Biznews

What Happen ???? ครอบครัว “ณรงค์เดช”

ยังไม่รู้ที่มาที่ไปว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตระกูลดังอย่าง “ณรงค์เดช” ผู้ก่อตั้ง KPN เมื่อจู่ๆ ผู้เป็นบิดานำโดย ดร. เกษม นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ณรงค์เดช ร่อนจดหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอย่าง นายณพ ณรงค์เดช โดยมีใจความดังนี้

คำแถลงการณ์ของครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร. เกษม นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ณรงค์เดช
เกี่ยวกับกรณี นายณพ ณรงค์เดช

เนื่องจากปัจจุบัน ปรากฏข่าวมากมายในเรื่องของความเกี่ยวพันระหว่างครอบครัวณรงค์เดช กับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร. เกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น และนายกรณ์ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น จึงมีความจำเป็นต้องส่งแถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันว่า การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
โดยรายละเอียดของสาเหตุที่ต้องแถลงการณ์ในครั้งนี้ เริ่มจากประมาณ 2 ปีที่แล้ว นายณพ ณรงค์เดช ได้ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวณรงค์เดช ในเรื่องการจัดหาเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้นใน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งต่อมา ครอบครัวณรงค์เดชก็ให้ความช่วยเหลือในการให้ยืมเงินสด การให้นำทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดช และทรัพย์สินอื่นที่ครอบครัวณรงค์เดชจัดหามาไปเป็นหลักประกันในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม

แต่หลังจากที่ นายณพ ณรงค์เดช ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว นายณพ กลับดำเนินการใดๆ โดยใช้ชื่อเสียง ของครอบครัวณรงค์เดชไปแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยลำพัง โดยทางครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญหลายประการ ไม่มีส่วนในการรับรู้ถึงรายละเอียดของการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือบริหารงานใดๆในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการลงทุนที่ผ่านมา แม้นายณพ จะให้ นายกรณ์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการฯของ WEH ก็ตาม แต่นายกรณ์ ก็ถูกกีดกันไม่ได้รับรู้ในรายละเอียด หรือร่วมตัดสินใจในการดำเนินการใดๆของ WEH จนนายกรณ์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทในเวลาต่อมา

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใน WEH ของ นายณพ ณรงค์เดชนั้น ครอบครัวณรงค์เดชได้รับรู้จากข่าวที่เผยแพร่ทางสาธารณะ ทำให้ทางครอบครัวณรงค์เดชกังวลกับข่าวต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชเป็นอย่างยิ่ง

จึงเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน และขอเน้นย้ำว่า การดำเนินการใดๆของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากมีการนำชื่อของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น หรือครอบครัวณรงค์เดช ไปใช้ โดยไม่ปรากฏว่า มีสมาชิกครอบครัวณรงค์เดช อันได้แก่ ดร. เกษม ณรงค์เดช นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช อยู่ด้วย ขอให้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการแอบอ้าง โดยครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับรู้หรือให้ความยินยอมทั้งสิ้น โดยจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

ต้องรอดูกันต่อไปว่าหลังจากจดหมายร้อนฉบับนี้ถูกแจกจ่ายไปยังสื่อมวลชนทั่วไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมาชี้แจงอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทางอดีตผู้ถือหุ้น บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้เพื่อดำเนินคดีอาญากับนายณพ ณรงค์เดช และบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (KPNEH) พร้อมพวกรวม 13 ราย ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยการร่วมกันจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของ WEH เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ แม้ว่าจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องและสิทธิบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายแล้ว โดยศาลนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 20 เม.ย.61 และนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 8 พ.ค.61

อนึ่ง โจทก์ในคดีดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด (SPL) บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด (NGI) และ บริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด (DLV) ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมของ WEH เป็นโจทก์ที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ

ขณะที่จำเลยที่ 3 ถึง 13 ประกอบด้วย บุคคลในตระกูลณรงค์เดช ได้แก่ นางพอฤทัย ณรงค์เดช, นายกฤษณ์ ณรงค์เดช, นายเกษม ณรงค์เดช รวมทั้งผู้บริหารและกรรมการในบริษัทที่เกี่ยวข้องในคดี ได้แก่ นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์, นายธันว์ เหรียญสุวรรณ, บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด (KPNET), นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์, นายอมาน ลาคานี, นายสันติ ปิยะทัต, นายไพร บัวหลวง และ นายวรนิต ไชยหาญ

โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อต้นปี 58 นายณพได้เข้าเจรจาซื้อหุ้นในบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น (REC) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น KPNET ที่โจทก์ร่วมกันถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 98.94% เพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้น WEH ที่ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทที่ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมหลายโครงการในประเทศไทยในราคา 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 23,744 ล้านบาท

โดยขั้นแรกให้โอนหุ้น 49% ใน REC ให้แก่ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด (Fullerton) ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ที่มีนายณพเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว และขั้นที่ 2 ให้โอนหุ้นที่เหลืออีก 49.94% ให้แก่ KPNEH ที่มีนายณพถือหุ้นอยู่ 40% และมีจำเลยอื่น ๆ ร่วมถือหุ้นส่วนที่เหลือ

แต่ปรากฎว่าเมื่อโอนหุ้นทั้งหมดไปแล้ว ในขั้นตอนการชำระเงินงวดแรก 89.25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,027.36 ล้านบาทผู้ซื้อไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด แม้ต่อมาจะยินยอมจ่ายเงินมาราว 90.51 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,070.28 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอสำหรับค่าหุ้นงวดแรกพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระเงินล่าช้าบางส่วนตามสัญญา และยังเพิกเฉยที่จะชำระให้ครบ อีกทั้งยังได้กระทำผิดสัญญาซื้อขายหุ้นอีกหลายประการ ดังนั้น โจทก์จึงร่วมกันนำเรื่องเข้าเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการประพฤติผิดสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Fullerton และ KPNEH ต่อศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติ (ศาล ICC)

ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการฯ มีคำตัดสินชี้ขาดให้ Fullerton และ KPNEH ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งจำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ชำระเงินตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้แก่โจทก์ทั้งสาม แต่หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการฯ ทำหนังสือแจ้งให้รายงานสถานะของหุ้น KPNET เมื่อวันที่ 23 ต.ค.60 กลับพบว่ามีการโอนหุ้น WEH ที่เป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวของ KPNET ที่มีมูลค่าสูงกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐไปให้บุคคลภายนอกตั้งแต่ไตรมาส 2/59 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระเงินค่าหุ้นและได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการฯ แล้ว แต่จำเลยทั้งหมดร่วมกันหรือยินยอมให้มีการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีนายเกษม ณรงค์เดช จำเลยที่ 13 ในฐานะผู้รับโอนหุ้น WEH

การโอนหุ้น WEH ออกไปมีผลให้ Fullerton และ KPNEH ไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากพอที่จะนำมาชำระหนี้ค่าหุ้นตามสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 ยังได้ร่วมกันปกปิด ซ่อนเร้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวมิให้โจทก์ทั้งสามทราบ ด้วยการใช้อำนาจกรรมการและผู้ถือหุ้นทั้งในทางตรงและทางอ้อมของ WEH และ KPNET ดำเนินการมิให้ WEH แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของ WEH ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสามมีหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นของจำเลยทั้งหมดเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ทำให้โจทก์ทั้ง 3 ได้รับความค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 876,522,933.77 เหรียญสหรัฐ หรือ 29,731,658,521.66 บาท

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: