ไม่เกรงใจเจ้าตลาด “นีโอสุกี้” จัดหนัก ดึงแบรนด์ยุโรป-มะกันเสริมทัพ
หากเอ่ยถึงสุกี้ ในใจคนไทยคงมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ติดตลาดในขณะนี้ และอยู่ในแทบทุกห้าง ในขณะที่นีโอ สุกี้ แม้จะก่อกำเนิดมา 10 กว่าปี แต่ชื่อเสียงเรียงนามต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่แทบจะยังไม่ค่อยรู้จักด้วยซ้ำ
นีโอ สุกี้ เป็นแบรนด์สินค้าที่ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัท นีโอ สุกี้ ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด เมื่อปี 2542 เพื่อให้บริการอาหารสุกี้ในรสชาติที่หลากหลาย ด้วยแนวคิดเริ่มต้นทำธุรกิจเกิดก่อนที่จะมีนีโอ สุกี้ เขาได้ไปซื้อแฟรนไชส์อินเตอร์ สุกี้ บริหารโดยกลุ่มซีพี แต่ได้เลิกกิจการไปเมื่อ 10 ปี เนื่องจากไม่สามารถดูแลให้ทั่วถึงได้ ซึ่งตอนนั้น เปิดให้บริการแฟรนไชส์ได้เพียง 2 ปี ก็เลยต้องปิดตัวไป แต่ด้วยใจรักในการให้บริการ จึงได้เปิดร้านสุกี้ ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ชื่อว่า “นีโอ สุกี้” (Neo Suki) คำว่า Neo มาจากภาษาละติน หมายถึงทางเลือกใหม่ และในตอนนั้นเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ 5 แห่ง เช่น แจ้งวัฒนะ, พระประแดง, เทพารักษ์, ประชาอุทิศ, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ปัจจุบัน จากอุณหภูมิการแข่งขันในตลาดสุกี้ที่ร้อนแรง นีโอสุกี้ อยู่ภายใต้การบริหารของเจน 2 อย่าง “ณัฐพล กัปปิยจรรยา” เอ็มดีหนุ่มนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 33 ปี แห่งอาณาจักรนีโอสุกี้ไทยเรสเทอรองส์จำกัด ที่แม้จะมีความมั่นใจแบบคนรุ่นใหม่ไฟแรง และมั่นใจในตัวเองสูงต้องพบกับบทเรียนสำคัญคือ ปิดสาขาถึง 2 สาขาในปี 2555 เนื่องจากขาดทุน จากบทเรียนราคาแพงในครั้งนี้สอนให้รู้ว่า เขาต้องรัดกุมกับธุรกิจมากขึ้นและคิดแผนสำรองไว้เสมอ
ที่ผ่านมา แม้ว่าแบรนด์ของเขาจะเริ่มเป็นที่รู้จักกันในท้องตลาดแล้ว แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นด้วยการรีแบรนด์ดิ้งปรับภาพลักษณ์ตราสินค้าให้ทันสมัย พร้อมทั้งขยายสาขาเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ
ล่าสุด นีโอสุกี้กลับมาจัดหนักในตลาดสุกี้อีกครั้งด้วยการประกาศดึงแบรนด์ยุโรป-มะกันเสริมทัพ ซึ่ง ณัฐพล กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด บอกว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดสุกี้ ในเมืองไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท ภาพรวมการเติบโตของตลาดรวมอยู่ที่ 10 % ต่อปี นีโอสุกี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสุกี้ที่เป็น alacarte เป็นอันดับสอง โดยแผนธุรกิจจะยังคงเดินหน้าลงทุนใหม่เรื่อยๆ ซึ่งในปลายปีนี้จะลงทุนเพิ่มอีก 1 สาขา ใน จ.เชียงใหม่ รวมสาขาทั้งสิ้นภายในสิ้นปี 21 สาขา นอกจากนี้ยังขายแฟรนส์ไชส์ให้กับอินโดนีเซีย และเวียดนาม อีก 2 สาขา โดยเฉพาะตลาดเวียดนามยอดขายดีมาก เพราะตั้งอยู่ใกล้แหล่งนิคมอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมานีโอสุกี้ได้เปิดตัวใหม่ 2 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์กังฟู และซุนวู โดยวางแผน 5 ปี นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันปีนี้ได้เตรียมเงินลงทุนทั้งสิ้น 150 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนตั้งโรงงานในจ.นนทบุรี มูลค่า 50 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากที่โรงงานพระราม 3 มีกำลังการผลิตจำกัด ไม่เพียงพอต่อการขยายตัว พร้อมทั้งมีแผนนำเข้าแบรนด์ใหม่มาเสริมอีกประมาณ 2 แบรนด์ รวมเป็น 5 แบรนด์ โดยเน้นแบรนด์ที่มาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา เน้นอาหารที่รับประทานง่าย เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่
สำหรับจุดแข็ง นีโอสุกี้ ยังคงเน้นด้านคุณภาพเพื่อต่อสู้กับคู่แข่ง จะไม่เน้นการแข่งขันเรื่องของราคา ส่วนการวางตำแหน่งสินค้าของนีโอสุกี้ คือ สุกี้ โฮมเมด คัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดมาเพื่อผู้บริโภค โดยมองว่าเทรนด์ในอนาคต กระแสบุฟเฟ่ต์ จะลดลง แต่แบรนด์ที่ทำบุพเฟ่ต์จะอยู่ได้ต้องเป็นแบรนด์ที่เน้นตลาดบน ส่วนตลาดกลาง-ล่าง แข่งขันลำบาก และอาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กปิดตัวลง
อย่างไรก็ตามการแข่งขันในตลาดจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจะปรับตัวด้วยการรักษาคุณภาพให้ดี รักษาฐานลูกค้าเดิมให้ได้ โดยมั่นใจว่าธุรกิจจะเติบโต 12-15% หรือมีรายได้ 370-400 ล้านบาท โดยปัจจัยบวกที่ทำให้เติบโต คือ การขยายสาขา และเทรนด์คนรักสุขภาพยังคงแรงต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่กระจายตัว เช่นการส่งออกที่เติบโตเฉพาะกลุ่ม อุตสาหกรรม ทำให้เงินไม่กระจายมาถึงระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังต้องรอท่าทีทางการเมือง หากมีการเลือกตั้งนักลงทุนจะเข้ามาไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงาน และมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น
นั่นคือการเดินเกมล่าสุดของค่ายผู้ตามอย่างนีโอสุกี้ที่รู้ทั้งรู้ว่าแม้จะยังห่างชั้นผู้นำตลาดหลายขุม แต่ก็สวมหัวใจสิงห์ ไม่ยอมแพ้ ขอมีเวทีสำหรับตัวเอง