ส.ผู้ค้าปลีกจี้รัฐผลักดันไทยเป็นช้อปปิ้งเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยว
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่หวือหวา พร้อมเสนอรัฐบาลในด้านดิวตี้ฟรี , ดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ฟอทัวร์ริส รวมทั้งผลักดันนโยบาย “ดิวตี้ฟรี ซิตี้” ให้ประเทศไทยเป็นช้อปปิ้งเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยว
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในปี 2017 โดยมีร้านค้าปลีกรูปแบบ Hypermart/Superstore (ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์สโตร์) เพิ่มขึ้น 37 แห่ง, Supermarket (ซูเปอร์มาร์เก็ต) 47 แห่ง, Convenience Store (ร้านสะดวกซื้อ) 1,104 แห่ง, Department Store (ห้างสรรพสินค้า) 4 แห่ง, Home Improvement & Construction (สินค้าตกแต่งซ่อมแซมบ้าน และ การก่อสร้าง) 16 แห่ง, Consumer Electronic and Appliance (เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) 65 แห่ง และ Health&Beauty Store (สุขภาพและความงาม) 211 แห่ง
ด้านการลงทุนในภาคค้าปลีกก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยอดเม็ดเงินการลงทุนจากปี 2015-2017 อยู่ที่ 130,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 43,400 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมากและสูงกว่าการก่อสร้าง BTS (123,300 ล้านบาท) หรือการประมูลคลื่น 4G 900 MHz (76,000 ล้านบาท) ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 210,000 คนต่อปี และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 150,000 คน
ทั้งนี้สถานการณ์ภาพรวมครึ่งปีแรกของภาคธุรกิจค้าปลีก มีทิศทางดังนี้
1. จากดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แสดงให้เห็นว่า ยอดค้าปลีกในครึ่งปีแรกค่อนข้างคงที่ในทุกหมวดสินค้า แต่ GDP ของประเทศมีการเติบโต ทั้งนี้ GDP ทั้งประเทศในสิ้นปี 2017 เติบโต ร้อยละ 3.9 และไตรมาสแรกของปี 2018 เติบโตถึงร้อยละ 4.9
ดัชนีค้าปลีกจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2018
2.การเติบโตของ GDP ประเทศ เป็นผลมาจากการเติบโตของภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่เมื่อไปดูในหมวดการบริโภคเติบโตเพียงร้อยละ 3.2 โดยในปี 2017 เติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2016 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการบริโภคมีทิศทางเดียวกับดัชนีค้าปลีกซึ่งเติบโตจาก ร้อยละ 3.2 ในปี 2017 มาเป็นร้อยละ 3.3 ในครึ่งปีแรก 2018
3. ครึ่งปีแรกภาคค้าปลีกทรงตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ขณะเดียวกันก็ยังเป็นลักษณะกระจุกตัวที่เฉพาะในกรุงเทพและหัวเมืองหลักๆของการท่องเที่ยว ส่วนสาขาที่อยู่ในต่างจังหวัด การเติบโตของกำลังซื้อค่อนข้างอ่อนตัว เนื่องจากสัดส่วนสาขาในกรุงเทพปริมณฑลมีสัดส่วนเพียง 30% ในขณะที่สาขาส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดถึง 70% ทำให้ดัชนีในไตรมาสที่สองโดยรวมทรงตัว สะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อในต่างจังหวัด(ยกเว้นกรุงเทพและหัวเมืองหลักๆของการท่องเที่ยว) ยังไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะจังหวัดที่รายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรม ประกอบกับปีนี้ฤดูฝนมาก่อนกำหนดฤดูกาล ส่งผลให้ผลผลิตและราคาสินค้าภาคเกษตรครึ่งปีแรกจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
4. หมวดสินค้าคงทนถาวร (Durable Goods) หมวดสินค้านี้สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักๆ
1) เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 3 A (Appliance เครื่องใช้, Air Condition เครื่องปรับอากาศ, Audio Television โทรทัศน์)
2) หมวดสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ 3C (Camera กล้อง , Computer คอมพิวเตอร์, Cellular Phone หรือ Smart Phon โทรศัพท์มือถือ)
3) หมวดสินค้าวัสดุก่อสร้าง
โดยภาพรวม ครึ่งปีแรกมีการเติบโตในอัตราค่อนข้างน้อย ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปี 2017 เติบโตที่ร้อยละ 2.0 หมวดอิเล็คทรอนิกส์ เช่น กล้องถ่ายภาพ และสมาร์ทโฟน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 40% ของหมวดสินค้าคงทนทรงตัว ส่วนหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านนั้นทรงตัว เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนค่อนข้างสั้น และฤดูฝนก็เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ ส่วนหมวดสินค้าวัสดุก่อสร้างค่อยๆฟื้นตัว จากการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง
5. หมวดสินค้ากึ่งคงทน Semi Durable Goods หมวดสินค้าประกอบด้วยสามกลุ่มใหญ่ คือ
1) กลุ่มสินค้าแฟชั่นสินค้าเครื่องสำอางและเครื่องหนัง
2) กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ที่เรียกว่า small domestic
appliance
3) กลุ่มสินค้าอุปกรณ์และแฟชั่นกีฬา
5.1 กลุ่มสินค้า Small Domestic Appliance เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตที่ค่อนข้างชัดเจนจากเทศกาลช้อปปิ้งในช่วงต้นปีและจากโปรโมชั่น ส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในหมวดสินค้าคงทนถาวรที่เติบโตแบบทรงตัว
5.2 กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอางเครื่องหนัง เติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 10% ซึ่งปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้ากลุ่มสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
5.3 กลุ่มสินค้าอุปกรณ์กีฬาและแฟชั่นกีฬา มีการเติบโตมากเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอางเครื่องหนัง ด้วยอานิสงส์จากโปรแกรมฟุตบอลโลก ในช่วงมิถุนายน
6. หมวดสินค้าประเภทไม่คงทน – Non Durable Goods
หมวดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยนับจากปีที่แล้วต่อเนื่องถึงครึ่งปีแรกของปีนี้แต่ก็ยังไม่ส่งผลต่อการเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีกเท่าที่ควร ทั้งนี้เป็นผลมาจากการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มต่างจังหวัดยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เม็ดเงินงบประมาณที่จะไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศจึงยังไม่เข้าเป้าชัดเจน โดยยังคงกระจุกตัวในตัวเมืองใหญ่ การบริโภคในจังหวัดรองๆ ยังไม่ดีนัก แม้ว่าการกระตุ้นการบริโภคฐานรากผ่านนโยบายบัตรคนจน ทำให้ร้านค้าที่รับบัตรคนจนได้รับอนิสงค์อย่างชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบแก่ร้านค้าที่ไม่ได้สิทธิรับบัตร ซึ่งดูเหมือนว่า เม็ดเงินก้อนนี้ไม่สามารถไปกระตุ้นตลาดให้ขยายตัวตามที่ภาครัฐคาดหวัง โดยรวมดัชนีการเติบโตในหมวดนี้ยังคงพยุงตัวไว้ได้ ร้อยละ 3.1 เท่ากับดัชนีการเติบโตในปี 2017
การคาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีกครึ่งปีหลัง 2018
ครึ่งหลังของปี 2018 อุตสาหกรรมภาคค้าปลีก น่าจะยังทรงตัวในไตรมาสที่สาม และดีดตัวขึ้นไปในไตรมาสที่สี่ตามวัฎจักรของการจับจ่าย แม้ภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในปีนี้ แต่ผลจากการลงทุนนี้จะส่งผลมายังภาคค้าปลีกต้องใช้เวลา 6-8 เดือน หวังไว้ว่านโยบายและงบประมาณที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวไปยังจังหวัดรองๆไม่มาเติบโตกระจุกตัวในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2018 น่าจะดีกว่า ปี 2017 เล็กน้อย คาดว่า การเติบโตน่าจะอยู่ราว 3.3-3.5% แต่ก็ยังน้อยกว่า GDP ทั้งประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตราว 4.5%
ข้อเสนอแนะจากสมาคมผู้เค้าปลีกไทยต่อภาครัฐ 6 ข้อ มีดังนี้
1. ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ แต่การเป็นจุดหมายของการจับจ่ายใช้สอยสินค้า (Shopping Destination) ยังไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกมาประเทศไทย สมาคมฯเสนอให้ภาครัฐผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination ของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง สร้างให้การช้อปปิ้งเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย
2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ภาครัฐจะต้องพิจารณาการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองให้มากขึ้น และการพิจารณาประมูลร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินตามประเภทกลุ่มสินค้า ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อ สินค้าและยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีการใช้จ่ายในประเทศให้มากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆอาทิ โรงแรม ที่พัก สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้าน จำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น
3. ภาครัฐจะต้องเร่งรัดโครงการ Downtown VAT Refund For Tourist โดยเร็ว เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการได้รับคืนภาษีทันทีเมื่อซื้อสินค้า และเมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืนเงินภาษี นักท่องเที่ยวก็สามารถนำเงินนั้นมาซื้อสินค้าและบริการด้วยเงินสด ซึ่งหมายความว่าเงินนั้นจะถึงผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก มีโอกาสได้ประโยชน์จากเงินคืนภาษีของชาวต่างชาติมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยลดภาระของกรมสรรพากรในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว
4. รัฐต้องสร้างกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในแนวทางใหม่และหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพภายใต้สังคมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เม็ดเงินในการจับจ่ายสู่ภูมิภาคและจังหวัดรอง
5. ในด้านการค้าชายแดน ภาครัฐต้องผลักดันและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคค้าปลีก ค้าส่งสามารถขยายสาขาในบริเวณพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นฐานในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค และ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายในประเทศไทย
6. ปัจจุบันกลุ่มค้าปลีกมีความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานรายชั่วโมงที่ไม่สามารถจ้างได้เพียงพอ และในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลหลังเกษียณ ที่ไม่มีรายได้แต่ยังมีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา 8 ชั่วโมง จึงเหมาะสมที่จะจ้างกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นรายชั่วโมง ภาครัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้มีการออกกฎระเบียบประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สามารถจ้างงานบุคคลกลุ่มดังกล่าวได้