กรณีศึกษา เคเอฟซี ถอดใจ
ขาลงฟาสต์ฟูดไทย ไปต่อ หรือขายกิจการ
การเดินหน้าขายกิจการอย่างต่อเนื่องของแบรนด์ฟาสต์ฟูดชื่อดัง “เคเอฟซี” สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการตลาดอาหารจานด่วน (QSR) ในประเทศไทยไม่น้อย เพราะถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าตลาดดังกล่าวผ่านจุดอิ่มตัวมาเรียบร้อยแล้วและเป็นช่วงขาลงอีกด้วย
เคเอฟซี ( KFC) หรือ ไก่ทอดเคนทักกี เป็นภัตตาคารอาหารจานด่วนที่เน้นอาหารประเภทไก่ทอดเป็นหลัก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่หลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา และมีสาขามากเป็นอันดับที่สองรองจากแมคโดนัลด์ ด้วยจำนวนร้าน 18,875 ร้านใน 118 ประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2556 เป็นบริษัทย่อยของยัม แบรนด์ส อิงค์ ที่เป็นเจ้าของพิซซ่า ฮัทและทาโก้ เบลล์ ด้วย
ร้านแรกของเคเอฟซีเปิดเมื่อปี 2482 โดยผู้พันฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอส์ ที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเมืองคอร์บิน รัฐเคนทักกี และเปิดร้านสัมปทานสาขาแรกในปี 2495 จนได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้พันแซนเดอส์จึงขายกิจการให้กับกลุ่มนักลงทุนอื่นในปี 2505 ด้วยมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งกลุ่มบริษัทเป๊ปซี่โคเข้าซื้อกิจการแยกธุรกิจเกี่ยวกับอาหารออกมาเป็นบริษัทไทรคอน ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ยัม! แบรนด์ส อิงค์ ในปัจจุบัน
เคเอฟซีเปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อปี 2513 แต่ปิดให้บริการหลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2518 จากนั้นกลับเข้าเมืองไทยอีกครั้งในปี 2527 โดยกลุ่มเซ็นทรัล สาขาแรกอยู่ที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ต่อมาได้เปลี่ยนเจ้าของกิจการบริษัทแม่มาเป็นบริษัทเป๊ปซี่โค ซึ่งได้ดึงเครือเจริญโภคภัณฑ์มาร่วมขยายสาขา และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัทยัม! ประเทศไทย
การบริหารแบรนด์เคเอฟซีในไทย มีแฟรนไชส์ซี่ อยู่ถึง 3 บริษัท ได้แก่ เซ็นทรัล ฟาสท์ฟู้ด ซื้อสิทธิ์เมื่อปี 2527 นอกจากนั้น ซีพี ได้ร่วมทุนกับบริษัทแม่ จัดตั้งบริษัท ซีพี เคเอฟซี ดีเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี 2532 และบริษัท ยัม เรสเตอร์รองท์ เป็นบริษัทแม่เอง ก็บริหารงานเองด้วย
เคเอฟซีเริ่มส่ออาการให้เห็นมาพักใหญ่ด้วยการลดบทบาทจากการเป็นผู้ลงทุนในสาขาที่บริษัทเปิดเองมาให้สิทธิแฟรนไชส์ขยายสาขามากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อความรวดเร็วและคล่องตัวในการขยายสาขา จนล่าสุดเมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา เคเอฟซีได้ประกาศหาผู้สนใจเข้ามาซื้อกิจการสาขาของร้านเคเอฟซีในไทยทั้งหมดที่บริหารงานโดยยัม เรสเทอรองค์ พร้อมแต่งตั้งให้ ไพร้ซ์ วอเตอร์ เฮาส์ เป็นที่ปรึกษาการซื้อขาย คาดว่าทั้งกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ พร้อมทั้งลดบทบาทตัวเองเหลือเพียงผู้ให้บริการแฟรนไชส์ที่เน้นการบริหารและสนับสนุนแฟรนไชส์
เรียกง่ายๆคือ ไม่เป็นผู้ลงทุนเองอีกต่อไป…..
ปัจจุบันเคเอฟซี ประเทศไทยมีสาขา 586 สาขา แบ่งเป็นของยัมฯ 244 สาขาคิดเป็น 42% ซีอาร์จี 219 สาขา สัดส่วน 37% และอาร์ดี 123 สาขา สัดส่วน 21% เมื่อปลายปีที่แล้ว ยัมฯ เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการขายกิจการสาขาเดิมกว่า 130 สาขาให้กับแฟรนไชส์รายใหม่ คือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลลอปเม้นต์ จำกัด หรือ อาร์ดี ตามนโยบายของบริษัทแม่ที่จะใช้กลยุทธ์ให้แฟรนไชส์เป็นผู้ดำเนินการแทน
เคเอฟซีเคยประกาศแผนงานปี 2560 แฟรนไชซี่เคเอฟซีทั้ง 3 รายจะลงทุนรวมกัน 1,035 ล้านบาท ในการขยายสาขารวม 52 แห่งปีนี้ แบ่งเป็นไดรฟ์ทรู 15 แห่ง และจะคงสัดส่วนการบริการดีลิเวอรีครอบคลุม 50% ของสาขาเคเอฟซีทั้งหมด และอีก 700 ล้านบาทเป็นงบการตลาด แต่เมื่อการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจเสร็จตามแผนแล้ว ทางยัมฯ ก็จะหยุดการลงทุนขยายสาขา เพื่อปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางแฟรนไชส์
ปัจจุบัน KFC มีสาขาอยู่ทั่วโลกประมาณ 18,875 สาขา ใน 118 ประเทศ ว่ากันว่าทางร้านต้องฆ่าไก่วันละ 2.4 ล้านตัว เพื่อใช้ทำไก่ทอดสำหรับเสิร์ฟกันเลยทีเดียว และได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์อาหารฟาสต์ฟูดที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วงหลัง
ยัมฯ มีนโยบายเกี่ยวกับการเปิดสาขา KFC ในประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เลือกแฟรนไชส์ให้ท้องถิ่นดูแลเอง อาทิ ในฮ่องกงมี Birdland Ltd เป็นผู้ดูแล, ที่ญี่ปุ่นเป็น KFC Holdings Japan, Ltd ส่วนเกาหลีใต้อยู่ภายใต้เครือ Doosan Group องค์กรทางธุรกิจระดับ “แชโบล” ของทางเกาหลีใต้
แต่สำหรับในบางตลาด อาทิ จีนแผ่นใหญ่ยัมฯเคยเป็นเจ้าของสาขา KFC ในประเทศเองถึง 90% ซึ่งถือว่าสูงมาก และนี่ก็คืออีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการในเมืองจีนของไก่ทอดยี่ห้อดัง เติบโตอย่างรวดเร็วในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจขายกิจการในจีนแผนดินใหญ่ให้มหาเศรษฐี แจ็ก หม่า ” ด้วยมูลค่า 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าราว 15,000 ล้านบาทในช่วงที่กิจการของ KFC ในจีนเริ่มอยู่ในช่วง “ขาลง”
แม้กิจการของ KFC ในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะแถบเอเชียจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สถานการณ์ล่าสุดของธุรกิจก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงขาลงอย่างชัดเจน ซึ่งก็เป็นปัญหาแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุโรป และทวีปอเมริกาที่อาหารประเภท “ฟาสต์ฟูด” กำลังถูกมองในแง่ลบจากมุมมองด้านสุขภาพ
ตอกย้ำภาพความถดถอยของแบรนด์เคเอฟซี เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เคเอฟซี ตัดสินใจปิดกิจการร้านค้าสาขาสุดท้ายจากจำนวนทั้งหมด 7 สาขาในซีเรียแล้ว
แมคไทย กัดฟันสู้ต่อ
ขณะที่เคเอฟซีอยู่ในอาการซวนเซ แมคไทย เจ้าของแมคโดนัลด์ในประเทศไทย ยังกัดฟันปักหลักสู้ต่อด้วยการเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง โดยปีนี้เปิดอีก 25 สาขาเป็นอย่างน้อย แม้ว่าในปีที่ผ่านมาแมคไทยจะประสบปัญหายอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ตาม ภายใต้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปี 2560 จะต้องมีรายได้เติบโต 15-20%
ทว่า แมคโดนัลด์ในต่างประเทศก็ส่ออาการร่อแร่เช่นกัน เห็นได้จากการที่ บริษัทแมคโดนัลด์ คอร์ป บริษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ประกาศประมูลขายหุ้น 33% จากที่ถือครองในบริษัทแมคโดนัลด์ โฮลดิ้งส์ (เจแปน)ทั้งหมด 50% คาดมูลค่าในการขายหุ้นจะมากกว่า 1 แสนล้านเยน (877 ล้านดอลลาร์) ซึ่งก่อนหน้านี้ แมคโดนัลด์ คอร์ปประกาศขายหุ้น 80% ของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ให้แก่กลุ่มบริษัทที่นำโดยซิติก กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลจีน ในข้อตกลงวงเงิน 2,100 ล้านดอลลาร์
เมื่อหันกลับมามองภาพรวมตลาดร้านอาหารในประเทศไทย ปี 2558 ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาด QSR กว่า 34,100 ล้านบาท หรือเกือบ 35% โดยแบ่งเป็นตลาดไก่ทอด 17,000 ล้านบาท อัตราเติบโต 11% เบอร์เกอร์ 5,800 ล้านบาท เติบโต 5-7% พิซซ่าแบบนั่งทานในร้าน 3,900 ล้านบาท เติบโต 3% พิซซ่าแบบเดลิเวอรี่ และเทกอะเวย์ 7,400 ล้านบาท เติบโต 8%
กระแสสุขภาพที่ยังมาแรงต่อเนื่อง บวกกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว ซัดตลาดอาหารจานด่วนแบรนด์ดังจนซวนเซเช่นนี้ น่าคิดไม่น้อยว่า เมื่อแบรนด์ใหญ่ในตลาดอย่างเคเอฟซี ปรับธุรกิจเป็นแบรนด์ใหญ่แต่ดำเนินการโดยรายย่อยคือ แฟรนไชส์ จะมีกลยุทธ์อะไรมากระตุ้นยอดขายและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงดุเดือดมากขึ้นทุกวัน