Robinson Transforming ความท้าทายใหม่ “โรบินสัน”
ในบรรดาห้างสรรพสินค้าที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่และถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจคงต้องมีชื่อ “โรบินสัน” ภายใต้ชายคากลุ่มเซ็นทรัล ที่ก่อกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2522 ในรูปแบบห้างสรรพสินค้า (ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์) โดยสาขาแรกคือ สาขาอนุสาวรียชัยสมรภูมิ จวบจนปัจจุบันดำเนินกิจการมากว่า 40 ปี
โรบินสัน ได้ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั่วไทย ดังมีไทม์ไลน์ดังนี้
-มกราคม พ.ศ.2535 ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในชื่อ “บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน)” หรือ “ROBINS” โดยนับเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
-ในปี 2537 ได้จับมือกับ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ
-ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)” ซึ่งนับเป็นผู้ให้บริการ “ห้างสรรพสินค้า” ที่มีจำนวนสาขามากที่สุด และมีสาขาให้บริการครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ทีมีโอกาสเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ปัจจุบัน ณ เดือน พ.ค. 2560 โรบินสันมีสาขาที่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 45 สาขา โดยมีโมเดล 2 รูปแบบ คือ รูปแบบของ “ห้างสรรพสินค้า” ภายในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และพัฒนาโครงการศูนย์การค้า ในรูปแบบที่เรียกว่า “ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ” โดยแบ่งเป็น สาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล 11 สาขา และ ต่างจังหวัด 34 สาขา
นอกจากนี้ โรบินสันได้มุ่งขยายศักยภาพสู่ต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เห็นได้จากในปี 2557 เปิดตัวห้างสรรพสินค้าภายใต้แบรนด์ “โรบินส์” (Robins) ณ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 2 สาขาด้วยกัน ณ เมืองฮานอย และนครโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคชาวเวียดนาม รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยงบลงทุนรวม 400 ล้านบาท
ล่าสุด โรบินสัน ประกาศความสำเร็จของ 4 ธุรกิจหลัก ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าในรูปแบบ ไลฟ์สไตล์ การบริหารแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ และห้างสรรพสินค้าในประเทศเวียดนาม ในปี 2559 ด้วยรายได้กว่า 30,187 ล้านบาท และกำไรสุทธิรวม 2,815 ล้านบาท พร้อมเดินหน้า “Transforming Robinson 2017” ภายใต้ชื่อใหม่ “บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)”
อลัน ทอมสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) เผยว่า จากความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนโมเดลโครงสร้างธุรกิจในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการแบ่งเป็น 4 หน่วยธุรกิจที่ชัดเจน คือ
1) ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ประกอบธุรกิจค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 26 สาขา
2) ธุรกิจศูนย์การค้า (Shopping Mall) ปัจจุบันมีศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 18 สาขาทั่วประเทศ โดยได้เริ่มพัฒนาครั้งแรกในปี 2553 ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่เต็มรูปแบบ และมีผู้เช่าเต็มพื้นที่ ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร ร้านอาหารชั้นนำ โรงภาพยนต์ ธนาคารพาณิชย์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพลย์แลนด์ สวนน้ำ ฟิตเนส เป็นต้น โดยมีแนวคิดที่จะให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน (Center ofCommunity) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “EAT-SHOP-PLAY” และล่าสุดกำลังจะเปิดสาขาที่ 19 ในชื่อ “ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี” ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 นี้
3) การบริหารแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้รับลิขสิทธิ์ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายเฉพาะในสาขาของโรบินสัน เช่น จัสท์บาย (Just Buy) , เพย์เลส ชูซอร์ส (Payless Shoe Source), เบบี้ช้อป (Babyshop) เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ (House Brand) ภายใต้คอนเซ็ปต์ เกรทแวลู (Great Value) ในแนวคิด 365 วันราคาเดียว ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้า 4 หมวด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับบ้าน, ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายบุรุษ-สตรี และผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายเด็ก และจะเปิดตัวอีก 2 หมวดสินค้าเพิ่มเติม คือ เครื่องใช้ในห้องน้ำ และเครื่องครัวและชุดโต๊ะอาหาร กว่า 400 รายการ ในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้
4) โรบินสันในต่างประเทศ โดยมีการลงทุนเปิดห้างสรรพสินค้าในเวียดนาม 2 แห่ง ที่เมืองฮานอย และเมืองโฮจิมินส์ ตั้งแต่ปี 2557
ทั้งหลายทั้งปวงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้โรบินสันมีรายได้รวม 30,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 30.7%จากปี 2558 ทั้งนี้ในปี 2560 พร้อม “Transforming Robinson 2017” ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น“บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)” โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตังแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ซึ่งมีความหลากหลาย และไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเพื่อให้รองรับกับการดำเนินธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ต้องรอดูกันว่า หลังจากเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว สมรภูมิค้าปลีกบ้านเราจะทะลุจุดเเดือดหรือไม่ ต้องติดตาม