Biznews

‘กาแฟดอยช้าง’ ยันพร้อมจ่าย หลังถูกตีข่าวไม่จ่ายเงินให้ผู้ปลูกกาแฟ

หลังจากเว็บไซต์นิวทรัสต์ รายงานว่า มูลนิธิธอมสัน รอยเตอร์ส (Thomson Reuters Foundation) สืบสวนพบว่า บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด (Doi Chaang Coffee Original Co., Ltd.) แบรนด์กาแฟชื่อดังของไทย ไม่จ่ายเงินให้ผู้ปลูกกาแฟกว่า 200 คน เป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ส่งผลให้พวกเขาขาดรายได้และจำเป็นต้องไปกู้หนี้ยืมสิน โดยทางกาแฟดอยช้างได้ออกมายอมรับว่ากระทำการดังกล่าวจริง และยืนยันว่าจะชดเชยเงินคืนให้กับทุกคน

ล่าสุด กาแฟดอยช้าง โดยบริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงด่วน โดยยืนยันว่า  มีการช่วยเหลือเกษตรกรมาโดยตลอด เพื่อไม่ให้ถูกกดราคากาแฟและพร้อมจะจ่ายเงินให้กับผู้ปลุูกกาแฟทันทีเมื่อขายได้ และจะทยอยจ่ายให้ครบ ใจความดังนี้ 

 

ข้อมูลและข้อเท็จจริง –

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด หรือกาแฟดอยช้าง ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นบุกเบิกและพยายามสร้างมาตรฐานและทำตลาดกาแฟจากต้นน้ำไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งปลูกโดยเกษตรกรจากไม่กี่ร้อยไร่ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา และพยายามรับซื้อผลกาแฟสุกในราคาสูงกว่าตลาดมาโดยตลอด โดยปกติจะสูงกว่าตลาดประมาณ 20-30%มาโดยตลอด และการันตีราคาที่ไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 18 บาท (การประกันราคารับซื้อขั้นต่ำ) ในช่วงต้นฤดูจนถึงประมาณ 23-25 บาท ในบางปี และพวกเราต้องใช้ระยะเวลาต่อสู้มาหลายปีจากที่ไม่มีใครรู้จักจนกาแฟดอยช้างได้รับการยอมรับและมีชื่อในระดับสากล

เมื่อกาแฟดอยช้างเริ่มมีชื่อเสียงและเกษตรกรสามารถสร้างรายได้ที่ดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นๆ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันมาปลูกกาแฟกันเป็นจำนวนมากจากไม่กี่ร้อยไร่ก็กลายเป็นเกือบ 3 หมื่นไร่ในระยะเวลาเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น ในช่วงแรกๆ ผลกาแฟสุกส่วนใหญ่เกษตรกรก็ขายให้บริษัทฯ เนื่องจากผู้รับซื้อรายอื่นๆ บนดอยช้างที่จะสามารถช่วยซื้อจากเกษตรกรยังมีน้อยมาก ประกอบกับเป็นปริมาณที่ทางบริษัทฯ เองก็จะมีความสามารถในการรับซื้อและมีกำลังในการทำตลาดในแต่ละปี

ทางบริษัทฯ เองแม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเป็นธุรกิจชุมชนแต่ก็มีข้อจำกัดในการลงทุนซึ่งการรับซื้อกาแฟซึ่งมีปริมาณเกินความต้องการนั้นต้องใช้ทุนจำนวนมากในแต่ละปี และจะเป็นภาระหากไม่สอดคล้องกับความสามารถในการจำหน่ายหรือความต้องการของตลาด ในช่วงเกือบสิบปีมานี้ทางบริษัทฯ ทำตลาดกาแฟโดยรวมหลายร้อยจนถึงหลักพันตันต่อปี แต่หากบางปีที่กาแฟมีปริมาณมาก ซึ่งบนดอยช้างจะมีอยู่หลายพันตันต่อปี บริษัทฯ ก็จำเป็นต้องหยุดรับซื้อเมื่อมีปริมาณเพียงพอในการใช้และจัดจำหน่าย

แต่เนื่องจากบนดอยช้างมีผู้รับซื้อจริงๆ จำนวนน้อยรายมาก โดยตั้งแต่ประมาณปี 2551 เป็นต้นมา กาแฟบนดอยช้างเริ่มมีปริมาณมากกว่าความต้องการ และเกษตรกรบางส่วนก็ไม่ได้มีโรงงานแปรรูปเป็นกาแฟกะลา เกษตรกรส่วนหนึ่งซึ่งก็เป็นสมาชิกผู้จัดส่งผลกาแฟผลสุกให้ทางบริษัท ก็ได้ร้องขอและตกลงกันในการฝากทำ โดยทางบริษัทฯ จะแปรรูปให้และเก็บกาแฟกะลาไว้รวมถึงจะพยายามช่วยผลักดันการขายและทำตลาดให้ โดยมีข้อกำหนดว่าหากขายได้ก็จะชำระเป็นค่าผลกาแฟสุกในราคาเต็มเสมือนทางบริษัทฯ รับซื้อ และเกษตรกรทุกรายก็ร่วมเป็นสมาชิกซึ่งรู้จักและเข้าใจรวมถึงมีความร่วมมือต่อเนื่องกันอยู่แล้วโดยทางบริษัทฯ จะออกใบรับซื้อให้ไว้เป็นหลักฐานและยังรับปากว่าหากเกษตรกรรายใดต้องการใช้กาแฟหรือจะมารับกลับไปขายเองก็สามารถกระทำได้โดยต้องยินดีจ่ายต้นทุนจริงในการแปรรูปประมาณ 15 บาทต่อกาแฟกะลา 1 กิโลกรัมให้กับทางบริษัทฯ (ในขณะที่มีผู้ประกอบการบางรายรับจ้างแปรรูป 20-30บาทต่อกิโลกรัม)และในแต่ละปีการฝากผลกาแฟสุกเพื่อแปรรูปจากเกษตรกรไว้ที่บริษัทฯ ก็จะมีปริมาณในระดับหนึ่งซึ่งอาจดูไม่มากหากเทียบกับส่วนที่บริษัทฯ ซื้อเพื่อใช้ในแต่ละปี แต่ก็เป็นวิถีปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาหลายปีหมุนเวียนกันไป และการรับฝากแปรรูปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรก็ไม่ได้มีเฉพาะ บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออรจินอล จำกัด เท่านั้น ยังมีบริษัทอื่นในพื้นที่มีความช่วยเหลือแบบเดียวกันอยู่บ้างเช่นกัน

ทั้งนี้ในสถานการณ์ธุรกิจปกติที่มีการส่งออกเมล็ดกาแฟดิบได้ตามเป้ากระบวนการก็จะราบรื่นไปด้วยดี ระยะเวลาหมุนเวียนก็จะไม่เกิน 1-2 ปี เนื่องจากกาแฟดอยช้างจะมีการบ่มอย่างน้อย 6-8 เดือนก่อนจำหน่ายอยู่แล้ว และเกษตรกรก็มีความพึงพอใจเพราะไม่ต้องถูกกดราคาจากผู้ซื้อรายอื่นๆ

แต่เนื่องจากตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2560 เป็นต้นมา การส่งออกกาแฟดิบต่ำกว่าเป้าที่บริษัทฯ คาดการณ์ไว้ เพราะราคากาแฟในตลาดโลกตกต่ำซึ่งท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ทางบริษัทฯ หยุดการรับฝากกาแฟจากเกษตรกรในปีถัดมาคือปี 2561 และพยายามช่วยพลักดันจำหน่ายกาแฟที่รับฝากใว้ก่อนหน้าออกไป จากปริมาณที่ช่วยรับฝากไว้เกือบ 300 ตันกะลาและทยอยขายออกพร้อมชำระค่ากาแฟให้เกษตรกรในส่วนที่จำหน่ายได้ตามราคาที่ตกลงใว้ จนปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 50 ตันกะลาเท่านั้น และจากประมาณการส่งออกที่รอคำสั่งซื้อมาก็น่าจะหมดภายในไม่เกินอีก 2-3 เดือนนับจากนี้

วิธีปฏิบัติเช่นนี้บางท่านอาจพยายามตีความว่าเป็นการเอาเปรียบเกษตรกรทั้งที่เป็นความพยายามหาทางช่วยเหลือเกษตรเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องกลับไปถูกกดราคาและเจ็บปวดเหมือนเมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกครั้ง… แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ 2 ปีที่ผ่านมาเราไม่สามารถรับฝากได้ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกษตรกรที่ยังไม่มีความสามารถแปรรูปได้เองมีความจำเป็นต้องขายผลกาแฟสุกให้กับพ่อค้ากาแฟจากภายนอก ซึ่งในบางช่วงราคาต่ำถึง13-14 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ทางบริษัทฯ รับซื้อในราคาการันตีเฉลี่ยที่ 20 บาท หากแต่เป็นปริมาณเท่าที่จะสามารถรับซื้อได้เท่านั้น

ในปีนี้ทางเกษตรกรบางส่วนจึงขอให้ทาง บริษัทฯ ช่วยรับฝากทำอีก ซึ่งบริษัทฯ เห็นปัญหาและเห็นใจเกษตรกรแต่ก็มีความจำเป็นต้องรับเฉพาะเกษตรกรที่เข้าใจสถานการณ์กาแฟไทยจริงๆ เท่านั้น ว่ากำลังถูกกระทบจากหลายๆ ปัจจัยในปัจจุบัน

ท่านสามารถสละเวลาขึ้นมาพิสูจน์และมองเห็นภาพความเป็นจริงที่บนดอยช้างได้ตลอดเวลา และจะได้สัมผัสกับพวกเราว่าเรามีวิถีชีวิตเสมือนครอบครัวเดียวกันบนดอยช้าง ที่หาทางช่วยกันรักษาชื่อเสียงกาแฟดอยช้างซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆไม่ว่าจะเป็นการปกป้องการใช้กาแฟจากที่อื่นแล้วอ้างสวมว่าเป็นกาแฟดอยช้าง หรือจะเป็นความช่วยเหลือทางด้านอื่นๆในการพัฒนาผ่านมูลนิธิหรือสมาคมต่างๆ รวมทั้งรักษาวัฒนธรรมของพวกทั้งอาข่า ลีซู หรือพี่น้องชาติพันธุ์อื่นที่นี่

และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เสพข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะสามารถมีโอกาสได้รับข้อมูลรอบด้านขึ้น ก่อนที่ใครก็ตามที่มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อส่วนรวม เพื่อชื่อเสียง เกียรติภูมิของชาติพันธุ์ และคนปลูกกาแฟจะเสียกำลังใจไปเสียก่อน…สำหรับทุกคนทุกคนครับ…ไม่ใช่แค่คนดอยช้างและกาแฟดอยช้างเท่านั้น

ขอบคุณครับ

 

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
X
%d bloggers like this: