ผ่าอาณาจักรค้าปลีกเจ้าพ่อเบียร์ช้าง
ผ่าอาณาจักรค้าปลีก เจริญ สิริวัฒนภักดี แพลตฟอร์มศูนย์การค้า segmentation marketing
นาทีนี้คงไม่มีใครในแวดวงธุรกิจที่ไม่รู้จัก ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่าเจ้าพ่อน้ำเมาเจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ มหาเศรษฐีผู้ทุ่มซื้อทุกธุรกิจเมื่อมีโอกาส เช่นเดียวกับการกว้านซื้อที่ดิน จนมีคำเปรียบเปรยที่ว่า ‘หากขึ้นเครื่องบินแล้วโยนเหรียญลงมา 3 เหรียญ จะต้องมีอย่างน้อย 1 เหรียญที่ตกลงบนที่ดินของเสี่ยเจริญ’
แม้จะมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ มานานกว่า 30 ปี แต่ดูเหมือนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญของกลุ่มทีซีซี แลนด์ จะเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งมีก้าวสำคัญก้าวแรกคือ การจัดตั้งบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ (TCC Land Asset World) ขึ้นมารับผิดชอบ 2 สายธุรกิจอสังหาฯ ที่จะเป็น ‘เรือธง (Flagship)’ ของกลุ่มทีซีซี แลนด์ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก (ภายใต้ชื่อ TCC Land Asset World Estate) และธุรกิจโรงแรม (ภายใต้ชื่อ TCC Land Asset World Leisure)
ก้าวแรกในสายธุรกิจศูนย์การค้าของเสี่ยเจริญเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 ด้วยการเป็นผู้บุกเบิกศูนย์การค้าไอทีต้นแบบแห่งแรกของไทย ที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า (ประตูน้ำ)’ จากนั้นปี 2555 ทีซีซี แลนด์ เปิดตัว โครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ริมฝั่งเจ้าพระยา ศูนย์การค้าท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จากนั้นก็มีการเปิดตัวแบรนด์ศูนย์การค้าอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ทีซีซี แลนด์ แอสเสท ประกอบด้วยแบรนด์ศูนย์การค้าทั้งหมด 5 แบรนด์ ได้แก่ เอเชียทีคฯ, เกตเวย์ เอกมัย, เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์, พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ซึ่งมีทั้งที่ประตูน้ำ งามวงศ์วาน บางกะปิ และเชียงใหม่ และบ็อกซ์ สเปซ รัชโยธิน มูลค่าทุกโครงการรวมทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท และปีนี้ ใช้งบ 2,200 ล้านบาทรีโนเวตศูนย์การค้าทั้งหมด
ขณะที่แผนการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าระหว่างปี 2560-2564 ทีซีซี แลนด์ แอสเสท ยังคงลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ในเขต กทม. และเมืองโดยรอบภายใต้ 5 แบรนด์ที่มีอยู่ โดยคาดว่าจะมีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 9-10 โครงการ ภายใต้งบลงทุน 20,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายระยะยาวใน 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจค้าปลีกของทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จะมีประมาณ 29 โครงการ โดยจะมีทั้งการขยายสาขาของแบรนด์เดิม เช่น เอเชียทีคที่จะไปเปิดในหัวเมืองท่องเที่ยวและเปิดสาขาในต่างประเทศ อีกทั้งยังจะมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่และโมเดลศูนย์การค้าแบบใหม่ๆ

ดูเหมือนจิกซอว์กลุ่มทีซีซีแลนด์ ปรากฏภาพชัดขึ้นเมื่อประกาศทุ่มงบลงทุนก่้อนโตกว่า 20,000 ล้านผุดศูนย์การค้าแบรนด์ใหม่และโครงการทำเลใหม่ตามแผนโรดแมป 3-5 ปีที่เคยประกาศไว้ โดย “ณภัทร เจริญกุล” กรรมการผู้จัดการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซีแลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด บอกว่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาทของ ทีซีซีแลนด์ แอสเสท เวิรด์ ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ให้แก่วงการธุรกิจรีเทลในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มศูนย์การค้าที่หลากหลายแบรนด์ขึ้นเพ ื่อเติมเต็มความต้องการของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันที่ต้องการแสวงหาความแตกต่าง พร้อมตอบโจทย์ความต้องการได้โดยตรง จึงทำให้เกิด segmentation marketing ที่เน้นทำตลาดแบบเจาะกลุ่ม และเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็น “The Most Diversify Developer” ในที่สุด
ไฮไลท์จะเกิดประมาณไตรมาส 1 ปี 2561 ทีซีซีแลนด์จะเปิดตัวศูนย์การค้าแบรนด์ใหม่ ‘อเวนิว (Avenue)’โดยสาขาแรกจะพัฒนาในย่านซอยลาซาล ที่มีทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านอาหาร และบริการที่เข้าถึงได้ง่าย โดยหนึ่งไฮไลท์ของศูนย์ฯ คือการเปิดตัวร้านยูนิโคล่ โรดไซท์ (Uniqlo Road Site)แห่งแรกๆ ในไทย และวางแผนจะขยายการพัฒนาศูนย์การค้าภายใต้แบรนด์อเวนิวอย่างต่อเนื่องไปตลอด 3 ปีนับจากนี้
ล่าสุด ได้มีการยกระดับโครงการตลาดนัดตะวันนาบางกะปิและเปลี่ยนแบรนด์ให้กลายเป็น ‘ตะวันนา มาร์เก็ต’ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นตลาดชุมชนที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง สร้างมาตรฐานการบริการใหม่ และเป็นตลาดชุมชนที่มีแบรนด์หลักชั้นนำเช่นเดียวกับในศูนย์การค้าหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ต, แฟชั่นเสื้อผ้ารายใหญ่, โรงภาพยนตร์, มีศูนย์ซ่อมขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยบริษัทฯ จะดำเนินการพัฒนาโครงการตะวันนา มาร์เก็ตพร้อมกัน 3 ทำเล ประกอบด้วย ย่านบางพลี บนที่ดิน 50 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 600ล้านบาท, ย่านพระราม 2 บนที่ดิน 35 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท และย่านฝั่งธน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนที่ดิน 10 ไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000ล้านบาท
ในส่วนของโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เจริญกรุงนั้น วางแผนพัฒนาโครงการส่วนต่อขยายทั้งในส่วนของโรงแรมบนเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ และส่วนต่อขยายของศูนย์การค้าบนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ โดยจะใช้งบประมาณในการพัฒนาทั้ง 2 ส่วนประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2563 ด้านการขยายโครงการไปยังต่างจังหวัดนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผน ออกแบบ และพัฒนาโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เชียงใหม่และโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ พัทยา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้านับจากนี้ โดยจะใช้งบในการพัฒนาประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อโครงการ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยซึ่งมีสัดส่วน 80% และที่เหลืออีก 20% คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ภายในจังหวัดนั้นๆ
ในโอกาสฉลองครบรอบ 5 ปีของโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เจริญกรุง บริษัทฯ จึงได้ทุ่มงบประมาณกว่า 150 ล้านเพื่อเนรมิตไฮไลท์การท่องเที่ยวริมน้ำแห่งใหม่ ที่กำลังจะกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ล่าสุดของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ต้นปี 2561เป็นต้นไป
ด้านการพัฒนาศูนย์การค้าภายใต้แบรนด์ ‘เกตเวย์’ นั้น ในปี2561 จะทำการเปิดตัวศูนย์การค้าเกตเวย์ บางซื่อมูลค่า 2,500 ล้านบาทอย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์หลักชั้นนำดำเนินการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่หมดแล้วโดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 40% จากพื้นที่โดยรวม 40,000 ตารางเมตร และกำลังอยู่ระหว่างการขายพื้นที่ให้แก่ผู้เช่ารายย่อยซึ่งคาดว่าจะสามารถปล่อยเช่าได้หมดภายในกลางปี 2561 นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการเปิดตัวศูนย์การค้าเกตเวย์ในย่านฝั่งธนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งภายใต้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ปล่อยเช่ากว่า 33,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนในย่านดังกล่าวที่มีภาพรวมความต้องการในแบบ one stop serviceใกล้เคียงกับย่านเอกมัยและบางซื่อ
ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ปัจจุบันมีจำนวนทราฟฟิคเพิ่มสูงถึง 60,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100% จากช่วงก่อนปรับโฉม สืบเนื่องจากการปรับพื้นที่ทั้งภายในและบริเวณรอบอาคารศูนย์การค้าฯ ให้เป็นทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพสูงกลางสยามสแควร์ เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางกระแสตอบรับจากแบรนด์ชั้นนำที่หมุนเวียนเข้ามาใช้พื้นที่จัดกิจกรรมจำนวนมาก
สำหรับศูนย์การค้าพันธุทิพย์ เน้นการต่อยอดความแข็งแกร่งใน 3 มิติ ประกอบด้วย ด้านเกมมิ่ง, ด้านโซลูชัน และด้านไลฟ์สไตล์ไอที โดยได้ดำเนินการปรับโฉมพร้อมเปิดตัวไปแล้ว 2 สาขาคือ ประตูน้ำและเชียงใหม่ ส่วนสาขางามวงศ์วานและบางกะปิอยู่ระหว่างการปรับโฉมและกำลังจะนำเกมมิ่งเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เนื่องจากในย่านดังกล่าวไม่มีศูนย์การค้าที่สามารถเติมเต็มในด้านดังกล่าวเลย
ทั้งหมดคือ การเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มศูนย์การค้า segmentation marketing ของกลุ่มทีซีซีแลนด์ สไตล์ ราชาที่ดินผู้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี”