ขาดทุนแบบรักคุณเท่าฟ้า ปมดราม่าสะเทือน “การบินไทย” ?
ช่วงต้นปี 2552 การบินไทยตกเป็นข่าวครึกโครมใหญ่โตหลังผลประกอบการธุรกิจขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มปะทุในเวลานั้นก็กลบกระแสไปจนหมดสิ้น เหลือแต่ความทรงจำเพียงลางๆ พร้อมกับการปรับโครงสร้างฟื้นฟูกิจการภายในองค์กรอย่างเงียบๆ
จนกระทั่งมีปมดราม่า กรณีวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา นักบินเที่ยวบินที่ ทีจี 971 ซูริค-กรุงเทพฯ เกิดดีเลย์นานถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง สาเหตุจากกัปตันไม่ยอมนำเครื่องขึ้น เพราะที่นั่งของคณะนักบินที่จะโดยสารกลับ (Deadhead pilot) ไม่ได้นั่งในชั้นธุรกิจหรือเฟิร์สต์คลาสตามสิทธิ แล้วปล่อยให้ผู้โดยสารกว่า 300 คนต้องนั่งรอ
ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มไลน์ของนักบินและผู้ช่วยนักบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ต่ำกว่า 50 คน จะไปรวมตัวกันชุมนุมอย่างสันติที่สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อแสดงพลังสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของนักบินเที่ยวบินที่เป็นข่าว เนื่องจากมีการประชุมประจำสัปดาห์ของผู้บริหารระดับสูงร่วมกับประธานบอร์ดและจะมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าพูดคุย
รายละเอียดมีที่มาที่ไปอย่างไร สื่อมวลชนหลายสำนักได้นำเสนอไปแล้วจำนวนมาก สรุปสั้นๆคือ มีผู้โดยสารยอมคืนที่นั่งให้กับนักบิน แม้จะมีกระแสโจมตีอย่างหนักแต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้เห็นใจนักบินที่เดินทางไกลต้องได้รับการพักผ่อนตามข้อตกลงของบริษัทด้วยเช่นกัน
ซึ่งคาดกันว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่เกิดขึ้นจะประกาศให้ทราบในวันที่ 26 ต.ค.นี้
และเพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่น่าเชื่อว่า การบินไทยเพิ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากองค์การอนามัยโลกว่าด้วยสุขอนามัยบนเครื่องบินและรางวัลชั้นประหยัดที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Economy Class) ในปี 2018, 2017อีกด้วย เนื่องจากถ้าชั้นประหยัดดีที่สุดในโลก นักบินก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการไปนั่ง
ทั้งนี้ บริษัทการบินไทย มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และกระทรวงคมนาคมเป็นต้นสังกัด ทำให้ที่ผ่านมาการบินไทยถูกนักการเมืองที่มีอำนาจเป็นรัฐบาลเข้าครอบงำนโยบายมาโดยตลอด จนกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งส่งพรรคพวกเขาไปนั่งบริหาร การขอใช้สิทธิประโยชน์ทุกรูปแบบ เช่นขอตั๋วโดยสารฟรี หรือขอปรับที่นั่งจากชั้นธรรมดาไปเฟิร์สคลาสซึ่งราคาต่างกันมาก
การใช้อำนาจของนักการเมืองและพวกพ้องเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์เช่นนี้ได้สืบทอดต่อๆกันมาอย่างยาวนานในทุกรัฐบาลจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สะสมจนทำให้ผลประกอบการของบริษัทการบินไทยต้องขาดทุนต่อปีไม่น้อยกว่าพันล้านบาท
ถึงกระนั้นเมื่อถูกตรวจสอบการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ก็เหมือนว่าการบินไทยจะออกมาขยับตัวสักครั้ง ทำทีจะรื้อข้อมูล เรื่องการขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่มีธรรมาภิบาล ส่งให้องค์กรตรวจสอบทั้งหลายได้นำไปพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยมีความหวังว่าการขอใช้อภิสิทธิ์ต่างๆ ในการบินไทย จะลดน้อยลง
แต่ก็ปรากฏว่าวัฒนธรรมการใช้อำนาจเข้าไปหาผลประโยชน์ของเหล่าบรรดานักการเมืองไทยก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้การบินไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
มีข้อมูลผลประกอบการของการบินไทย ระบุว่า ในปี 2554 ขาดทุน 10,197 ล้านบาท , ปี 2556 ขาดทุน 12,047 ล้านบาท , ปี 2557 ขาดทุน 15,612 ล้านบาท , ปี 2558 ขาดทุน 13,068 ล้านบาท โดยในปี 2559 ได้กำไร 15 ล้านบาท และล่าสุด ปี 2560 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 2560 การบินไทยมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 22,370 คน ในขณะที่มีผู้โดยสารใช้บริการ 24.6 ล้านคน
และด้วยจำนวนพนักงานบริษัทการบินไทย ที่มากกว่า 2 หมื่นคน แต่ละคนก็มีสิทธิประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น เมื่อเกษียณแล้วยังได้สิทธิประโยชน์ในการซื้อตั๋วราคาเท่าเดิม ใน 1 ปี สามารถเดินทางรวมไปกลับได้ 8 ครั้ง ในขณะที่บุตรก็ได้สิทธิประโยชน์จนถึงอายุ 25 ปี หลังจากนั้นจะได้ส่วนลด 75 เปอร์เซ็นต์ โอยสามารถบินได้ 8 ครั้งต่อปีเช่นกัน
กล่าวกันว่ายังมีทุนการศึกษาให้บุตร สามารถเบิกได้เฉพาะค่าเล่าเรียนจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หากเรียนดีเกรดเฉลี่ยถึง 3.50 ก็จะให้เงินเพิ่มอีกนิดหน่อย
ส่วนนักการเมือง หรือข้าราชการ ก็มีสิทธิประโยชน์ในการเดินทางฟรี แต่เนื่องจากบริษัทการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงมีระเบียบให้เรียกเก็บเงินนกับทางต้นสังกัด หากเป็นนักการเมืองก็จะเรียกเก็บกับรัฐสภา
คำถามที่มีผู้อยากรู้มากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ เงินเดือนของพนักงานการบินไทย โดยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ได้เงินเดือนประมาณเกือบ 9 แสนบาท ส่วนรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้เงินเดือนตั้งแต่ 1.1 แสนบาท ถึง 3.8 แสนบาท ในขณะที่ผู้อำนวยการเงินเดือนประมาณ 6.5 หมื่นบาท ถึง 1.5 แสนบาท
นักบินระดับกัปตัน เงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนบาท ,นักบินที่ 2 เงินเดือน 6 หมื่นบาท ถึง 1.3 แสนบาท ส่วนนักบินฝึกหัดอยู่ที่ 3.4 หมื่นบาท,แอร์-สจ๊วต ได้สูงสุด 5 หมื่นบาท (ทุกตำแหน่งยังไม่รวมเบี้ยงเลี้ยง) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พนักงานระดับล่างบางส่วนเริ่มต้นที่ 7,231 บาท เท่านั้น
นอกจากนี้สิทธิพิเศษของพนักงานการบินไทยที่สำคัญ คือบริษัทจ่ายภาษีแทนพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่มาตั้งแต่อดีต แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบให้พนักงานจ่ายภาษีเอง แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้
ข้อมูล ณ วันที่ 10 มี.ค. 2558 ระบุว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 5 ราย โดยผู้ที่ถือหุ้นมากที่สุดคือ กระทรวงการคลัง คิดเป็น 51.03 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือกองทุนรวม วายุภักดิ์ โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และ กองทุนรวม วายุภักดิ์ โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 7.56 เปอร์เซ็นต์ เท่ากัน , บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 3.18 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารออมสิน มีสัดส่วนการถือหุ้นน้อยที่สุดคือ 2.13 เปอร์เซ็นต์
เมื่อดูในภาพรวมจากผลประกอบการ จำนวนพนักงานที่มากกว่า 2 หมื่นคน เงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมถึงครอบครัว เงินเดือนผู้บริหารระดับสูง และบรรดานักการเมืองที่ใช้อำนาจเบียดบังการดำเนินกิจการของการบินไทย ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ประกอบกันมีส่วนทำให้ผลประกอบการขาดทุน
ยิ่งไปกว่านั้นหากนับปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่าง ราคาน้ำมัน ค่าเช่าสนามบิน ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้ซ้ำเติมธุรกิจการบินไทยมากขึ้น จนทำให้ขาดทุนแบบรักคุณเท่าฟ้า
แต่บางคนกลับมองว่าปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะไม่มีปัญหาอะไรเลย หากผู้บริหารระดับสูงมีฝีมือ