เปิดเบื้องหลัง NPPG คว้าแฟรนไชส์ “ดีน แอนด์ เดลูก้า”
วงการร้านอาหารวันนี้ต้องสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อรายงานข่าวจากบมจ.เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) หรือ NPPG ผู้บริหารร้านอาหาร A&W, MIYABI ได้สิทธิในการให้บริการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของแบรนด์ “DEAN & DELUCA”เป็นเวลา 10 ปี ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งท่ามกลางการแขง่ขันอย่างรุนแรงของธุรกิจด้านอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม ซึ่งทาง NPPG มีแผนในการขยายสาขาเพิ่มขึ้นในอนาคต และจะทำให้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าธุรกิจอาหารของ NPPG จะเติบโตเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว จากปัจจุบันที่มีรายได้ 600-700 ล้านบาท
ทั้งนี้ เอ็นพีพีจี จะได้สิทธิภายใต้สัญญา คือ การได้มาซึ่งสิทธิแฟรนไชส์ (Franchise) แต่เพียงผู้เดียว (Exclusiveright) ในการเปิด และดำเนินกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ดีน แอนด์ เดลูก้า (Dean & DeLuca Cafés และ Dean & DeLuca Markets)รวมถึงการให้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Sub-franchising) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ดีน แอนด์ เดลูก้า (Dean & DeLuca Cafés และ Dean & DeLuca Markets) แก่บุคคลภายนอก เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยสามารถต่ออายุสัญญาได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา
ปัจจุบัน ดีน แอนด์ เดลูก้า มีสาขาในไทย 11 แห่งตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน
สำหรับความเป็นมาของ DEAN & DELUCA ในไทยนั้น ก่อนหน้านี้ตกเป็นสิทธิของเพซ ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมืองไทยได้เข้าซื้อกิจการ DEAN & DELUCA ซึ่งเพซ ได้ทำสัญญาเพื่อเข้าซื้อกิจการแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า ทั่วโลก เมื่อปีเดือนธันวาคม 2557 ด้วยมูลค่า 4,550 ล้านบาท มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ คูเวต บาห์เรน ฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเก๊า ส่วนที่ไทยมี 11 สาขา
การซื้อกิจการในครั้งนี้ทางเพซหวังว่า จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของ เพซ ในฐานะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูสระดับไฮเอนด์ และเพิ่มโอกาสการขยายตัวของธุรกิจไปในระดับโลกผ่านแบรนด์ที่โดดเด่นอย่าง ดีน แอนด์ เดลูก้า
ดีน แอนด์ เดลูก้า ก่อตั้งขึ้นในนิวยอร์คเมื่อปี 1977 โดยเชฟสองท่าน โดยแบรนด์กูร์เม่ต์ระดับโลกนี้เน้นให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการปรุงอาหารที่หายากจากแหล่งต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความต้องการที่จะแบ่งปันอาหารและเครื่องปรุงที่มีรสชาติและคุณภาพดีที่สุดแก่ลูกค้า ถือเป็นก้าวสำคัญของการขยายธุรกิจจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยสู่ธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่มเต็มตัวในวันนั้น ซึ่ง “เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ” หมายมั่นปั้มมือ“ดีน แอนด์ เดลูก้า”จะกลายเป็นอีกรายได้หลักสำคัญของเพซ
ในวันนั้น คีย์แมน “เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ” วางเป้าหมายเปิด “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ครอบคลุม 300 สาขาในปี 2562
หลังจากที่เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่นได้ทำการซื้อแบรนด์ดีน แอนด์ เดลูก้า เป็นเวลา 1 ปีครึ่งพบว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีการเติบโตสูง และมีรายได้ที่คงที่ จึงมีแผนที่จะขยายสาขาในประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 300 สาขา ภายในปี 2563 เพื่อดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2563 เพซฯ จะมีรายได้ราว 30,000 ล้านบาท และเป็นรายได้จากดีนแอนด์เดลูก้า 50-70% หรือราว 15,000 ล้านบาท และเป็นรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 10,000 ล้านบาท และธุรกิจโรงแรม 5,000 ล้านบาท นั่นคือฝันของเพซฯ
แต่แล้วมรสุมลูกใหญ่ก็ถาโถม เมื่อ ปีที่ผ่านมา เพซฯ ลงทุนมหาศาลทั้งโครงการมหานคร 77 ชั้น มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท โครงการมหาสมุทร คันทรี่คลับ หัวหิน มูลค่า 2,300 ล้านบาท และซื้อสิทธิ์ในแบรนด์ของดีน แอนด์ เดลูก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จากสหรัฐ ดำเนินธุรกิจคาเฟ่ ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจอสังหาฯในรูปแบบใหม่เชิงไลฟ์สไตล์
เพซ มีผลประกอบการรายได้ 1,234 ล้านบาท ขาดทุนในในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา 4,087 ล้านบาท มีธุรกิจหลักคืออสังหาริมทรัพย์ ที่เคยลงทุนโครงการขนาดใหญ่ คือตึกสูงที่สุดอย่างโครงการมหานคร แต่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเพิ่งขายให้กลุ่มคิง เพาเวอร์มูลค่า 14,000 ล้านบาท
เพซ ตกอยู่ในฐานะที่นั่งลำบาก จำนวนหนี้สินมหาศาลที่ต้องแบกรับ จึงอาจกลายเป็นที่มาของการตัดใจขายสิทธิในการดูแล ดีน แอนด์ เดลูก้า ให้กับ เอ็นพีพีจีในที่สุด