การบริหารงานบุคคลของซีพีในยุค 4.0
ในยุค 4.0 ที่ประกอบไปด้วยแนวคิดที่ทันสมัย ความรวดเร็วของนวัตกรรมแบบ Disruptive ที่สามารถทำให้ธุรกิจดั้งเดิมหมดสภาพ การเกิดขึ้นของหุ่นยนต์ (Robotics) ประเภทต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรม พาหนะไร้คนบังคับ พลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิล รถพลังงานไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆในด้านการผลิต การเกษตร การสื่อสาร การเรียนการสอน การค้า ตลอดจนการแพทย์สมัยใหม่ โดยเน้นด้านสุขภาพ และการดูแลรักษาป้องกันที่จะทำให้ผู้คนอายุยืนกว่า 100 ปี
ด้วยปัจจัยดังกล่าวเครือเจริญโภคภัณฑ์จึงได้มีการกำหนดพันธกิจ วิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับยุค 4.0 โดยเฉพาะหัวใจที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ “คน” ซึ่งทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้จัดทำโครงการปฏิรูประบบบริหารงานบุคคล (HR Transformation) เพื่อรองรับการเป็นบริษัทระดับโลก (Global Company) ที่มีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย (Conglomerate) เช่น การนำระบบ Software อัจฉริยะมาใช้ในการจัดการคนให้มีประสิทธิภาพ สามารถประเมินผลลัพธ์ของพนักงานแต่ละท่านด้วย Dashboard ปรับเปลี่ยนบทบาทการบริหารของ Line Manager ไปสู่ HR Manager ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลาง การจัดการผลตอบแทนที่ได้มาตรฐาน (Compensation & Benefits) การประเมินค่าของงาน (Job Evaluation) ระบบการจัดการประสิทธิภาพของงานบุคคล (Performance Management System) การจัดการผู้สืบทอด (Successor Planning) และการตระเตรียมผู้นำในระดับต่างๆ (Leadership Pipeline) การเป็นคู่คิดด้านธุรกิจ (Business Partner) ให้กับ CEO เป็นต้น ดังนั้นฝ่ายบุคคลจำเป็นต้องเข้าใจในธุรกิจและพร้อมหมุนเวียนออกไปทำธุรกิจให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นการวางแผนด้านการบริหารงานบุคคลในทุกระดับในระยะยาว อีกทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการลงทุนเป็นมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท สร้างสถาบันพัฒนาผู้นำ (CP Leadership Institute) ที่เขาใหญ่ ซึ่งเริ่มดำเนินการปลายปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา
ในส่วนของกลยุทธ์ผู้นำในยุคปัจจุบัน จะมีการฝึกให้ผู้นำในแต่ละระดับมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้ประกอบการ (เถ้าแก่) ผ่านหลักสูตรการเรียนต่างๆ เช่น NLP, BLP และ ALP ซึ่งนโยบายใหม่ล่าสุดคือการสร้าง Young Talent จากประเทศต่างๆทั่วโลก โดยสรรหาคนระดับ Top ซึ่งต้องมีประวัติเป็นผู้นำนักศึกษามาก่อน เพราะคนกลุ่มนี้มีจุดเด่นด้านการเสียสละ มนุษย์สัมพันธ์ดี ขยัน ทุ่มเท รู้จักบริหารจัดการเวลา จัดการคน และมีผลการเรียนดี โดยจะจัดกลุ่มรวมคนจากหลายประเทศ เช่น ไทย จีน และอินเดีย เพื่อฝึกเรียนรู้ด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cross Culture) เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยให้รับผิดชอบในการประกอบธุรกิจจริง เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ (Entrepreneurial Leadership) และใช้ร้านอาหารจานเดี่ยวเป็นสถานที่ฝึก รวมถึงเรียนรู้กระบวนการย้อนกลับไปจนถึงต้นน้ำ เช่น กระบวนการผลิต การแปรรูป ฟาร์ม และการเพาะปลูก เพื่อให้ได้รับรู้ทั้งในภาพกว้างและลึกอย่างบูรณาการ โดยฝึกในชั้นเรียน 10% และปฏิบัติ 90% (Action Learning) มุ่งเน้นไอเดียใหม่ และกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจให้ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่ดี ทำให้เกิดขึ้นจริง เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน โดยมีค่านิยมเครือ 6 ประการที่เป็นแนวทางสร้างความเป็นคนดี และคนเก่งที่มีความสุข
ประการแรก คือ เรื่อง 3 ประโยชน์ โดยเน้นว่าจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศก่อนจะทำสิ่งใด (หมายถึง ประเทศที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ไปประกอบกิจการ) และต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่มีต่อประชาชนของประเทศนั้น สำหรับประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์จะมาเป็นเรื่องสุดท้าย
ประการที่สอง คือ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เลือกที่จะทำเรื่องยากที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทำและต้องใช้ทีเด็ดในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
ประการที่สาม คือ การเน้นนวัตกรรมในการประกอบธุรกิจ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ประการที่สี่ คือ ลงมือปฏิบัติอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูง
ประการที่ห้า คือ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
และประการสุดท้าย คือ ซื่อสัตย์ และมีคุณธรรม
ทั้งหมดนี้คือทิศทาง วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และหลักปฏิบัติด้านการบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้การกำกับดูแลและการบริหารงานของท่านประธานอาวุโส คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ท่านประธาน คุณสุภกิต เจียรวนนท์ และท่านประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณศุภชัย เจียรวนนท์
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร MBA Connected ฉบับที่ 23
ประจำเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2560