Financial

กูรูวงการประกันมาเอง!คนใกล้ชิดเสียชีวิต ตรวจสอบอย่างไร ว่าเขามีประกันที่ไหนบ้าง

นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการประกันและอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค​”บรรยง​ วิทยวีรศักดิ์”ความว่า

คนใกล้ชิดเสียชีวิต ตรวจสอบอย่างไร ว่าเขามีประกันที่ไหนบ้าง

ด้วยความที่ผมอยู่ในธุรกิจประกันชีวิตมายาวนานกว่า 35 ปี อีกทั้งเคยเป็นนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน จึงมักจะมีคนไถ่ถามมาเป็นประจำว่า ถ้ามีญาติใกล้ชิดเสียชีวิต จะตรวจสอบได้อย่างไรว่า เขามีประกันชีวิตกับบริษัทไหนบ้าง

# ญาติใกล้ชิด ต้องใกล้ชิดระดับไหน จึงจะมีสิทธิ์สอบถามได้
โดยทั่วไป เราหมายถึงคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดมากที่สุด ได้แก่ สามีภรรยา พ่อแม่และลูก นอกนั้นถือว่าเป็นคนละครอบครัว จัดอยู่ในชั้นที่ห่างออกไป ถ้าคนในครอบครัวสายตรงยังอยู่ ต้องให้คนในครอบครัวเป็นคนตรวจสอบครับ
ยกเว้นในกรณีที่ คนในครอบครัวสายตรงเสียชีวิตหมดแล้ว หรือผู้ตายยังไม่ได้แต่งงาน พี่น้องหรือญาติที่ห่างออกไป จะมีสิทธิตรวจสอบได้ แต่ในทุกกรณี ต้องแนบเอกสารแสดงความสัมพันธ์ การมีส่วนได้ส่วนเสียในการตรวจสอบเรื่องนี้

# ตรวจสอบที่ไหน ไปที่เดียว รู้ข้อมูลครบทุกบริษัท

คำตอบคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เนื่องจากเป็นองค์กรภาครัฐ ที่กำกับดูแลเรื่องประกันชีวิตและประกันภัยอื่นๆ โดยมีอำนาจตามกฎหมาย ที่จะขอความร่วมมือจากทุกบริษัทให้แจ้งข้อมูลมาได้

ตามขั้นตอน เมื่อเราไปยื่นเรื่องที่ตรวจสอบที่คปภ. สำนักงานคปภ.จะทำหนังสือถึงสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อให้สมาคมสอบถามไปยังบริษัทสมาชิกทั้ง 22 บริษัท ว่าผู้ตายชื่อนั้น นามสกุลนี้ มีทำประกันกับบริษัทของท่านหรือไม่ หากมี บริษัทจะส่งอีเมลแจ้งมาที่สมาคมประกันชีวิตไทย แล้วสมาคมประกันชีวิตไทยจะรวบรวมข้อมูลของทุกบริษัท ส่งต่อให้คปภ.อีกชั้นหนึ่ง เท่ากับว่าเราติดต่อที่เดียว ได้ครบทุกบริษัท

# ติดต่อสมาคมประกันชีวิตไทยโดยตรงได้หรือไม่
ไม่ได้ครับ เพราะสมาคมประกันชีวิตไทยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ที่จะบังคับให้บริษัทประกันชีวิตเปิดเผยข้อมูลเรื่องการมีประกันชีวิตของผู้เอาประกันชีวิต หากดึงดันกระทำ จะผิดกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นสำนักงานคปภ. เขามีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อมูลส่วนนี้ได้

# ไปติดต่อคปภ. สำนักงานไหนได้บ้าง
ท่านอยู่จังหวัดไหน ก็ให้ไปติดต่อสำนักงานคปภ.จังหวัดนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานคปภ.ทุกจังหวัด ยินดีให้บริการ โดยเขาจะทำหนังสือแจ้งไปยังสมาคมประกันชีวิตไทย หรืออาจจะขอความร่วมมือจากบริษัทประกันชีวิตในจังหวัดที่รับผิดชอบ เพื่อให้ตรวจสอบเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้

# หากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะสอบถามได้เหมือนกันหรือไม่
คำตอบคือได้เช่นกัน โดยสำนักงานคปภ.อาจจะสอบถามไปถึงสมาคมประกันวินาศภัยด้วย เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัยจะรับประกันอุบัติเหตุและประกันโรคร้ายแรงด้วย ดังนั้น ในกรณีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรง ก็แจ้งความจำนงขอตรวจสอบที่สำนักงานคปภ. ครั้งเดียว ได้ครบทุกบริษัทครับ

# ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการไปยื่นเรื่อง
ผู้ที่ไปแจ้งความจำนง ขอตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ของญาติใกล้ชิด ต้องมีใบมรณะบัตรของผู้ตาย เอกสารแสดงความสัมพันธ์กับผู้ตายว่าเป็นคู่สมรสหรือเป็นบุตรของผู้ตาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียตามกฏหมาย จึงจะขอตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบนั้น จะเป็นเพียงแค่ผู้ตายมีกรมธรรม์กับบริษัทนั้นบริษัทนี้เท่านั้น แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดของกรมธรรม์ให้เราทราบได้ โดยเฉพาะชื่อผู้รับประโยชน์ เนื่องจากถือเป็นความลับส่วนตัวของลูกค้า บริษัทไม่สามารถเปิดเผยได้

# เมื่อทราบว่ามีกรมธรรม์กับบริษัทไหนแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ
ญาติใกล้ชิดต้องไปแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่สินไหมของบริษัทนั้น เพื่อตรวจสอบว่าเราเป็นผู้รับประโยชน์หรือไม่ หากใช่ เจ้าหน้าที่จะบอกให้เราเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอรับสินไหม แต่ถ้าเราไม่ใช่ผู้รับประโยชน์ บริษัทจะแจ้งเพียงว่า ท่านไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นผู้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นความลับของลูกค้า เราเพียงทราบแค่ว่า เราไม่มีสิทธิ์ในสินไหมของกรมธรรม์ฉบับนี้

# เอกสารยื่นขอสินไหมมรณกรรมมีอะไรบ้าง
โดยทั่วไป จะมีแบบฟอร์มให้กรอกเพื่อยื่นขอรับสินไหม พร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้ สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของผู้ตาย สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์ทุกคน ใบมรณบัตร หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ต้องมีบันทึกประจำวันของตำรวจด้วย แต่ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ต้องมีใบรายงานแพทย์ ผู้รักษาคนสุดท้าย เซ็นรับรองมาเช่นกัน

# ขอตรวจสอบผ่านแอป “กรมธรรม์ของฉัน” ได้หรือไม่
เมื่อปีพ.ศ. 2564 สำนักงานคปภ.ได้เปิดบริการ Application “กรมธรรม์ของฉัน” หรือ MyPolicy บน LINE Official Account “คปภ. รอบรู้ (@OICConnect) เพื่อให้ผู้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบกรมธรรม์ของตนเองได้ แต่ในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตไปแล้ว ญาติพี่น้องไม่สามารถใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในการตรวจสอบได้ เนื่องจากการที่จะใช้แอพพลิเคชั่นนี้ ต้องมีการยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้เอาประกันเอง จึงจะมีสิทธิ์ใช้แอพนี้ได้

# ต้องตรวจสอบภายในกี่ปี ถึงยังคงมีสิทธิเบิกสินไหมได้
ถึงแม้กรมธรรม์หลายบริษัทจะเขียนไว้ตรงกันว่า หากผู้เอาประกันเสียชีวิตต้องแจ้งบริษัทภายในกี่วัน อย่างไรก็ตาม ก็จะมีข้อยกเว้นว่าในกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าผู้เอาประกันมีการทำประกันชีวิตเอาไว้ ก็ให้สามารถมายื่นเรื่องได้ทันทีที่ทราบ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับจากวันที่เสียชีวิต เนื่องจากอายุความของการทำประกันชีวิตนั้นมีเพียง 10 ปีเท่านั้น เลยจากนั้นก็หมดสิทธิ์ในการเรียกร้องสินไหม

เว้นแต่ถ้าเป็นกรมธรรม์สะสมทรัพย์ แล้วมีมูลค่าเงินสดเหลืออยู่ เมื่อครบสัญญาแล้ว บริษัทจะเก็บเงินนั้นไว้ 10 ปี เพื่อตามตัวผู้เอาประกันชีวิตมารับเงินครบสัญญา หลังจากนั้นจะโอนไปเก็บไว้ที่กองทุนประกันชีวิตเพื่อดูแลและติดตามผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์อีก 10 ปี หากยังไม่มีใครรับอีก (รวมเป็นเวลา 20 ปี) เงินนี้ก็จะตกเป็นเงินของกองทุนประกันชีวิต(ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของรัฐ) เพื่อเป็นกองทุนในการชดเชยผู้เสียหายในกรณีที่มีบริษัทประกันชีวิตล้มละลายต่อไป (เหมือนสถาบันประกันเงินฝาก แต่ตั้งแต่ตั้งกองทุนนี้มา ยังไม่เคยมีบริษัทประกันชีวิตล้มเลย)

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน เพราะวันหนึ่งอาจจะมีญาติใกล้ชิดของเราเสียชีวิต และเราก็ไม่แน่ใจว่าท่านได้ทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทไหนบ้าง ดังนั้น จึงเป็นการรอบคอบที่จะตรวจสอบให้แน่ใจ มิเช่นนั้นหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเกิน 10 ปีแล้ว อาจจะชวดสิทธิ์ในการเรียกร้องเงินสินไหมได้ ถึงแม้จะเจอกรมธรรม์ภายหลัง (กรมธรรม์อาจจะขาดอายุเนื่องจากผู้เอาประกันภัยไม่ได้จ่ายเบี้ยประกันแล้ว)

ท่านเห็นด้วยกับผมไหมว่า “มีกรมธรรม์ไว้ในครอบครอง เหมือนมีเงินสำรองไว้ในครอบครัว”

วันหนึ่งที่เราไม่อยู่แล้ว ครอบครัวยังสามารถใช้สิทธิรับเงินสินไหมได้ ถึงแม้จะไม่มีกรมธรรม์ต้นฉบับอยู่ในมือแล้วก็ตาม
หมายเหตุ : กรณีที่ท่านทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุไว้กับบริษัทในประเทศไทย สำนักงานคปภ.จะสามารถตรวจสอบให้ท่านได้หมดทุกบริษัท แต่ถ้าท่านซื้อประกันออนไลน์กับบริษัทประกันชีวิตในต่างประเทศ และไม่มีใครทราบ จะไม่มีใครตรวจสอบให้ท่านได้เลย

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่จากต่างประเทศไปทำงานที่ตึกเวิล์ดเทรดในสหรัฐ พอมีเหตุการณ์ตึกเวิล์ดเทรดถล่ม คนที่บ้านจะไม่มีใครทราบเลยว่า ลูกๆหลานๆที่ไปทำงานที่นั่น ซื้อประกันออนไลน์กับบริษัทไหนบ้าง นี่คือจุดอ่อนของการซื้อประกันออนไลน์กับบริษัทประกันในต่างประเทศครับ

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: