป็นทางการร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ “ซุปเปอร์เซฟ” ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกของตระกูล “ตั้งคารวคุณ” เจ้าของสีทีโอเอที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 ที่มีการเข้าไปลงทุนขยายสาขาตามตึกแถวย่านชุมชน และจับมือกับปั๊มน้ำมันเอสโซ่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑลกว่า 30 สาขาได้ทยอยปิดตัวลง และปิดกิจการไปในที่สุดช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้ก่อเกิดแรงกระเพื่อมสำคัญต่อธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยที่มีการประเมินเม็ดเงินสูงกว่า 3.8 ล้านล้านบาท
ก่อนที่บริษัท ซุปเปอร์เซฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต “ซุปเปอร์เซฟ” จะแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถึงการเลิกกิจการ ได้มีการแจ้งเปลี่ยนข้อมูลผู้ถือหุ้น จากเดิมที่ผู้ถือหุ้น 5 คน เป็นคนจากตระกูลตั้งคารวคุณ และหวั่งหลี เป็นนายประสบสันต์ รชตพฤทธิ์ ถือหุ้นใหญ่ 99.98% จากทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังพบว่าผลการดำเนินงานย้อนหลังขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้ง โดยปี 2557 มีรายได้ 2.4 แสนบาท ขาดทุน 1.8 แสนบาท ปี 2558 มีรายได้ 25 ล้านบาท ขาดทุน 5.5 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้ 141 ล้านบาท ขาดทุน 81 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 326 ล้านบาท ขาดทุน 189 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้ 181 ล้านบาท ขาดทุน 144 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดค้าปลีกในปัจจุบัน นอกจากจะต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงแล้ว ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อทำให้ผู้ประกอบการต้องออกแรงหาวิธีกระตุ้นยอดขายกันทุกวิถีทาง ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกชะลอตัวลง โดยอัตราการเติบโตในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.7-3.0% ขณะที่ปี 2562 มีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 3.1% โดยเซ็กเมนต์ของค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบก็คือ กลุ่มที่เจาะกำลังซื้อกลางและล่าง เช่น ร้านค้าแบบดั้งเดิม และไฮเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและอีคอมเมิร์ซที่เจาะกลุ่มกำลังซื้อปานกลางยังมีแนวโน้มการเติบโตดีกว่าเซ็กเมนต์อื่น ๆ
อีกทั้งพบว่าธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลจากในปี 2559 ซูเปอร์มาร์เก็ตเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลก 8 รายมีรายได้กว่า 33 ล้านล้านบาท โดยเป็นกำไรถึง 7.29 แสนล้านบาท และเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกประมาณ 4.97 แสนล้านบาท
คราวนี้เรามาสำรวจกันดูว่า ปัจจุบัน แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองไทย มีแบรนด์ไหนเป็นของใครบ้าง โดยสามารถสรุปผู้เล่นรายหลักๆ ในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต ไซส์ต่างๆ (ไม่รวมร้านสะดวกซื้อ)
อย่างที่ทราบกันดีว่า ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นฟอร์แมทของค้าปลีกที่มีความลงตัว เข้าถึงง่าย ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทยอยู่ตรงกลางระหว่างคอนวีเนี่ยนสโตร์กับไฮเปอร์มาร์เก็ต มีใครบ้าง ไปดูกัน
เริ่มกันที่ เจ้าตลาดอย่างกลุ่ม เซ็นทรัล เจ้าของแบรนด์ท็อปส์ ซึ่งเดิมแตกย่อยอีกมากปัจจุบันเหลือเพียง ท็อปส์ มาร์เก็ต จากเดิมที่เคยมีแบรนด์ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตกับท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม ปัจจุบันยกเลิกแล้ว เปลี่ยนมาเป็นท้อปส์มาร์เก็ตทั้งหมด ที่จับทุกเซกเมนท์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีทำให้ผู้บริโภคไม่สับสน
หันไปดูระดับบน กลุ่มเซ็นทรัลมีแบรนด์เซ็นทรัล ฟูดฮอล์ ซึ่งเน้นสินค้าระดับพรีเมียม สินค้านำเข้า อาหารที่เป็นเดลี่บาร์ ระดับราคาสูงกว่า ท็อปส์ มาร์เก็ต เน้นเปิดตามห้างใหญ่ๆ ของกลุ่มเซนทรัล อาทิ เซ็นทรัลเวิล์ด เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัล ลาดพร้าว
ปัจจุบัน ท็อปส์ และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ 204 สาขา (จำนวนร้านค้า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562) โดยท็อปส์เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1 (ส่วนแบ่งทางการตลาด 15.2% ในหมวดซูเปอร์มาร์เก็ต)
ต่อกันที่ ซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มเทสโก้ โลตัส ที่ใช้ชื่อว่าเทสโก้ โลตัสตลาด หรือเทสโก้ โลตัสมาร์เก็ต ที่เน้นเปิดสะแตนด์อะโลน และในช้อปปื้งมอล์ขนาดเล็ก ซึ่งสังเกตได้ว่า เทสโก้ โลตัส เน้น 2 รูปแบบคือ ขนาดใหญ่ๆ จะเป็นห้างเทสโก้ โลตัส กับขาดเล็กนั่นคือ โลตัส เอ็กซ์เพรสที่เทสโก้หันมาเน้นลงทุนเป็นพิเศษ
นโยบายการขยายธุรกิจค้าปลีกของเทสโก้ โลตัส หลังจากนี้ จะเน้นไปที่ฟอร์แมต “ร้านสะดวกซื้อ” Tesco Lotus Express เป็นหลัก จากปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 1,600 สาขา ภายใน 3 ปีนี้ จะเปิดเพิ่มอีก 750 สาขา หรือเฉลี่ยปีละ 250 สาขา สปีดจะเร็วขึ้นกว่าเดิม “5 เท่าตัว” ที่เปิดปีละ 50 สาขา
ตามมาด้วย กลุ่มบิ้กซี ที่มีแบรนด์บิ้กซีมาร์เก็ต ทั้งสะแตนด์อะโลน และอยู่ในห้าง พร้อมทั้งแตกแบรนด์ระดับบนล่าสุดนั่นคือ บิ๊กซีฟูดเพลส สามย่านมิตรทาวน์
วิลล่า มาร์เก็ต ถือเป็นแบรนด์ระดับบนของซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย ที่มีสาขามากมายแต่ก็ยังค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากเป็นค่ายอิสระ มีทั้งรูปแบบสแตนด์อะโลน และ คอมมูนิตี้มอลล์ ที่เน้นขยายสาขาจำนวนมาก
“Villa Market” (วิลล่า มาร์เก็ต) ถือกำเนิดขึ้นสาขาแรก “สุขุมวิท 33” กระทั่งทุกวันนี้มีกว่า 30 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับเชนใหญ่ และถึงแม้สาขาไม่ได้ครอบคลุมทั่วไทย แต่เมื่อดูผลประกอบการก็ถือว่าไม่ธรรมดา ปี 2561 ทำรายได้สูงถึง 7,000 ล้านบาท
พิศิษฐ์ ภูสนาคม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด ในฐานะผู้ก่อตั้งวิลล่า มาร์เก็ท เคยบอกว่า สิ่งที่ทำให้ Villa Market สำเร็จมาได้ คือ การปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงตามกระแสตลาด และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ยืดหยัดได้ถึงปัจจุบัน โดยที่เราไม่ใช้ Promotion Driven แต่สู้ด้วยคุณภาพสินค้า และความเข้าใจลูกค้าตลอดอนยุกว่า 40 ปีที่ผ่านมา
ต่อกันที่ค่าย MAX VALUE อีกหนึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีทั้งรูปแบบสะแตนด์อะโลนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในห้างจัสโก้เดิม รูปแบบสแตนด์อะโลน MAX VALUE ของค่ายอิออน จากประเทศญี่ปุ่น มีการขยายสาขาจำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มีบางสาขาที่ต้องปิดไปเนื่องจากไม่ทำกำไร เช่น สาขาบางบอน, ฮาร์เบอร์ มอล์ พัทยา เป็นต้น
ต่อกันที่แบรนด์คนไทยคุ้นชื่อเป็นอย่างดี นั่นคือ ฟู้ดแลนด์ ที่เน้นรูปแบบสะแตนด์อะโลนเป็นหลักมากว่า 20 ปี โดยเน้นการพ่วงร้านอาหารที่มีชื่อว่า ถูกและดีเข้าไว้ด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างไปจากคู่แข่ง ส่วนจะถูกและดีสมชื่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละบุคคล
ปิดท้ายกันที่ ค่ายเดอะมอลล์ แม้ว่าจะมาช้ากว่าเจ้าอื่นๆ แต่ก็ยังมา ซึ่งช่วงหลังๆ เอาจริงเอาจังมากขึ้น ภายใต้แบรนด์ กรูเม่ต์ มาร์เก็ต ที่ประสบความสำเร็จและสร้างชื่อให้กับเดอะมอลล์ มากที่สุด โดยเริ่มขยายสาขาไปยังเดอะมอลล์ทุกสาขา โดยวางโพสิชั่นแบรนด์ระดับบนทำให้แบรนด์นี้ขยายได้กว้างขึ้น
นอกจากปูพรมทุกสาขาของเดอะมอลล์แล้ว กรูเม่ต์ มาร์เก็ต ยังเน้นขยายสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลนอีกด้วย แม้จะยังไม่ถึงกับเดี่ยวๆ แต่ก็ทำให้ขยายสาขาได้ง่ายและทำให้เข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายยิ่งขึ้น
ทั้งหมดคือรูปร่างหน้าตาของแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตจากค้าปลีกเจ้าใหญ่ๆ ในตลาด ที่เหลือเป็นแบรนด์เล็กๆ และที่เพิ่งปิดไปซูเปอร์เซฟ น้องใหม่ ที่เพิ่งเปิดมา 4 ปีของเจ้าของสีทีโอเอ ที่ประกาศปิดไป ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายแม้จะพยายามทุกวิถีทางทั้งการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในห้าง และหลังๆ เน้นสะแตนด์อะโลนแต่ก็ไม่รอด เห็นได้จากปริมาณการขยายสาขาเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ จนปิดกิจการในที่สุด
ครั้งหนึ่ง ซูเปอร์เซฟ เคยเข้าไปปักหลักในยุูเนี่ยนมอล์ ลาดพร้าว แต่ก็ต้องปิดกิจการ แถมมีอยู่ช่วงหนึ่งน่าเสียดายมากเคยโปรโมทตัวเองเต็มที่ ถึงกับซื้อสปอนเซอร์รายการของโน้ต อุดม แถมแต่งเพลงให้ด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถแข่งขันได้
และนี่คือยุทธจักรของค้าปลีก เซกเมนท์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ประเทศไทย …..