กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้อะไรจากอัมรินทร์ฯ
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองก้าวต่อไป หลังจากกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี สยายปีกสู่ธุรกิจสื่อ
ด้วยการหว่านเงิน 850 ล้านบาท ให้บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ที่มี ฐาปน สิริวัฒนภักดี และ ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นกรรมการบริษัท เข้าซื้อหุ้นบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 47.62% ในอัมรินทร์
ดีลครั้งนี้หากในสถานการณ์ปกติคงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอาณาจักรน้ำเมาของกลุ่มเจริญ ที่มีเงินเหลือเฟือสำหรับลงทุนหรือซื้อกิจการอย่างที่ทำมาต่อเนื่อง แต่กรณีที่ภาวะปัจจุบันสื่อทีวีดิจิทัลอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะอัมรินทร์ที่เรตติ้งน้อยนิด มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าแล้วทำไมกลุ่มเจริญถึงตัดสินใจควักกระเป๋าเข้าซื้อหุ้นในบริษัทที่ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะทำกำไร
ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ณ วันที่มีข่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นอมรินทร์ พุ่งจาก 2.20 บาท ไปอยู่ที่ 9.65 บาท และล่าสุดวันที่ 9 ธ.ค. ราคาก็ยังคงค้างอยู่ที่ 7.20 บาท นี่คืออย่างแรกที่กลุ่มเจริญได้ชัดเจนจากการซื้อหุ้นในราคา 4.25 บาท
แต่นี่ต้องเรียกว่าเป็นผลพลอยได้เท่านั้น เพราะเนื้อแท้แล้วการขยายมารุกคืบธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจสื่อ ย่อมต้องมีการวางแผนงานกลยุทธ์และเป้าหมายชัดเจนสไตล์สิริวัฒนภักดี เพราะปัจจุบันแม้ว่าทีวีดิจิทัลของอัมรินทร์ฯจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่หากดูถึงภาพรวมธุรกิจของอัมรินทร์ฯแล้ว ถือว่ามีความแข็งแกร่งไม่น้อย ด้วยการเป็นเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ที่หลากหลาย มีช่องทางจำหน่ายที่แข็งแกร่งผ่านร้านนายอินทร์ ธุรกิจอีเวนท์และยังกำใบอนุญาตประกอบการช่องทีวีดิจิทัลไว้อีกด้วย ทั้งหมดนี้คือมูลค่าที่กลุ่มธุรกิจในเครือเจริญสามารถนำมาต่อยอดและซัพพอร์ตธุรกิจในเครือได้อีกมาก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การโฆษณาสินค้าในเครือ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่โดนกฏเหล็กจากภาครัฐควบคุม เมื่อมีสื่อตัวเองอยู่ในมือ ย่อมเป็นการสร้างแต้มต่อจากคู่แข่งที่อยู่ภายใต้กฏเดียวกันแต่ไม่มีสื่อเป็นของตัวเอง เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า แม้ภาครัฐจะคุมเข้มแต่ก็ยังเปิดช่องให้พอทำได้ รวมไปถึงยังมีช่องโหว่ให้ทำได้อีกมากเช่นกัน นี่เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตามองกันต่อไป
หากเจาะลึกไปถึงช่องทีวีดิจิทัลของอัมรินทร์ฯเอง ที่ผ่านมาถือว่ามีศักยภาพและจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เป็นแฟนอัมรินทร์ฯได้ดี แต่การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนี้จากผู้ประกอบการรายเดิมในทีวีระบบเดิมที่แข็งแกร่ง และรายใหม่ๆ ที่ค้นพบก้าวเดินของตัวเองจนสร้างที่ยืนในตลาดได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจขาลงทำให้สินค้าต่างๆลดการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อทีวีที่ค่าใช้จ่ายสูง หันไปโฆษณาสื่ออื่นๆ ที่ถูกลงทดแทน เมื่ออัมรินทร์ฯสายป่านไม่ยาวพอก็ส่งผลให้ต้องหาพันธมิตรใหม่ที่มีเงินทุนแข็งแกร่งเข้ามาต่อลมหายใจ และเมื่อจับคู่กับกลุ่มเจริญที่มีความพร้อมด้านเงินทุน ก้าวเดินจากนี้ของช่องอัมรินทร์ทีวีและธุรกิจอื่นๆในเครืออัมรินทร์ถือว่าแนวโน้มสดใสทีเดียว
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใต้โจทย์ที่ว่า กลุ่มเจริญฯ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในอัมรินทร์ฯเพื่อลุยธุรกิจขาใหม่นี้อย่างจริงจัง เพราะนั่นจะตามมาซึ่งเงินลงทุนอัดฉีดเต็มที่เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และที่สำคัญคือ เมื่อกลุ่มเจริญฯตัดสินใจควักเงินลงทุนอะไรสักอย่าง ย่อมหมายความว่า 1+1 ต้องได้มากกว่า 2 แน่นอน
แต่ที่แน่ๆ สำหรับช่องทีวีดิจิทัลด้วยกันแล้ว งานนี้มีหนาว แน่นอน