Real Estate

กสิกร คาดครึ่งปีหลัง ค่ายอสังหารอจังหวะตลาดฟื้นตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ว่า

ตลาดน่าจะทรงตัวจากช่วงครึ่งแรกของปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังเร่งระบายที่อยู่อาศัยคงค้างอย่างต่อเนื่องโดยกำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับประเด็นท้าทายด้านแรงงาน ยังเป็นปัจจัยกดดันการเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการยังคงต้องลงทุนโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ส่งผลให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ผู้ประกอบการน่าจะยังรอจังหวะตลาดฟื้นตัว เพื่อลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยอย่างระมัดระวังโดยเป็นการเลือกลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยในทำเลที่เหมาะสม ทั้งที่ติดระบบขนส่งมวลชน สามารถเดินทางได้หลายวิธี หรือสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ยากนัก

อีกทั้งยังเลือกเจาะผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเซ็กเมนต์ที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มที่มีกำลังซื้อ กลุ่มซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่อาศัยจริง เป็นต้น แตกต่างจากในช่วงสามปีที่ผ่านมา ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ในหลายทำเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ เพื่อเข้าถึงผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในวงกว้าง และเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านยอดพรีเซลล์เป็นหลัก

ทั้งนี้ จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2559 ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในส่วนของการซื้อจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 น่าจะหดตัวร้อยละ 14-16 เมื่อเทียบกับปี 2559 ส่งผลให้ระยะเวลาดูดซับที่อยู่อาศัยคงค้างยาวนานขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 170,000-177,000 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 4-8 เมื่อเทียบกับปี 2559

สำหรับการลงทุนและการซื้อขายที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่สามารถปรับราคาขายที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงการระบายที่อยู่อาศัยคงค้างกลุ่มคอนโดมิเนียมในทำเลที่ไม่ใช่พื้นที่หลักทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว อาจเป็นไปได้ช้า เนื่องจากคอนโดมิเนียมยังไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยของคนต่างจังหวัด รวมถึงยังมีที่ดินที่มีศักยภาพสำหรับพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบอีกมาก อีกทั้งยังมีการชะลอซื้อคอนโดมิเนียมจากนักลงทุน นักเก็งกำไร และผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน

สำหรับในปี 2561 น่าจะเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้วางแผนรับมือ รวมถึงบริหารจัดการด้านแรงงานไว้บ้างแล้ว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีทางเลือกในการชะลอพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ได้เริ่มเปิดตัวออกไปได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2561 สามารถฟื้นตัว โดยมีการขยายตัวของการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ น่าจะส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน และมีภาระต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มสูงขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการสรรหาแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นต้น

โดยผู้รับเหมาก่อสร้างอาจผลักภาระต้นทุนดังกล่าวมาสู่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากภาวะขาดแคลนแรงงาน ที่อาจส่งผลให้การก่อสร้างโครงการภาครัฐเกิดความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการระบายที่อยู่อาศัยคงค้างของผู้ประกอบการตามมา

นอกจากประเด็นท้าทายด้านแรงงานแล้ว ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในระยะต่อไป เช่น จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับสูง ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น ในขณะที่ ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องปิดการขายโครงการที่อยู่อาศัยให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: