ขยะใต้พรมการบินไทย
ปมซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ
“ธนก บังผล”
แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เคยออกมาเปิดเผยแผนการฟื้นฟูการบินไทยหลังตกอยู่ใต้ภาวะขาดทุนมาอย่างหนักและต่อเนื่อง ด้วยการจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 2 แสนล้านบาท
ซึ่งขณะนั้น การบินไทยฯ ระบุว่า เป็นการซื้อเครื่องบินทดแทนเครื่องเก่า 31 ลำ และเครื่องใหม่ 7 ลำ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2554 ที่อนุมัติให้จัดหาเครื่องบิน 75 ลำ ทยอยจัดหาไปแล้ว 37 ลำ โดยจะได้ข้อสรุปเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนภายใน 2-3 เดือน

จนกระทั่งล่าสุด การบินไทยฯ เตรียมยื่นเรื่องให้ ครม. พิจารณา ในวงเงิน 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เชิญนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทยฯ และผู้บริหารการบินไทย มาชี้แจงบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน
โดยเฉพาะเรื่องจำนวนเครื่องบินที่จะจัดหา ซึ่งฝ่ายวางแผนและการตลาดของบริษัทฯ ศึกษาแล้วว่า มีความต้องการใช้เครื่องบินอีก 7 ปีข้างหน้า 25 ลำ ไม่ใช่ 38 ลำ พร้อมทั้งขอให้ชี้แจงแหล่งที่มาของเงินทุนในการจัดหาเครื่องบินด้วยว่า จะเป็นการออกหุ้นกู้ หรือเพิ่มทุน
อย่างที่ทราบกันดีว่า การลงทุน 1.56 แสนล้านบาท ทั้งๆที่ผลประกอบการในไตรมาส 2 ประจำปี 2562 การบินไทยฯ ยังคงขาดทุนสุทธิ 6,877 ล้านบาท และเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้น 3,792 ล้านบาท หรือคิดเป็น 122.9 เปอร์ซ็นต์ หากเทียบกับปีก่อน เหตุผลในการดำเนินแผน “ฟื้นฟู” เช่นนี้จึงค่อนข้างฟังได้ยาก
แม้ว่านายสุเมธ จะยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินเป็นแผนที่เคยเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณามาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งยังยึดตามกรอบมติ ครม. 38 ลำ เพียงแต่แบ่งช่วงการจัดหาระยะที่ 1 จำนวน 25 ลำ และระยะที่ 2 จำนวน 13 ลำ ตามกรอบจำนวนวงเงินและรุ่นเครื่องบินเช่นเดิม
นอกจากนี้ ดีดี การบินไทยฯ ยังมั่นใจด้วยว่า จะสามารถอธิบายรายละเอียดและประเมินให้เห็นเป็นภาพรวมในอีก 20 ปีข้างหน้า เกี่ยวกับแผนจัดใช้เครื่องบินเพื่อเพิ่มรายได้เมื่อมีจำนวนฝูงบินใหม่เข้ามาเสริมอีก 38 ลำ ถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับฝูงบินที่มีอยู่ปัจจุบัน
เนื่องจากเครื่องบินของการบินไทยมีอายุค่อนข้างมาก หากมีการซ่อมบำรุงใหญ่จะต้องใช้เงินสูง หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 4 ของราคาเครื่องใหม่ ส่วนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ บริษัทไม่ได้เอางบประมาณของประเทศ หรือภาษีประชาชนมาใช้ในการจัดซื้อแน่นอน

