รู้ยัง ปี 2560 เบนซ์/มาสด้า/ฟอร์ด / ฮอนด้า ขายกี่คัน ???
ปิดปี 2560 อย่างเอกเกริกสำหรับธุรกิจยานยนต์เมืองไทยที่ต่างพากันกวาดยอดขายถล่มถลายเช่นเคย สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจบ้านเราอย่างสิ้นเชิง สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งความนิยมในการใช้รถส่วนตัวมากกว่าพึ่งพาขนส่งสาธารณะทั่วไป แม้ว่าจะสภาพการจราจรโดยเฉพาะในเมืองกรุงจะไม่เป็นใจก็ตาม
เริ่มกันท่ี่ค่ายรถหรูราคาแพงอย่าง บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยความสำเร็จของผลประกอบการปี 2560 ด้วยยอดจำหน่ายรวมรถยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14,484 คัน ครองความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งกลุ่มตลาดรถยนต์หรูระดับพรีเมี่ยมเป็นปีที่ 17 ติดต่อกัน พร้อมประกาศทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2561 ประเดิมไตรมาสแรกด้วยการเสริมแกร่งกลุ่มรถยนต์สมรรถนะสูง ผ่านการแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถยนต์แบรนด์เมอร์เซเดส-เอเอ็มจีอย่างเป็นทางการกว่า 11 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งเตรียมขนทัพยนตรกรรมรุ่นใหม่มากกว่า 10 รุ่น ครบครันในทุกเซ็กเมนต์ทั้ง Compact Car, Contemporary Luxury Sedan, Dream Car และ SUV มาร่วมสร้างสีสันให้กับตลาดรถยนต์หรูตลอดทั้งปี
มร.ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2560 ถือเป็นอีกหนึ่งปีประวัติศาสตร์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ทั่วโลก ด้วยยอดจำหน่ายรถยนต์สูงถึง 2,289,344 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็น 9.9% (2559: 2,083,888 คัน) โดยความสำเร็จมาจากรถยนต์ตระกูล SUV ที่มียอดขายกว่า 800,000 คัน หรือเท่ากับ 14% ของจำนวนทั้งหมด นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของแบรนด์ Mercedes-AMG ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แบรนด์นี้ได้สร้างสถิติใหม่ด้วยยอดขายสูงสุดเป็นครั้งแรก กว่า 130,000 คัน ซึ่งโตขึ้นกว่าปี 2016 ถึง 33% สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ กว่า 875,250 คัน ได้ถูกส่งมอบให้แก่ลูกค้าในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 19.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับในประเทศไทย บริษัทฯ ยังคงครองความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งตลาดรถยนต์หรูเป็นปีที่ 17 ติดต่อกัน ด้วยยอดขายรวมรถยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14,484 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 23% โดยมียอดขายในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 1,764 คัน เติบโต 26% (ธันวาคม 2559: 1,401 คัน) และยอดขายในไตรมาสที่สี่อยู่ที่ 3,672 คัน
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 ยังคงสานต่อกลยุทธ์ ‘The Best’ เพื่อมอบ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ให้กับลูกค้าทั้งในวันนี้ และวันข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ จะยังคงให้ความสำคัญกับทั้ง 4 แบรนด์ที่ทำการตลาดอยู่ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด ในขณะที่ในด้านการให้บริการ ยังคงเน้นขยายการให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น โดยประเดิมไตรมาสแรกด้วยการประกาศแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถยนต์แบรนด์ Mercedes-AMG อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 11 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้า Mercedes-AMG โดยเฉพาะ
มร.ฟรังค์ ชไตน์อัคเคอร์ รองประธานบริหารฝ่ายขาย และการตลาด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในด้านผลิตภัณฑ์ เราได้เตรียมพร้อมนำยนตรกรรมที่ดีที่สุดมากกว่า 10 รุ่น ครอบคลุมทั้งกลุ่ม Compact Car, Contemporary Luxury Sedan, Dream Car และ SUV มาเปิดตัวในปีนี้ พร้อมเตรียมรุกตลาดรถยนต์สมรรถนะสูงอย่างเต็มที่ โดยมีแบรนด์ Mercedes-AMG เป็นแบรนด์ไฮไลท์ ซึ่งในไตรมาสแรกเราจะทำการเปิดตัวยนตรกรรมแบรนด์ Mercedes-AMG รุ่นใหม่ อย่าง C 43 Coupé LOCAL PRODUCTION รวมถึงเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าทุกท่านที่ซื้อรถยนต์กลุ่มนี้ ด้วยการเปิดตัวผู้แทนจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ Mercedes-AMG อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้นำอันดับหนึ่ง ด้านยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ EQ-Electric Intelligence by Mercedes-Benz ด้วยการขยายจุดติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Charging Station) อีกกว่า 80 จุดภายในปีนี้ ซึ่งปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 113 แห่ง ครอบคลุมทั้งผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้ง 32 แห่งทั่วประเทศ โรงแรมพันธมิตร และศูนย์การค้าชั้นนำ อาทิ สยามเซ็นเตอร์, เซ็นทรัล เวิลด์, พาราไดซ์ พาร์ค
ในขณะที่ด้านการสื่อสารแบรนด์ บริษัทฯ จะสานต่อกลยุทธ์ “Best Customer Experience” ที่เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงโดยเฉพาะ ผ่านโกลบอลแพลทฟอร์ม ‘ชี’ส เมอร์เซเดส’ (She’s Mercedes) ด้วยการจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบตลอดทั้งปีเพื่อขยายเครือข่ายของผู้หญิง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงได้ค้นหาความเป็นตัวเอง อีกทั้งกิจกรรมเพื่อบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) โดยเตรียมมอบกิจกรรมสุดพิเศษที่จะสร้างประสบการณ์ชั้นเลิศเพื่อแทนคำขอบคุณแก่ลูกค้า และสมาชิก MercedesCard ทุกท่าน และในส่วนของกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ยังคงสานต่อการสนับสนุนด้านการศึกษากับโรงเรียนเยาววิทย์ จ.พังงา และสำหรับช่องทางการสื่อสาร บริษัทฯ ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ดังนั้นจะให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากที่สุด เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการติดตาม ค้นหาข้อมูลข่าวสารจากทางแบรนด์ โดยในปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ มียอดผู้ติดตามในเฟสบุ๊คกว่า 681,242 คน และในอินสตราแกรมกว่า 98,000 คน
ต่อกันที่ค่ายมาสด้าที่กำลังมาแรง โดย “ชาญชัย ตระการอุดมสุข” ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวและปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีของฐานรายได้จากการส่งออก การลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น, การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตในภาคเกษตรและการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกร รายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นรวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ยอดขายอุตสาหกรรมรถยนต์ไว้เกิน 800,000 คัน และขยับมาที่ 840,000 คัน แต่สามารถขายได้จริงประมาณการณ์อยู่ที่ 870,000 คัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้สูงถึง 13% เปรียบเทียบกับตัวเลขยอดรวมเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 768,788 คัน สำหรับมาสด้ามียอดขายเติบโตสูงถึง 51,355 คัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 21% และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 5.9% โดยยอดขายในแต่ละรุ่นประจำปี 2560 มีดังนี้
All New Mazda2 จำนวน 31,760 คัน เพิ่มขึ้น 37%
All New Mazda3 จำนวน 4,979 คัน เพิ่มขึ้น 21%
All New Mazda CX-5 จำนวน 4,835 คัน เพิ่มขึ้น 46%
All New Mazda CX-3 จำนวน 3,812 คัน ลดลง 20%
New Mazda BT-50 PRO จำนวน 5,939 คัน ลดลง 16%
Mazda MX-5 จำนวน 30 คัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
มาสด้าประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2561 ว่ามีแนวโน้มและทิศทางที่สดใส จะเห็นได้จากงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปที่ผ่านมา แต่ละค่ายมียอดจองที่เพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงในส่วนของมาสด้าเอง ซึ่งยอดจองที่สูงขึ้นนั้นได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยบวกหลายๆ ด้านที่เกิดขึ้นในประเทศ เช่น เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา ถึงแม้ว่าในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยจะมีความผันผวน โดยเฉพาะจากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการรถคันแรกเมื่อปี 2554-2555 ซึ่งกำลังจะทยอยพ้นกำหนดห้ามซื้อขาย ตามเงื่อนไขของโครงการฯ ตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งมีผลส่งให้ในช่วงปี 2560-2562 เกิดความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ รวมไปถึงการที่ค่ายรถแต่ละค่ายต่างเริ่มทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ตลงสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศได้ส่วนหนึ่ง
พร้อมกันนี้ มาสด้าได้คาดการณ์ในปี 2561 ว่ายอดขายรวมของตลาดรถยนต์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% หรือมากกว่า 920,000 คัน สำหรับมาสด้ามองว่ายอดขายปีนี้จะเพิ่มสูงกว่า 60,000 คัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 6% โดยปีนี้จะเน้นการบริการทั้งก่อนและหลังการขายด้วยการเสริมศักยภาพของทีมงาน รวมถึงการแนะนำรถใหม่เข้าสู่ตลาดอีก 4 รุ่น ควบคู่ไปกับกลยุทธ์การสื่อสารที่ฝ่ายการตลาดได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น
ส่วนฟอร์ด ประเทศไทย ประกาศผลประกอบการประจำปี 2560 เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์จากปีก่อนหน้า 37% ด้วยยอดขายรถยนต์รวมทั้งสิ้น 56,156 คัน โดยเป็นผลมาจากความต้องการอย่างล้นหลามของผู้บริโภคที่มีต่อรถกระบะสายพันธุ์แกร่ง ฟอร์ด เรนเจอร์ รถเอสยูวีขนาดกลาง ฟอร์ด เอเวอเรสต์ และรถเอสยูวีขนาดเล็ก ฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต
ผลประกอบการอันแข็งแกร่งในปี 2560 ได้ส่งผลให้ฟอร์ดเติบโตสวนทางกับตลาดรถยนต์ไทยเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.1% เป็น 6.4 % ในปี 2560
กระบะสายพันธุ์แกร่ง เรนเจอร์ ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรถยนต์ในเซ็กเมนต์เดียวกัน โดยมียอดขายตลอดปี 2560 เพิ่มขึ้น 44.5% คิดเป็นจำนวน 44,452 คัน โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ฟอร์ด เรนเจอร์มียอดขายโดยรวมที่เติบโตสวนทางกับตลาดรถกระบะมากกว่า 3 เท่า ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 98% ด้วยจำนวน 13,338 คัน
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของฟอร์ด เรนเจอร์ ในปีนี้ ช่วยให้ฟอร์ดสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น 3 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็น 12.2% ในปีนี้ และยังคงสามารถครองตำแหน่งรถกระบะที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประเทศไทยท่ามกลางตลาดรถกระบะที่มีการแข่งขันสูง
ในประเทศไทย ฟอร์ด เรนเจอร์ มีจำหน่ายทั้งหมด 24 รุ่น ซึ่งรวมถึง รุ่น ไวล์ดแทรค FX4 XLT ไปจนถึงรุ่น XL และ XLS โดยความหลากหลายของรุ่นรถเหล่านี้ทำให้ฟอร์ด เรนเจอร์ สามารถตอบสนองความต้องการด้านการใช้งานและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม
ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นรถเอสยูวีขนาดกลาง มียอดขายที่เพิ่มขึ้นในปี 2560 คิดเป็น 15.5๔ gมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ด้วยยอดขายจำนวน 8,212 คัน ฟอร์ด เอเวอเรสต์ สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในเซ็กเมนต์รถเอสยูวีขนาดกลางอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยเพิ่มขึ้น 2.1%จากปีที่แล้ว เป็น 13.8%
ฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต รถเอสยูวีขนาดเล็ก มียอดขายตลอดปี 2560 เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อนหน้า ด้วยยอดขายจำนวน 2,919 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.4% เป็น 9.8%
ขณะที่ค่าย ฮอนด้า โดยบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดรถยนต์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วยอัตราการเติบโตประมาณ 13% นับเป็นอัตราการเติบโตที่เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในปี 2560 มีอัตราการเติบโตสูงถึง 19% เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งเป็นผลจากกระแสตอบรับที่ดีต่อยนตรกรรมรุ่นใหม่ที่ได้ทำการเปิดตัวทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่ ซิตี้, ซีวิค แฮทช์แบ็ค, ซีอาร์-วี, แจ๊ซ และโมบิลิโอ ประกอบกับความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ทำให้ฮอนด้ายังคงรักษาอันดับหนึ่งตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของประเทศไทยได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
ฮอนด้า ครองอันดับหนึ่งในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของประเทศไทยปี 2560 ด้วยยอดจำหน่ายสะสมสูงสุด (มกราคม-ธันวาคม 2560) จำนวนทั้งสิ้น 127,768 คัน (นับรวมฮอนด้า บีอาร์-วี เอชอาร์-วี และซีอาร์-วี) ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 32.2% ที่สำคัญ ยังมียอดขายสะสมเป็นอันดับหนึ่งใน 3 เซกเมนต์หลัก ได้แก่ เซกเมนต์ซับคอมแพคท์ มีส่วนแบ่งการตลาด 49.4% ยอดจำหน่ายรวม 58,315 คัน (ซิตี้ 34,955 คัน และแจ๊ซ 23,360 คัน) เซกเมนต์คอมแพคท์ มีส่วนแบ่งการตลาด 50.9% ยอดจำหน่ายรวม 27,448 คัน (ซีวิค 24,432 คัน และซีวิค แฮทช์แบ็ก 3,016 คัน) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซกเมนต์เอสยูวี มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 61.2% ยอดจำหน่ายรวม 32,690 คัน (เอชอาร์-วี 15,371 คัน, ซีอาร์-วี 11,232 คัน และบีอาร์-วี 6,087 คัน) ซึ่งรถยนต์ฮอนด้าที่ขายดีที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2560 ได้แก่ ซิตี้, ซีวิค, แจ๊ซ, เอชอาร์-วี และซีอาร์-วี
นอกจากความสำเร็จด้านยอดขายข้างต้นแล้ว ในปี 2560 ที่ผ่านมา ฮอนด้ายังได้รับรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม (TAQA – Thailand Automotive Quality Award) ด้านภาพลักษณ์ดีเด่นประเภทยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ (Trusted Brand) 6 ปีติดต่อกัน (ตั้งแต่ปี 2555 – 2560)
*ยอดจำหน่ายสะสมตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเดือนมกราคม – ธันวาคม 2560 มีจำนวนรวมประมาณ 399,000 คัน เติบโตประมาณ 21% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 (328,053 คัน) ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในตลาดรวมมีจำนวนรวมประมาณ 870,000 คัน เติบโตประมาณ 13% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 (768,788 คัน)
(ข้อมูลยอดจำหน่ายสะสมของตลาดรถยนต์ปี 2560 ประมาณการณ์โดยรวมการคาดการณ์ยอดขายของรถยนต์บางค่าย)
เห็นยอดขายรถยนต์ทุกค่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบนี้แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย แค่แอบคิดเล่นๆ ว่า ช่างสวนทางกับเงินในกระเป๋าเราเสียนี่กระไร