กสทช.แก้เกม แตก9ใบอนุญาตคลื่น 1800 ดึงคนประมูล
หลังจากหน้าแตกจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เนื่องด้วยเหล่าผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 รายนำโดยเอไอเอส ทรู ดีแทค ตบเท้าเมินหน้าหนีไม่ร่วมประมูล ทำให้ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องออกมาพลิกเกมใหม่
โดยล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) แถลงว่า จะเดินหน้าจัดการประมูลคลื่นทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz โดยในวันเสาร์ที่ 18 ส.ค. 2561 ได้กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz และวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz
นอกจากนี้ยังได้ปรับกฏเกณฑ์ในการประมูลใหม่ โดยปรับการประมูลคลื่น 1800 จากเดิม ใบอนุญาตละ 15 MHz รวม 3 ใบอนุญาต รวมคลื่นความถี่ทั้งหมด 45 MHz ราคาตั้งต้นเดิม 37,457 ล้านบาท โดยเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตแบบใบเล็ก 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นต่อหนึ่งใบอนุญาต (5 MHz) ราคา 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท
ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะเปิดประมูล 1 ใบอนุญาต ขนาด 5 MHz ราคาเริ่มต้น37,988ล้านบาท
ที่ประชุม กสทช. ยังได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ดังนี้
6 ก.ค. – 7 ส.ค. 2561 เชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล
8 ส.ค. 2561 เปิดให้ยื่นคำขอร่วมการประมูล
9 – 13 ส.ค. 2561 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูล
15 ส.ค. 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ
16 – 17 ส.ค. 2561 ชี้แจงวิธีดำเนินการประมูลและ Mock Auction
18 ส.ค. 2561 วันประมูลคลื่น 900 MHz
19 ส.ค. 2561 วันประมูลคลื่น 1800 MHz
พร้อมกันนี้ เลขาธิการ กสทช. ยังระบุอีกว่า เมื่อวันที่25 มิ.ย.2561 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ส่งหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. แจ้งว่าพร้อมเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งหากมีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย กสทช.จะขยายระยะเวลาเพิ่มอีก 30 วัน นับจากวันประมูล
สำหรับมาตรการเยียวยา คลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 MHz กสทช. ยังยืนยันตามหลักเกณฑ์เดิมคือ จะเกิดขึ้นได้เมื่อสำนักงาน กสทช.จัดการประมูลไม่ทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ดังนั้นหากไม่มีการขยายระยะเวลาหลังวันที่กำหนดการประมูล ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ มาตรการเยียวยา แต่หากมีการขยายระยะเวลา สำนักงาน กสทช. ต้องนำวาระเข้าสู่ที่ประชุม กสทช.เพื่อขอมติอีกครั้ง
ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคกำลังเจรจากับ กสทช. ต่อการประกาศการประมูลคลื่น 900 MHz และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการวางแผนจัดการประมูลอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงสภาพเงื่อนไขการใช้งานคลื่นความถี่ 850MHz ของดีแทคและสถานการณ์ทางการตลาดในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ โดยหลักการ ดีแทคไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อการเข้าร่วมการประมูลจนกว่าจะเสร็จสิ้นการพิจารณาอย่างเป็นทางการจากภายในบริษัท
สำหรับการประมูลคลื่น 1800 MHz นั้น ดีแทคยังคงจุดยืนเดิมซึ่งมีปริมาณคลื่นเพียงพอต่อการให้บริการย่านความถี่สูง อย่างไรก็ตาม ดีแทคจะพิจารณาต่อข้อกำหนดการประมูล 1800 MHz และจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป
สำหรับการคุ้มครองผู้ใช้งานช่วงหมดสัมปทาน ลูกค้าของดีแทคมีสิทธิ์ที่จะได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีซิมดับ หลังจากการสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ตามมาตรการเยียวยา จนกว่ากระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ คือ มีผู้ได้รับอนุญาตรายใหม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ กสทช. โดยข้อกำหนดดังกล่าวได้เคยถูกนำมาบังคับใช้ตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการอื่นๆ เช่น ทรู และ เอไอเอส ในปี พ.ศ. 2556 และ 2558 ที่ผ่านมา
งานนี้ต้องรอดูว่า ขนมหวานที่ราคาถูกลงครั้งนี้ จะหอมหวานพอที่จะล่อใจให้ค่ายโอเปอเรเตอร์เข้ามาร่วมวงประมูล หรือจะหน้าแหกอีกรอบ