นายสุเมธ ยังบอกอีกว่า ช่วงปลายปีนี้การบินไทยฯ มีแผนจะเช่าเครื่องบินจำนวน 3 ลำ เพื่อรองรับการให้บริการในเส้นทางบินยุโรป คาดว่าจะเป็นเครื่องขนาดใหญ และไม่ใช่เครื่องใหม่ โดยราคาเช่าจะถูกกว่าแผนเช่าเครื่องบินเมื่อช่วงต้นปีประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะนำเข้าบอร์ดเพื่อพิจารณาและตั้งเป้าว่าจะสามารถรับมอบไม่เกินต้นปี 2563 มีเป้าหมายให้การบินไทยกลับมามีกำไรได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน
ด้านนายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐ วิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) (สร.บกท.) แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับกรณีนี้ว่าเกรงจะเป็นการสร้างหนี้เพิ่มให้กับองค์กร ซ้ำเติมหนี้สินสะสมเดิมที่มีอยู่มากกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากในการจัดซื้อครั้งนี้ พนักงานองค์กรระดับปฏิบัติการและระดับล่างไม่เคยได้รับการชี้แจงแผนลงทุนนี้เลย
“การจัดซื้อจะนำไปบินในเส้นทางไหน หรือ ประเมินโอกาสในการลงทุน ตลอดจนตัวเลขรายรับหากมีเครื่องบินลำใหม่จะคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งเกรงว่าจะเป็นเหมือนที่ผ่านมาคือได้เครื่องบินใหม่แต่ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ จนต้องจอดซ่อมและจอดทิ้งเป็นภาระทางการเงินขององค์กรอีกทั้งยังเสียโอกาสทางรายได้ จนในที่สุดก็ต้องขายในราคาที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุน ดังนั้นการจัดซื้อเครื่องใหม่ในครั้งนี้ ต้องให้สอดคล้องกับยุคตลาดการบินเฟื่องฟูควรจะเป็นการซื้อมาใช้ระยะสั้น 2-3 ปีก่อนขายเท่าราคาทุนเพื่อทำกำไรด้านรายได้การบิน”
“ด้านแผนฟื้นฟูองค์กร นั้น มองว่าเรื่องการลดรายจ่ายองค์กรยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะการลดรายจ่ายพนักงานแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันการบินไทยขาดแคลนพนักงานในหลายภาคส่วนทั้งพนักงานบริการและพนักงานภาคสนามแต่องค์กรมีนโยบายไม่รับคนเพิ่ม ดังนั้นพนักงานเดิมต้องมีชั่วโมงทำงานที่หนักขึ้น ควบคู่ไปกับการที่องค์กรมีภาระค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) เพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงสงสัยว่าหากพนักงานไม่พอจะเพิ่มรายได้ในธุรกิจได้อย่างไร” นายดำรงค์ ให้ความเห็น
ประธาน สร.บกท. ยังมองอีกว่า คณะกรรมการบริหารการบินไทยและดีดีคนใหม่ที่เข้ามาทำงานตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วนั้น พนักงานในองค์กรเห็นว่าเป็นการซ้ำรอยเดิม คือ ไม่มีการชี้แจงแผนบริหารให้พนักงานฟัง ไม่เปิดให้พนักงานมีส่วนร่วมตัดสินใจในยุทธศาสตร์องค์กร มีแต่การตัดสินใจจากผู้บริหารกันเอง
“จึงเกิดคำถามว่าหากแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ในครั้งนี้ล้มเหลว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้รัฐบาลมีอำนาจลงโทษทางกฎหมายที่เข้มข้น ต่อบอร์ดการบินไทยและดีดีบินไทย ต้องรับผิดชอบด้วยหากเกิดความผิดพลาดในอนาคต มิเช่นนั้นจะเป็นแบบที่ผ่านมาคือผู้บริหารมาทำโครงการล้มเหลวแล้วก็ไปสุดท้ายองค์กรต้องรับภาระ นี่ยังไม่รวมเรื่องการขายทอดรัฐวิสาหกิจให้เอกชน เป็นอีกเรื่องที่พนักงานหวั่นใจในรัฐบาลยุคนี้เพราะหลายคดีทุจริตที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สอบสวนมาแล้วก็หลายปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้า”

จะเห็นได้ว่า นอกจากรัฐบาลจะสงสัยในแผนการฟื้นฟูของการบินไทยด้วยวิธีซื้อเครื่องบินใหม่ด้วยงบประมาณนับแสนล้านบาทแล้ว คนในอย่างสหภาพแรงงานเองก็ไม่เชื่อมั่นว่าการบริหารของบอร์ดการบินไทยชุดนี้จะไม่สร้างภาระขาดทุนซ้ำเติมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่แม้การบินไทยจะบอกว่าไม่ได้ใช้ภาษีมาซื้อเครื่องบิน แต่แผนการฟื้นฟูของบอร์ดการบินไทยยังไม่สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ว่าแผนฟื้นฟูนี้จะทำให้ผลประกอบการจะมีกำไรด้วยวิธีซื้อเครื่องบินใหม่ได้อย่างไร…..
Post Views:
967
Like this:
Like Loading...
Related